“พินิจ จารุสมบัติ” ตัวแทนรับมอบหนังสือ 1 ล้านบาท หนุน “ชุมชนอุดมปัญญา” ส่งเสริมการอ่าน

เครือมติชน พันธมิตร ร่วมงาน ชุมชนอุดมปัญญา ที่ สำนักงานมติชน
เครือมติชนและพันธมิตร ร่วมงาน "ชุมชนอุดมปัญญา" เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566

เพราะหนังสือคือความรู้ เสริมสร้างปัญญา ต่อยอดจินตนาการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ “เครือมติชน” จึงต่อยอดโครงการ “ชุมชนอุดมปัญญา” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงจากปีที่แล้ว ดำเนินการต่อเนื่องมายังปี 2566 ด้วยมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทย ซึ่งอยู่ห่างไกลจากแหล่งการอ่านได้ใกล้ชิด และเข้าถึงหนังสือมากขึ้น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี 2566 ที่อาคารสำนักงานเครือมติชน ผู้บริหารเครือมติชน นำโดย คุณวรศักดิ์ ประยูรศุข รองประธาน คุณชลิต กิติญาณทรัพย์ ประธานที่ปรึกษา บริษัทงานดี จำกัด คุณนฤตย์ เสกธีระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท งานดี จำกัด ฯลฯ ให้การต้อนรับ คุณพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานรับมอบหนังสือ และนิตยสาร ในโครงการชุมชนอุดมปัญญา มูลค่า 1 ล้านบาท 

รวมทั้งให้การต้อนรับพันธมิตรร่วมโครงการ “ชุมชนอุดมปัญญา” อาทิ คุณธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการพัฒนาชุมชนบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณชวรัตน์ พงศ์สถาพร รองกรรมการผู้จัดการฝ่าย Commercial บริษัท  ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด คุณธานินทร์ ริ้วธงชัย รองเลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย คุณกัณฑ์พร กรรณสูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายความยั่งยืนองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) เป็นต้น 

กรรมการผู้จัดการ งานดี กล่าวถึงรายละเอียดโครงการ “ชุมชนอุดมปัญญา” ว่า เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดของ คุณปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ เครือมติชน ที่เล็งเห็นความสำคัญของหนังสือ และนิตยสาร ซึ่งเป็นคลังความรู้ชั้นดีที่สามารถต่อยอดความคิดหรือจุดประกายสิ่งต่าง ๆ ให้คนในสังคมได้ ประกอบกับเครือมติชนมุ่งมั่นตั้งใจมอบสาระความรู้ให้สังคมไทยมาอย่างยาวนาน จึงตั้งใจจัดโครงการนี้เพื่อเป็นการมอบคลังความรู้แก่ชุมชนห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงการอ่านได้อย่างสะดวก 

“โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2565 และดำเนินการมาเรื่อย ๆ ครั้งที่แล้วได้ส่งมอบหนังสือไปที่ กศน. เพราะพบว่า กศน. มีที่อ่านหนังสือ แต่ไม่มีหนังสือ เครือมติชนจึงสนับสนุนด้วยการมอบหนังสือไปให้ ปีนี้ผ่านวันเกิดมติชน วันที่ 9 มกราคม เราได้ดำเนินการโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง มีผู้สนับสนุนจำนวนมาก เช่น ไทยเบฟ ซี.เจ. ฯลฯ ที่เห็นความสำคัญของการอ่าน 

เครือมติชนจึงมอบหนังสือ และนิตยสาร ที่ทันสมัยแก่ชุมชนต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นชุมชน โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่น ๆ แห่งละ 100,000 บาท จำนวน 10 แห่ง รวมมูลค่า 1 ล้านบาท โดยมีคุณพินิจ จารุสมบัติ เป็นประธานรับมอบ”

เครือมติชนพร้อมพันธมิตร ร่วมงานชุมชนอุดมปัญญา

คุณพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการ “ชุมชนอุดมปัญญา” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ว่า

หนังสือถือได้ว่าเป็นคลังสมอง หรืออาหารสมองที่สำคัญ ขณะเดียวกันชุมชนต่าง ๆ ยังขาดแคลนหนังสือเหล่านี้เป็นอันมาก อย่างเช่น จังหวัดบึงกาฬ ทั้งครู นักศึกษา รวมถึงชุมชนต้องการหนังสือมาค้นคว้า หาความรู้ จากตรงนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนคนทั่วไปยังมีความต้องการเกี่ยวกับหนังสืออยู่มาก 

“หนังสือเป็นสิ่งที่จุดประกายความคิดบางอย่างให้แก่ผู้คน โดยเฉพาะหนังสือเครือมติชน ที่มีเนื้อหาสาระที่มีคุณประโยชน์ ทั้งยังครบครันทุกเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเกษตร ด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ด้านความมั่นคง การเมือง รัฐศาสตร์ต่าง ๆ ผมมองว่าการมอบหนังสือเป็นกุศลอย่างหนึ่ง และคิดว่า มติชนได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ ให้กับสังคม ให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษาเป็นอย่างมาก”

คุณชวรัตน์ พงศ์สถาพร รองกรรมการผู้จัดการฝ่าย Commercial บริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมี “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” เข้าร่วมในโครงการ “BAO BOOK” (บาวบุ๊ค)  อีกหนึ่งโครงการส่งเสริมการอ่านระหว่าง คาราบาว กรุ๊ป กับเครือมติชน เพื่อสร้างรากฐานการอ่านให้กับสังคม ก็เผยว่า 

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซี.เจ. ได้ทำงานร่วมกับเครือมติชน ในการเปิดแผง “บาวบุ๊ค” ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 201 สาขาทั่วประเทศไทย เพื่อให้ลูกค้าหรือคนไทยเข้าถึงหนังสือได้ง่ายกว่าปกติ เป้าหมายหลักของโครงการคือต้องการให้คนทั่วไปได้อ่านหนังสือมากขึ้น และต้องการเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงหนังสือดีมีคุณภาพได้ง่ายขึ้น 

“จากที่เราสังเกต ในช่วงโควิดหรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ แผงหนังสือลดน้อยถอยลงขึ้นทุกวัน การที่คนไทยจะหาหนังสือดี ๆ มาอ่านได้สักหนึ่งเล่มเป็นเรื่องที่สาหัสสากรรจ์มาก ด้วยความที่เราเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ลูกค้าต้องมาจับจ่ายใช้สอยหรือซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค นอกเหนือจากการส่งมอบสินค้าด้วยราคาที่จับต้องได้แล้วนั้น ก็อยากจะให้ลูกค้าได้รับคุณภาพทางการอ่านที่ดีขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นทำให้หนังสือเข้าถึงผู้คนก็เป็นเป้าหมายที่สำคัญมากกว่าขายสินค้าเพียงอย่างเดียว” คุณชวรัตน์กล่าว

เมื่อมีปณิธานแรงกล้าเกี่ยวกับการอ่านของสังคมไทยแล้วนั้น จึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนโครงการชุมชนอุดมปัญญาต่อทันที

“เรามีแผนกระจายหนังสือที่ได้รับมอบในโครงการชุมชนอุดมปัญญาไปแจกในพื้นที่ที่มีความต้องการ เช่น โรงเรียนต่าง ๆ หรือแม้แต่ กศน. เอง เพื่อให้นักศึกษาหรือคนที่สนใจจะอ่านหนังสือได้เข้าถึงหนังสือได้มากยิ่งขึ้น เน้นไปที่พื้นที่ซึ่งค่อนข้างห่างไกล อาจเข้าถึงหนังสือได้ไม่สะดวก อย่างตอนนี้ก็มีแผนว่าจะไปแจกที่จังหวัดชัยภูมิ” 

พันธมิตรของโครงการชุมชนอุดมปัญญาทุกราย ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “หนังสือ” เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างเสริมความแข็งแรงของสังคมไทยได้ และควรกระจายความรู้ไปสู่สังคมให้มากที่สุด เช่นที่ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 

“มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่ใช่ควรทำ ถ้าเรามีกำลัง มีความเข้มแข็งทางการเงิน ทางการบริหารต่าง ๆ เราต้องเอาหนังสือไปถึงผู้คน โดยเฉพาะในชนบทให้มากที่สุด เขาจะได้มีโอกาสรับความรู้” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2566