จีนไม่ขำ “วันโกหก” อ้างขัดต่อวัฒนธรรมดีงามของชาวจีน แต่ชาวเน็ตชี้ทุกวันในจีนคือ “วันโกหก”

เจ้าหน้าที่จีนขณะประจำการหน้าจัตุรัสเทียนอันเหมิน AFP Photo/Greg Baker

วันที่ 1 เมษายน เป็นวัน April Fools หรือวันโกหก บ้างก็เรียกว่าวันเมษาหน้าโง่ ที่ชาวตะวันตกมักแกล้งกันด้วยการออกมาโกหกใส่กัน ซึ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายไปยังวัฒนธรรมอื่นๆ รวมถึงสังคมจีนยุคใหม่ ทำให้สื่อทางการจีนอย่างซินหัวออกมาแสดงความกังวล (เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2559) โดยอ้างว่าประเพณีดังกล่าว “ไม่จีน”

สื่อจีนได้ประกาศทาง Weibo สื่อโซเชียลของจีนซึ่งมีลักษณะร่วมของทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กว่า “วันนี้ (1 เมษายน พ.ศ.2559) เป็นวันที่ตะวันตกเรียกว่าวันเมษาหน้าโง่เทศกาลนี้มิได้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีของชาติ และไม่สอดคล้องกับค่านิยมหลักของระบบสังคมนิยม”

“อย่าเชื่อในข่าวลือ อย่าสร้างข่าวลือ และอย่าเผยแพร่ข่าวลือ” ซินหัวกล่าว ก่อนจบประโยคด้วยอีโมติคอนหน้ายิ้ม พร้อมกับภาพประกอบของโทรศัพท์สองเครื่องที่กำลังเผยแพร่ข่าวลือ โดยมีนิ้วชี้ไปที่โทรศัพท์ดังกล่าวพร้อมคำบรรยายว่า “ขัดต่อกฎหมาย” ทั้งนี้จากรายงานของเอเอฟพี

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีน (เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2559) กลับมองว่าคำเตือนดังกล่าวเป็นเรื่องตลก โดยพยายามสื่อว่าในประเทศจีน ทุกๆ วันคือวันเมษาหน้าโง่อยู่แล้ว

“คุณนั้นแหละที่โกหกได้ทุกวัน ใช้นโยบายของรัฐ ข้อมูลต่างๆ เพื่อลวงประชาชนในทุกๆ ทาง อะไรขึ้น อะไรลง อะไรผิด อะไรถูก เรารู้ทันพวกคุณนะ” ผู้ใช้ Weibo รายหนึ่งกล่าว บ้างก็โพสต์ข้อความล้อไปกับความเห็นของ The Onion หนังสือพิมพ์ล้อเลียนของอเมริกันว่า “ข่าวเมษาหน้าโง่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือ ซินหัวประกาศอย่างจริงจังว่า อย่าเชื่อในข่าวลือ”

เอเอฟพีระบุว่า โพสต์ของซินหัวใน Weibo (เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2559) มีผู้เข้ามาตอบราว 36 ครั้ง แต่ทั้งหมดไม่สามารถอ่านได้แล้ว เนื่องจากถูกบล็อค


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 เมษายน พ.ศ.2559