เผยแพร่ |
---|
ช่วงพักเที่ยง คือเวลาที่เด็กๆ ชั้นอนุบาล 2 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดมณีโชติ (เทียมประชานุเคราะห์) ต. คลองข่อย อ. โพธาราม จ. ราชบุรี จะได้เล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆ บ้างวิ่งเล่นกันที่สนามฟุตบอล บ้างเล่นเครื่องเล่นอยู่อีกมุมหนึ่ง หรือบางคนอาจเข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ ก่อนเสียงกระดิ่งจะดังขึ้นเป็นสัญญาณให้ทุกคนกลับเข้าห้องเรียนในเวลา 12.30 น.
แม้มีเวลาพักผ่อน แต่ความที่ต้องแบ่งมื้อเที่ยงออกเป็น 3 รอบ เพราะพื้นที่โรงอาหารมีจำกัด ประกอบกับต้องเว้นระยะห่างระหว่างกันตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ต้องรีบรับประทานอาหาร เพื่อให้พี่ๆ ชั้นอื่นได้มาใช้พื้นที่
“รอบแรกเป็นน้องอนุบาลตอน 11 โมง รอบที่สองเป็นเด็ก ป.1-3 ตอน 11 โมง 15 นาที และ ป.4-ม.3 ตอน 11 โมงครึ่ง พอพื้นที่มีจำกัดแล้วต้องเว้นระยะห่าง ก็ยิ่งจำกัดเข้าไปใหญ่ ถึงจะขยายออกมาด้านนอกก็ยังไม่พอ
“อีกอย่างคือ โต๊ะเก้าอี้ที่นี่เราทำเอง เอาของเก่ามาทำ อย่างเอาบานหน้าต่างเก่ามาทำเป็นโต๊ะ หรือเอาเหล็กมาทำเป็นโครงเก้าอี้ หลังกินข้าวแล้วเด็กๆ ต้องช่วยกันทำความสะอาด ยกเก้าอี้ขึ้นวางบนโต๊ะ ต้องออกแรงยกเก้าอี้ที่มีน้ำหนักมาก ไม่สะดวกในการเคลื่อนย้าย” สายพิน แก้วงามประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมณีโชติฯ เล่าให้เห็นภาพ
แล้วบอกถึงรายละเอียดของโรงเรียนว่า ก่อตั้งในปี 2466 โดยอาคารเรียน 2 หลัง ที่อยู่ติดโรงอาหาร พระอาจารย์เทียม (พระครูประโชติธรรมาภิรัต) แห่งวัดมณีโชติ เป็นผู้ระดมทุนรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา เพราะฉะนั้นอาคารทั้ง 2 หลัง ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อราว 30 ปีก่อน จึงมาจากเงินประชาชนทั้งหมด
ส่วนนักเรียนโรงเรียนวัดมณีโชติฯ ตอนนี้มี 98 คน นอกจากลูกหลานชาวบ้านในพื้นที่ ต. คลองข่อย ที่มาเรียนแล้ว จำนวนนี้ 30-40 คน คือลูกหลานแรงงานชาวพม่า ที่ทำงานในโรงงานที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ โรงเรียน ซึ่งโรงงานก็สนับสนุนให้ลูกหลานคนงานได้รับการศึกษา เพราะไม่ว่าจะเชื้อชาติหรือสัญชาติใด เด็กๆ ทุกคนย่อมมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาทั้งนั้น
“น้องๆ ชาวพม่าอยู่กันเกือบทุกชั้น โดยเฉพาะชั้นอนุบาลจะเยอะหน่อย บางคนพูดไทยไม่ได้ บางคนพูดได้นิดหน่อย เพื่อนคนไหนที่พอจะช่วยสื่อสารได้ก็ช่วยเป็นล่ามให้เพื่อน” สายพินบอก
เมื่อโรงเรียนต้องการแรงสนับสนุน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ เครือมติชน นำโดย ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษามาโดยตลอด เพราะเป็นหนทางสร้างสังคมเข้มแข็ง จึงร่วมเติมเต็มอนาคตการศึกษาให้เด็กๆ เดินหน้าโครงการปรับปรุงโรงอาหารโรงเรียนวัดมณีโชติฯ
ส่งทีมลงสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด ตรวจสอบ วิเคราะห์ และวางแผนปรับปรุงโรงอาหาร จัดพื้นที่ใช้สอยในโรงอาหารให้มีมากขึ้น โดยเน้นความคล่องตัวของผู้ใช้งานทุกคน ทั้ง แม่ครัว ครู และเด็กๆ จัดซื้อโต๊ะและเก้าอี้สำหรับรับประทานอาหาร เลือกที่แข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย ทำความสะอาดได้ง่าย รวมทั้งเพิ่มชั้นวางอุปกรณ์ทำครัว ให้สะดวกต่อการหยิบจับใช้งาน เป็นต้น
หลังจากจัดสรรพื้นที่และเสริมโต๊ะเก้าอี้เข้าไปแล้ว โรงอาหารก็สามารถรองรับนักเรียนได้เยอะขึ้น ลดรอบการรับประทานอาหารมื้อเที่ยงให้เหลือเพียง 2 รอบ ช่วยให้เด็กๆ อิ่มท้อง เติมพลัง มีเวลาไปทำกิจกรรมเสริมทักษะช่วงพักเที่ยงได้หลากหลายตามความสนใจมากขึ้น
“ที่ต้องแบ่งเป็นรอบๆ เพราะมีเด็กเยอะ ที่นั่งไม่พอ ถ้าน้องๆ มาก่อนแล้วยังกินไม่เสร็จ ก็ต้องให้เวลาน้องๆ กินให้เรียบร้อย พี่ๆ ต้องรอก่อน พอมีโต๊ะกับเก้าอี้ใหม่เข้ามาก็ดีใจ เพราะเราได้ของดีๆ มาใช้ และมีที่นั่งกินมากขึ้น จาก 3 รอบก็ลดเหลือ 2 รอบ ทุกคนต้องดีใจแน่นอน” รุจิลดา โพธิ์วันชนะ นักเรียนชั้น ม.2 บอกอย่างมีความสุข
กรรมการผู้จัดการ เครือมติชน ยังให้ความสำคัญกับการอ่านและการส่งมอบความรู้ผ่านหนังสือ เป็นการจุดประกายความคิดและเพิ่มพูนปัญญาของทุกคนทุกวัย
สะท้อนจากโครงการล่าสุดของเครือมติชนในปีนี้ คือ โครงการ ‘ชุมชนอุดมปัญญา’ มอบนิตยสารในเครือมติชน 3 ฉบับ ได้แก่ ศิลปวัฒนธรรม มติชนสุดสัปดาห์ และเทคโนโลยีชาวบ้าน และพ็อกเก็ตบุ๊กของสำนักพิมพ์มติชน ที่ครอบคลุม 4 หมวด คือ หนังสือทั่วไป ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และหนังสือแนวสร้างแรงบันดาลใจ แก่สถานศึกษา ห้องสมุดท้องถิ่น และเรือนจำ ทั่วประเทศ
สำหรับน้องๆ โรงเรียนวัดมณีโชติฯ ที่ยังอยู่ในวัยเรียน ปานบัวได้มอบหนังสือในโครงการชุมชนอุดมปัญญาให้ด้วยเช่นกัน และเพื่อให้เหมาะกับวัยของทุกคน จึงได้จัดหนังสือในหมวดเยาวชน ที่ช่วยฝึกฝนทักษะคณิตศาสตร์ หนังสือภาษาไทย หนังสือภาษาอังกฤษ หนังสือระบายสี นิทานต่างๆ ฯลฯ ให้นักเรียนทุกชั้นได้ดูและได้อ่านกันอย่างเพลิดเพลิน ควบคู่กับการได้สาระความรู้แบบย่อยง่าย ช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปด้วยในตัว
“ต้องขอบคุณเครือมติชนมากๆ ที่สนับสนุนโรงเรียนมาตลอด ทั้งการส่งเสริมสิ่งที่โรงเรียนขาดแคลน อย่างการปรับปรุงโรงอาหาร วันนี้เด็กๆ ไม่ต้องรีบกินรีบลุกอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้ก็ได้ช่วยส่งเสริมการอ่านมาตลอดอีกเช่นกัน ก่อนหน้านี้ก็ส่งนิตยสารต่างๆ มาให้อ่านทุกฉบับ ต่อเนื่องมาถึงโครงการชุมชนอุดมปัญญา ก็ยังนึกถึงโรงเรียนวัดมณีโชติฯ” สายพินบอกเล่าความประทับใจ
เพราะการส่งเสริมการศึกษา ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียน แต่หมายรวมถึงองค์ประกอบรอบด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ให้ดีขึ้นนั่นเอง