เผยแพร่ |
---|
“โรคซึมเศร้า” หนึ่งในอาการป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันเวลาก็อาจทำให้อาการป่วยหนักกว่าเดิมได้ หากใครที่กังวลว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ก็มาทำความรู้จักกับโรคนี้พร้อมแนวทางในการป้องกันที่ด้านล่างนี้เลย
ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) คือ หนึ่งในโรคทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายของสารสื่อประสาทในสมอง 3 ชนิด ได้แก่ นอร์เอปิเนฟริน ซีโรโตนินและโดปามีน โรคซึมเศร้าจึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายอย่างการนอนหลับ การเบื่ออาหาร และทางด้านจิตใจที่ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน มีความรู้สึกวิตกกังวล ตลอดจนมีอาการซึมเศร้ามากกว่าคนปกติ
โรคซึมเศร้ามีกี่ระดับ? โดยทั่วไปโรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเล็กน้อย ระดับปานกลาง และระดับรุนแรง โดยจิตแพทย์จะทำการพิจารณาระดับของอาการป่วยจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ความรุนแรงของอาการ, ระยะเวลาป่วย, ภาวะทางอารมณ์ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคซึมเศร้า มีอะไรบ้าง?
อาการซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศและทุกวัย บางรายอาจมีอาการป่วยตั้งแต่ช่วงวัยเด็กเลยทีเดียว ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้ามีด้วยกันดังนี้
- มีประวัติป่วยเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคแพนิค โรคไบโพลาร์
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเจ็บป่วยจากโรคซึมเศร้า หรือมีประวัติติดสุราเรื้อรัง
- เป็นโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคสมอง
- การทานยานอนหลับเป็นประจำ
- พบเจอเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจอย่างรุนแรง เช่น สูญเสียคนในครอบครัว ถูกทำร้ายร่างกาย
- มีลักษณะนิสัยชอบตำหนิหรือดูถูกตนเอง มองโลกในแง่ร้าย
โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร?
ความรุนแรงของอาการจากโรคซึมเศร้าย่อมส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน ดังนั้น จิตแพทย์จึงจำเป็นต้องแบ่งระดับอาการเพื่อหาวิธีรักษาโรคซึมเศร้าที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล ซึ่งมีอาการของโรคซึมเศร้าที่พบเจอบ่อย ๆ มีดังนี้
- มีอาการหงุดหงิด กระวนกระวายใจตลอดเวลา
- เบื่ออาหารหรือรับประทานมากขึ้นผิดปกติ
- รู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรง อ่อนเพลียบ่อย
- นอนหลับไม่สนิท
- ไม่สนใจหรือรู้สึกอยากทำสิ่งที่เคยชื่นชอบ
- รู้สึกวิตกกังวล เศร้าเป็นเวลานาน
- คิดเรื่องฆ่าตัวตาย ด้อยค่าตัวเอง
- สมาธิสั้น คิดและตัดสินใจได้ช้าลง
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
นอกจากการทำงานผิดปกติของสารสื่อประสาท หรือสารเคมีในสมองที่ทำให้มีอาการซึมเศร้าแล้ว โรคซึมเศร้ายังมีสาเหตุจากพันธุกรรมในครอบครัวได้ ความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้จะสูงขึ้น หากพบว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน อีกทั้งความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกายเองก็มีผลทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนและกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้
นอกจากนี้ โรคซึมเศร้าอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันจากที่ทำงาน โรงเรียน หรือครอบครัว ความสัมพันธ์จากคนรอบข้าง ตลอดจนการอบรมเลี้ยงดูของคนในครอบครัว
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายไหม?
โรคซึมเศร้ารักษาหายไหม? ปัจจุบันการรักษาซึมเศร้ามีหลากหลายวิธีที่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติ หรือบรรเทาอาการให้ลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับจิตแพทย์ เหมาะสำหรับผู้มีอาการไม่รุนแรงควบคู่กับการรับประทานยาเพื่อปรับสารเคมีในสมอง หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT) เป็นการกระตุ้นสมองผ่านกระแสไฟฟ้า เพื่อรักษาอาการจากโรคซึมเศร้าและอาการทางจิตเวช
เมื่อเป็นโรคซึมเศร้าควรรับมืออย่างไร?
หากพบเจอผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าจากคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัว สิ่งที่คนทั่วไปสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ก็คือ การเรียนรู้ว่าโรคนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการและพฤติกรรมแบบใด เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกและสร้างความสบายใจให้กับผู้ป่วย ผ่านการสนับสนุนเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังเรื่องราวด้วยความตั้งใจ, สร้างความไว้วางใจ, พูดให้กำลังใจ หรือชวนทำกิจกรรมใหม่ ๆ ให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
ทั้งนี้ หากต้องการพูดให้กำลังใจผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงคำพูดบางคำที่อาจไม่เหมาะสม หรือสร้างความกดดันให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแทน เช่น สู้สู้, อย่าคิดมาก, ไม่เป็นไร เป็นต้น เพราะคำพูดดังกล่าวอาจไปกระตุ้นเหตุการณ์จนทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้ามากกว่าเดิม
การป้องกันโรคซึมเศร้า
สำหรับใครที่กำลังเริ่มมีอาการเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าอย่างการวิตกกังวล กดดันตัวเอง หรือเกิดความเครียดเป็นระลอก ควรเริ่มรักษาอาการซึมเศร้าด้วยการพูดคุยกับคนที่คุณไว้วางใจเกี่ยวกับเรื่องที่ทำให้รู้สึกเศร้าและกดดัน เพื่อเป็นการแบ่งเบาเรื่องราวที่คุณกำลังพบเจออยู่คนเดียว หากรู้สึกเครียดมากเกินไปให้ลองหันมาทำกิจกรรมเบา ๆ ที่ช่วยสร้างความผ่อนคลายและความสุข เช่น การออกกำลังกาย การทำอาหาร หรือฟังเพลง
การฝึกทักษะการแก้ปัญหาและทักษะการสื่อสารถือเป็นอีกหนึ่งวิธีป้องกันการเป็นโรคซึมเศร้าที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยในเรื่องการตัดสินใจและการปรับตัวในสังคมแล้ว ยังช่วยควบคุมสติกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีเช่นกัน
สรุปเรื่องโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่สามารถพบเจอได้ในทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยปกติแล้วโรคนี้เกิดจากการทำงานผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง หรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำที่กระทบต่อความรู้สึกอย่างรุนแรง
ปัจจุบันโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคน่าอาย เป็นเพียงอาการป่วยรูปแบบหนึ่งที่ควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หากสังเกตตัวเองแล้วพบว่าเริ่มมีอาการซึมเศร้า ควรเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับคุณที่สุด ดาวน์โหลด BeDee คลิก https://bit.ly/4btcZSY