เผยแพร่ |
---|
หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดมีความสำคัญใน 2 สถาน
ประการแรก เป็นหนังสือเล่มแรกที่ประมวลรวมข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์สายนอกราชสำนัก หรือประวัติศาสตร์บอกเล่า ครอบคลุมเหตุการณ์ คติความเชื่อ ธรรมเนียมปฏิบัติ ตำราและการพระราชพิธีไว้เป็นจำนวนมาก การปรากฏตัวของหนังสือโดยเฉพาะการได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สายตาสาธารณชนใน พ.ศ. 2426 ได้มีส่วนสำคัญในการเปิดโลกทรรศน์ทางประวัติศาสตร์ เท่าๆ กับที่มีส่วนจุดประกายให้เกิดการศึกษาค้นคว้าหลักฐานสมัยอยุธยาเพิ่มเติมตลอดจนการรังสรรค์งานค้นคว้าใหม่ๆ และการนำหลักฐานที่เป็นสมบัติราชการออกตีพิมพ์เผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้
ประการที่ 2 คือประวัติอันเป็น “ความยอกย้อน” ของตัวหลักฐานเอง สะท้อนให้เห็น “ก้าวย่าง” อันเป็นพัฒนาการทางภูมิปัญญาในช่วงสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ คือในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิติตามกล่าวนี้จำเป็นต้องศึกษาผ่านงานพิมพ์ที่ปรากฏต่างกรรมต่างวาระ และต่างชื่อ ประกอบกับอรรถาธิบายและข้อวิจารณ์ที่กระจัดกระจายอยู่ในหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในบทนำของหนังสือที่พิมพ์ต่างยุคต่างสมัยและในงานพระราชนิพนธ์ และพระนิพนธ์ต่างๆ
ส่งผลให้เรื่องราวของ “เส้นทางการเดินทาง” ของขุนหลวงหาวัดมีสีสัน น่าสนใจชวนติดตามไม่ต่างจากเรื่องราวพิสดารที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาคำให้การเลยทีเดียว
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “ย้อนรอยคำให้การคนกรุงเก่า : ฟื้น สร้าง ลิขิตอดีตอยุธยา” คณะอนุกรรมการพิจารณาและเรียบเรียงประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา ในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ และนำมาพิมพ์อีกครั้งใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับ เมษายน 2560)