เผยแพร่ |
---|
ระหว่างวันที่ 7 พฤษภาคม ถึง 4 กันยายนนี้ สถาบันวิจัยเก็ตตี (The Getty Research Institute) ได้จัดนิทรรศการชุด “วิหารถ้ำแห่งตุนหวง พุทธศิลป์บนเส้นทางสายแพรไหมของจีน” ซึ่งมีทั้งการจำลองงานเขียนฝาผนังถ้ำอันโด่งดังของจีน การแสดงโบราณวัตถุที่ผู้สำรวจชาวตะวันตกนำออกมาจากถ้ำเหล่านี้ รวมถึงการแสดงงานในรูปแบบมัลติมีเดียสามมิติ
ตุนหวงเป็นเมืองโอเอซิสบนขอบตะวันตกของทะเลทรายโกบี เมืองแห่งนี้มีวิหารถ้ำนับร้อยๆแห่ง ผาจำนวนมากถูกแกะสลักเป็นพระพุทธรูปตกแต่งด้วยภาพเขียนและรูปปั้นจำนวนมาก ถ้ำเหล่านี้ยังเป็นที่รู้จักในชื่อถ้ำ “โมเกา” (Mogao ตรงกับคำว่า peerless ในภาษาอังกฤษ หรือ ไร้เทียมทานในภาษาไทย)
นับแต่ศตวรรษที่ 4 ถึงศตวรรษที่ 14 ตุนหวงเป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นทางศาสนา การค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมบนเส้นทางการค้าที่เชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตกซึ่งรู้จักกันในชื่อเส้นทางสายแพรไหม
เอกสารและโบราณวัตถุที่ถูกพบในถ้ำห้องสมุด (Library Cave) อันโด่งดัง รวมถึงงานเขียนและรูปปั้นที่ถูกพบในถ้ำอีกกว่า 500 แห่งต่างเน้นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา พร้อมกับบอกเรื่องราวของพ่อค้า นักบวช และนักปกครองที่ใช้ชีวิตในภูมิภาคนี้
สำหรับนิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์เก็ตตีเซ็นเตอร์ในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากงานจำลองภาพเขียนในถ้ำแล้ว ในนิทรรศการยังนำ “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” (Diamond Sutra) พระสูตรของฝ่ายมหายานที่ตีพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 868 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดมาจัดแสดงด้วย
“อย่างที่รู้กัน ในตะวันตกเราคิดว่ากูเทนแบร์ก (Johannes Gutenberg มีชีวิตในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ถึงปลายศตวรรษที่ 15) คือผู้ที่คิดค้นการพิมพ์ขึ้น แต่เราควรจะรู้ด้วยว่าในปี 868 หนังสือที่มีการตีพิมพ์โดยสมบูรณ์มีขึ้นแล้วในจีนด้วยแม่พิมพ์ไม้ และนั้นก็คือ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” มาร์เซีย รีด (Marcia Reed) หัวหน้าภัณฑารักษ์ของสถาบันวิจัยเก็ตตีกล่าว
เมืองตุนหวงถูกทิ้งร้างไปในช่วงศตวรรษที่ 15 หลังเส้นทางการค้าถูกเปลี่ยนไปใช้การเดินเรือแทน จนกระทั่งราวปี 1900 ที่นักสำรวจชาวตะวันตกได้เดินทางไปพบเมืองโบราณแห่งนี้อีกครั้ง ก่อนขนโบราณวัตถุกว่า 4 หมื่นชิ้นออกจากถ้ำห้องสมุด หลังจ่ายเงินเพียงหยิบมือให้กับพระที่ยังคงหลงเหลืออยู่ โบราณวัตถุเหล่านี้รวมถึงโบราณวัตถุที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการแห่งนี้ ซึ่งยืมต่อมาจากพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดหลายแห่งทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งนี้จากคำกล่าวของ ทิม วาเลน (Tim Whalen) ผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์แห่งเก็ตตี (Getty Conservation Institute) ตามรายงานของเอพี