โหราศาสตร์ในพระราชพงศาวดาร (3)

ภาพประกอบเนื้อหา - พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เกาะคา จ.ลำปาง กับฉากหลัง (ขวา) ภาพจิตรกรรมสมเด็จพระนเรศวรตามจับพญาจีนจันตุ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา จาก ศิลปวัฒนธรรม, 2559 (ซ้าย) “สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

หน้าที่ของโหรที่มีต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชพงศาวดาร คือเป็นผู้ถวายฤกษ์การเคลื่อนทัพ ยังไม่พบที่ตรัสถามโหรว่าจะยกทัพไปตีเมืองนั้น เมืองนี้เมื่อไรจึงจะได้ชัยชนะ พบแต่ทรงเตรียมทัพแล้วให้โหรหาฤกษ์ หรือมีปรากฏการณ์นอกเหนือจากการวินิจฉัยทั่วๆ ไป

เช่น สมเด็จนเรศวรมหราชทรงพระสุบินนิมิตว่าน้ำป่าไหลบ่ามาจากทิศตะวันตก เสด็จลุยชลธีเที่ยวไปพบมหากุมภีล์ตัวใหญ่ ได้สัปประยุทธ์ยุทธนาการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประหารกุมภีล์ตาย ตื่นประทม ขณะนั้นตรัสให้โหรทาย พระโหราธิบดีทูลทำนายว่า ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงจะได้ถึงซึ่งมหายุทธหัตถี แต่ทว่า พระองค์จะทรงมีชัย จะลุยไล่ประหารปัจจามิตรข้าศึกดุจพระสุบินว่าเทียบลุยกระแสน้ำฉะนั้น

Advertisement

ส่วนสมเด็จพระมหาอุปราชยกทัพหลวงถึงกาญจนบุรี เห็นเมืองว่างเปล่าไม่มีคน เข้าพระทัยว่าชาวพระนครรู้การเทครัวอพยพเข้าเมืองสิ้น เสด็จประทับแรม ณ เมืองกาญจนบุรี ให้เที่ยวลาดจับจะถามกิจการก็มิได้ รุ่งขึ้นสมเด็จพระมหาอุปรเสด็จกรีธาทัพหลวงมาโดยมารควิถี ถึงตำบลพนมทวน เพลาชายแล้วสามนาฬิกา บังเกิดวายุเวรัมพวาตพัดหวนหอบธุลีฟุ้งผันเป็นกงจักรกระทบมหาเศวตฉัตรซึ่งกั้นมาหลังพระคชาธารนั้นหักทบลง

พระมหาอุปราชตกพระทัย โหรสำหรับทัพทำนายถวายว่าเหตุนี้ถ้าเกิดก่อนเที่ยงร้าย เกิดตอนบ่ายเป็นศุภนิมิตที่พระองค์จะมีชัยได้พระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระราชบิดาจะเลื่อนพระองค์ขึ้นจากที่เศวตฉัตรมหาอุปราชา เถลิงถวัลยราชย์ราไชศวรรยาในกรุงหงสาวดีเป็นมั่นคง

สมเด็จพระมหาอุปราชาคงจะไม่ทรงเชื่อคำทำนายนี้นัก จึงยาตราทัพโดยรอบคอบ จัดกองลาดตระเวนล่วงหน้าเข้ามาดูว่าไทยตั้งรับตำบลใดบ้าง

การที่ตรัสถามโหรประจำกองทัพถึงผลของการรบจะเป็นอย่างไรนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อพระยาพิชัยกบฏ ยึดเมืองสวรรคโลกเป็นที่มั่น โดยพระยาสวรรคโลกสมรู้ร่วมคิดด้วย แต่ข้าราชการผู้ใหญ่ในเมืองคือ หลวงปลัด ขุนยกกระบัตร และขุนนรนายก ไม่ร่วมมือ พระยาพิชัยกับพระยาสวรรคโลกจึงจับผู้จงรักภักดีทั้งสามขังไว้

เมื่อความทรงทราบถึงสมเด็จพระนเรศวรฯ ผู้เป็นเจ้ายังทรงแคลงพระทัย เพราะทรงพระกรุณาแก่พระยาทั้งสองอยู่ ตรัสให้ข้าหลวงเข้าไปประกาศให้ออกมาถวายบังคมจะทรงพระกรุณามิได้เอาโทษ พระยาทั้งสองมิได้โดยพระราโชวาท ทำอุกอาจตรวจตรารักษาเชิงเทินป้องกันเมือง ยิ่งกว่านั้นยังประหารชีวิตหลวงปลัด ขุนยกกระบัตร และขุนนรนายก โดยตัดศีรษะแล้วขว้างออกมายังข้าหลวง ประกาศความเป็นกบฏอย่างไม่ต้องสงสัยอะไรใดๆ ทั้งสิ้น

สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงพระพิโรธ ตรัสสั่งเข้าตีเมืองที่ประตูสามเกิด ประตูหม้อ และประตูสะพานจัน ทหารเข้าทำการตั้งแต่ค่ำจนเที่ยงคืน และเผาป้อมชั้นนอกประตูสามเกิดแล้วยังเข้ามิได้ มีพระราชโองการตรัสถามโหราจารย์ว่ายังจะได้เมืองสวรรคโลกหรือ โหราจารย์บังคมทูลว่าคงจะได้ แต่ซึ่งจะปล้นข้างประตูสามเกิดนี้เห็นจะได้ด้วยยาก ถ้าปล้นข้างทิศดอนแหลมไซร้เห็นจะได้โดยง่ายเพราะทิศข้างนั้นเป็นอริแก่เมืองสวรรคโลก

จึงมีพระราชโองการตรัสให้พระยาชัยบูรณ ขุนหลวงธรรมไตรโลก ขุนราชรินทร์ ยกพลจากประตูสะพานจันมาตั้งประตูดอนแหลม เตรียมพร้อมที่จะเข้าตีหักเข้าไป ส่วนที่ประตูสามเกิดและประตูหม้อให้ทหารรบพุ่งจนสว่างยังเข้ามิได้ แต่ในที่สุดเมืองสวรรคโลกก็แตก และแตกทางประตูดอนแหลมที่โหรได้ทำนายถวายไว้นั้นเอง

ขณะที่ทหารสมเด็จพระนเรศวรฯ เข้าตีเมืองสวรรคโลกทางประตูหม้อ ประตูสามเกิด และประตูสะพานจัน พระยาทั้งสองและทหารที่สู้รบป้องกันเมืองอยู่นั้น ปัจจัยบำรุงขวัญข้อหนึ่งคือ ตราบเท่าที่ทหารสมเด็จพระนเรศวรฯ ยังเข้าตีด้านประตูทั้ง 3 แห่ง จะไม่มีทางที่ได้สำเร็จ เพราะเป็นชัยภูมิของดวงเมือง ส่วนประตูดอนแหลมอยู่ทิศที่เป็นอริแก่เมืองสวรรคโลกนั้น ถ้าโหรของสมเด็จพระนเรศวรฯ รู้ โหรของพวกกบฏก็ต้องรู้ ดังนั้นตลอดเวลาที่ประตูทั้ง 3 แห่งถูกบุกอย่างหนัก พวกในเมืองสวรรคโลกก็ไม่สะดุ้งสะเทือน ยังมีขวัญและกำลังใจดีเยี่ยม

ครั้นในเมืองสังเกตเห็นว่ามีการเคลื่อนกำลังพลส่วนหนึ่งไปยังประตูทิศดอนแหลม พวกกบฏคงเสียขวัญทันที เป็นที่น่าสังเกตว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ มิได้ยกทหารทั้งหมดไปที่ประตูดอนแหลม เพียงแต่ยกไปบางส่วนเท่านั้น และลงโทษขุนอินทรเดชะซึ่งมีหน้าที่บังคับบัญชาทหารให้บุกทางด้านนั้นด้วย แสดงว่าแม้จะเป็นจุดอ่อนแต่ฝ่ายสวรรคโลกก็ป้องกันอย่างเข้มแข็ง ที่เข้าเมืองทางด้านนั้นสำเร็จเพราะพระยาชัยบูรณบังคมทูลว่าขอทำค่ายประชิด ปลูกหอรบสูงเท่ากำแพงเมือง ตั้งปืนใหญ่ระดมยิงเข้าไป ซึ่งเมื่อทรงเห็นชอบแล้วทหารที่สู้รบป้องกันเมืองอยู่บนเชิงเทินก็ถูกปืนใหญ่ยิงกวาดล้างแตกกระเจิง ทหารสมเด็จพระนเรศวรฯ ก็เข้าเมืองได้ พระยาทั้งสองถูกจับ

คำทำนายของโหราจารย์แห่งกองทัพของสมเด็จพระนเรศวรฯ น่าจะเป็นยุทธวิธีโหรยิ่งกว่าเป็นการทำนายอย่างธรรมดาทั่วๆ ไป

เปิดลงทะเบียนเข้าร่วมฟังเสวนา “ชะตาเมือง – เรื่องดวงดาว” (ผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า มีสิทธิ์ลุ้น รับคำทำนายดวงชะตาส่วนตัว “ฟรี”) วิทยากร : บุศรินทร์ ปัทมาคม และ วสุวัส คำหอมกุล, เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2566 เวลา 13.30-15.00 น. ณ ห้องโถงอาคารมติชนอคาเดมี โปรดสำรองที่นั่งล่วงหน้า ตามลิงค์นี้ https://docs.google.com/…/1WQ6xE0DeELNZriIk…/viewform… หรือ inbox เฟซบุ๊กเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม หรือโทร. 0 2580 0021-40 ต่อ 1206, 1220

การใช้วิชาโหรเป็นปัจจัยบำรุงขวัญ หรือทำลายขวัญในสงครามเป็นสิ่งที่เกิดผลอย่างยิ่งในบางประเทศ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลประกาศเลิกใช้ฤกษ์ ยาม และห้ามทำนายดวงเมือง โดยเรียกการกระทำเช่นนั้นว่า “โอษฐภัย” คือภัยที่เกิดจากปากหรือคำพูด อาจได้แนวคิดมาจากเรื่อง “มะพร้าวห้าวยัดปาก” ก็ได้

ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า

“ครั้นเข้าเดือน 5 ปีชวดสัมฤทธิ ศก พ.ศ. 2131 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสให้บำรุงช้างม้าพลไว้ เดือนสิบสองจะยกไปเมืองเมาะตะมะ เมืองหงสาวดี”

ขณะที่เตรียมการอยู่นั้น เจ้าเมืองพม่าต่างๆ รวมทั้งเจ้าเมืองตองอูได้มีหนังสือมาถึงพระนครศรีอยุธยาว่า จะขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์จะเสด็จไปเองเมืองหงสาวดีเมื่อใด พระยาตองอู พระยาละเคิ่งจะขอโดยเสด็จงานพระราชสงคราม

เรื่องนี้รู้ไปถึงพระมหาเถรเสียมเพรียม เรารู้จักพระมหาเถรคันฉ่องในฐานะที่ท่านเป็นพันธมิตรของกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรรูปนี้ก็เป็นศัตรูที่สำคัญมาก เพราะมหาเถรเสียมเพรียมรู้เรื่องแล้วได้เข้าไปตั้งปุจฉาแก่พระยาตองอูว่า

“มหาบพิตรจะเอามอญไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้างกรุงศรีอยุธยาหรือ”

พระยาตองอูได้ฟังก็ต้องรู้ว่าพระมหาเถรรู้ความลับทางการเมืองและการสงครามครั้งนี้มากพอสมควร จึงถามพระมหาเถรว่าทำไมจึงพูดเช่นนี้ พระมหาเถรเสียมเพรียมก็เปิดเผยความลับ ในหนังสือของพระยาตองอูที่มีไปกรุงศรีอยุธยา

พระยาตองอูจึงชี้แจงถึงพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรฯ พระมหาเถรเสียมเพรียมจึงปลุกใจพระยาตองอูว่า

อันพระนเรศวรสองคนพี่น้องมีศักดานุภาพเข้มแข็งศึกสงครามนั้น อาตมาก็แจ้งอยู่สิ้น ถึงมีชัยแก่ชาวหงสาก็แต่ในแว่นแคว้นพระมหานครศรีอยุธยา จะได้ล่วงเกินมาถึงแดนนี้ก็หามิได้ อาตมภาพพิเคราะห์ดูลักษณะราศีมหาบพิตรเห็นจะได้เป็นใหญ่ในรามัญประเทศอยู่ ไฉนน้ำพระทัยมหาบพิตรกับลักษณะจึงผิดกันนัก อันลักษณะอย่างมหาบพิตรนี้ ในตำราว่าองอาจดุจนิทานพระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกระแต วิดน้ำในพระมหาสมุทรให้แห้ง มิดังนั้นจะมีมานะเหมือนนกน้อยอันบินแข่งพระยาครุฑ ข้ามมหาสาครชเลหลวงอันใหญ่ แลน้ำพระทัยมหาบพิตรมาอ่อนประดุจสตรี กลัวปีศาจหลอกหลอนนั้น ตำราของอาตมภาพนี้ผิดเสียแล้วเห็นจะเอาไว้มิได้จำจะทิ้งน้ำเผาไฟเสีย ว่าแล้วพระมหาเถรทำลาลุกไป

คำปลุกใจของพระมหาเถรเสียมเพรียมจุดไฟในใจของพระยาตองอูให้เกิดความมานะอย่างรุนแรง มิใช่เพราะวาทศิลป์อย่างเดียวแต่ท่านเป็นโหรด้วย ท่านเป็นเสนาธิการสำคัญผู้หนึ่ง พระแบบนี้มิใช่มีอยู่ในพระราชพงศาวดารเท่านั้น

แต่ในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้าง ขุนแผน” ได้แก่ “ท่านสมภารคงวัดแค” ในนวนิยาย “ขุนศึก” ของ “ไม้ เมือง เดิม” คือ “ท่านพระครูขุน” เรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ของ “ยาขอบ” คือ “มังสินธู” ซึ่ง 2 มหาประพันธกรได้วาดไว้ในวรรณกรรมอมตะอย่างสง่างาม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2565