ก่อน ขสมก. กรุงเทพฯ เคยมีรถเมล์ขาว รถเมล์พีระ รถเมล์บุญผ่อง ฯลฯ

(ภาพประกอบจากห้องสมุดภาพมติชน)

คนเรานี้ถ้าไม่ต้องเดินทางไปไหนมาไหน วันๆ เอาแต่นั่งนิ่ง อยู่กับบ้านเห็นจะไม่สิ้นเปลืองและไม่เหนื่อยดีนะครับ แต่ความคิดที่ว่านี้เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครทำได้สักคน ใครเลยจะสามารถนั่งอุดอู้อยู่แต่ในบ้านของตัวเองได้โดยไม่ต้องติดต่อกับโลกภายนอก อย่างไรเสียก็ต้องมีธุระที่ทำให้ต้องออกนอกบ้านด้วยเรื่องโน้นเรื่องนี้บ้างเป็นธรรมดา

กรุงเทพฯ ของเราถ้าเป็นสมัยเมื่อสร้างกรุงใหม่ๆ ก็ใช้เรือพาย เรือแพเป็นพาหนะ นอกจากนั้นก็เดินเท้าไป พอบ้านเมืองเจริญขึ้นมาหน่อยหนึ่งมีรถม้าเกิดขึ้น อย่างที่เราเรียนหนังสือเมื่อตอนเป็นเด็กว่า ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตัดถนนอย่างตะวันตกขึ้นเป็นสายแรก พระราชทานชื่อว่าถนนเจริญกรุง แต่ฝรั่งที่นั่งรถม้าไปรับลมเล่นตอนเย็นๆ พากันเรียกชื่อว่า New Road สืบมาจนทุกวันนี้ ถัดมาไม่นานในตอนปลายรัชกาลที่ 5 รถยนต์หรือมอเตอร์คาร์ (Motor Car) เข้ามาถึงบ้านเราและได้ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

……..

เวลาที่ผ่านไปทำให้รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น คลองถูกถมเพื่อขยายถนนสายเดิมหรือสร้างถนนสายใหม่ เมื่อผมเริ่มจำความได้ การขนส่งสาธารณะสำหรับคนไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเองหรือไม่มีเงินจะนั่งแท็กซี่ มีอยู่ด้วยกัน 2 อย่างคือรถรางหรือรถเมล์

รถราง เกิดขึ้นก่อนในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ให้บริการกับชาวกรุงเทพฯ มาอีกช้านาน แม้แต่ผมเองยังได้เคยนั่งรถรางที่วิ่งให้บริการตามเส้นทางต่างๆ เลยครับ ค่าโดยสารก็ถูกแสนถูก ถ้านั่งรถชั้น 1 มีเบาะรองนั่งเสียหน่อย อัตราค่าโดยสารคนละ 50 สตางค์ แต่ถ้าเป็นรถชั้น 2 มีแต่เพียงเบาะไม้ธรรมดาราคาเพียงแค่ 25 สตางค์หรือสลึงเดียว

รถรางนั้นชื่อบอกอยู่แล้ว ว่าต้องวิ่งไปตามรางที่วางฝังอยู่บนพื้นถนน เหนือหลังคารถรางมีเสาอะไรสักอย่างพาดขึ้นไปเกาะเกี่ยวกับสายไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นพลังงาน ตัวรถหรือโบกี้รถรางขนาดไม่ใหญ่ไปกว่ารถเมล์ 1 คันหรืออาจจะย่อมกว่าเล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ คนขับรถรางยืนประจำการอยู่ตอนหน้ารถ

เครื่องมือที่ใช้เป็นอุปกรณ์ขับรถก็หน้าตาแสนแปลก เพราะแทนที่จะเป็นพวงมาลัยอย่างพวงมาลัยขับรถยนต์ธรรมดา กลับเป็นท่อนเหล็กงอๆ ใช้เสียบเข้ากับแป้นที่อยู่ตรงตำแหน่งหน้าสุดของรถแล้วหมุนโยกไปมาเพื่อใช้ควบคุมการเดินทาง ตลกยิ่งกว่านั้นคือกระดิ่ง ซึ่งทำหน้าที่เหมือนอย่างแตรรถยนต์อยู่ที่พื้นครับ ถ้าอยากให้เกิดเสียงดังพนักงานขับรถก็เหยียบหรือกระทืบลงที่พื้น ส่วนที่เป็นกระดิ่งนั้นจะเกิดเป็นเสียงดังบอกให้คนรู้ว่ารถรางกำลังมาแล้ว จงหลีกไปเสียให้พ้น

คนนั่งรถรางต้องใจเย็นหน่อยนะครับ เพราะรถรางวิ่งไม่เร็ว ตัวรถเปิดโล่ง ลมโกรกผ่านไปมาได้อย่างสบายใจเฉิบ ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องกลัวเพราะมีมูลี่อยู่ด้านข้างรถทั้งซ้ายและขวาทสามารถคลี่ลงมากันฝนได้ ข้อสำคัญคือการวางรถรางสำหรับเป็นเส้นทางนั้น พูดอย่างภาษาปัจจุบันต้องบอกว่าเป็นระบบรางเดียวเหมือนรถไฟ ส่วนใหญ่ในบ้านเราที่ไม่สามารถวิ่งสวนกันได้ทุกที่ไป เนื่องจากมิได้มีรางคู่สำหรับวิ่งไปขบวนหนึ่งสำหรับวิ่งมาขบวนหนึ่ง หากแต่ต้องไป “รอหลีก” กันในที่ที่กำหนดเฉพาะตรงนั้นจึงมีรางสำหรับให้รถวิ่งสวนกันได้ ถ้ารถรางคันของเราไปถึงก่อนเราต้องจอดคอยรถที่จะวิ่ง สวนมาทางฝั่งตรงกันข้ามมาถึงตำบลตำแหน่งที่สามารถหลีกหลบกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างมาถึงแล้ว ยิ้มให้กันหน่อยหนึ่ง แล้วต่างก็วิ่งต่อไปได้ในทิศทางของตัวเอง

เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้รถรางต้องถอยหลังเข้าไปอยู่ในหน้าของประวัติศาสตร์ กล่าวคือถูกยกเลิกไปเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น เพราะโดนข้อกล่าวหาว่าเกะกะกีดขวางการจราจร ยังดีที่ผมเคยนั่งรถรางอยู่บ้างแต่เป็นสมัยที่เป็นเด็กเล็กเต็มที ประกอบกับเส้นทางให้บริการของรถรางมีไม่มากสายนัก ผมจึงไม่ได้ขึ้นรถรางบ่อยนัก แต่ขึ้นแล้วติดใจนะครับ อยากให้รถรางกลับมาวิ่งให้บริการอีกสักครั้งเหมือนกัน

บริการขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมมากกว่ารถรางและยังมีชีวิตยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ได้แก่ รถเมล์ หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งเป็นทางการว่ารถประจำทาง กิจการประเภทนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงยุคสมัยของเรา คำว่า “รถเมล์” นี่แปลกนะครับ บ้านอื่นเมืองอื่นเขาเรียกว่ารถบัส (Bus) กันทั้งสิ้น บ้านเรามีทั้งเรือเมล์และรถเมล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือเมล์นั้นร้ายกาจมาก ถึงขนาดที่ผู้ใหญ่แต่ก่อนท่านต้องสั่งสอนว่าคนผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับเรื่องสี่อย่างต่อไปนี้ให้ระมัดระวังไว้คือ รถไฟ เรือเมล์ ยี่เก และตำรวจ เพราะทั้งสี่อาชีพนี้เจ้าชู้นักและมักอยู่ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง

คำว่าเมล์นี้แน่นอนว่ามาจากภาษาอังกฤษว่า Mail ซึ่งความหมายดั่งเดิมหมายถึงการไปรษณีย์ แต่สาเหตุที่คำนี้มาพ่วงอยู่กับรถกับเรือในบ้านเราได้เห็นจะเป็นเพราะเมื่อแรกมีการไปรษณีย์ในบ้านเรามีการฝากถุงเมล์หรือถุงไปรษณีย์ไปกับรถและเรือเหล่านี้ คนทั้งหลายจึงพลอยเรียกรถหรือเรือที่ขนส่งพัสดุไปรษณีย์ว่ารถเมล์ เรือเมล์ไปด้วย แม้ทุกวันนี้รถเรือเหล่านั้นไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่คำเรียกว่ารถเมล์ก็ยังเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายความถึงรถที่วิ่งเป็นประจำเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งและมาตามกำหนดเวลา เช่น ทุกครึ่งชั่วโมง ทุก 10 นาที

ตั้งแต่ผมเริ่มจำความได้จนเติบโตเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว รถเมล์ในกรุงเทพฯ ของผมมีหลากหลายสีสันมากและเป็นกิจการเอกชนต่างเจ้าของกันทั้งสิ้น ไม่ได้มีหน้าตาเป็นพิมพ์เดียวกันและเป็นของรัฐวิสาหกิจที่ชื่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)…

รถของแต่บริษัทใช้สีแตกต่างกัน เป็นต้นว่ารถที่ชาวบ้านเรียกชื่อกันว่า “รถเมล์พีระ” เป็นรถเมล์ที่วิ่งประจำทางระหว่างเตาปูนกับสุรวงศ์ ใช้หมายเลขประจําทางเลข 16 รถสายนี้วิ่งผ่านถนนสนามม้าหรือถนนอังรีดูนังต์ซึ่งเป็นถนนหน้าโรงเรียนสาธิตปทุมวันด้วย ผมจึงมีความคุ้นเคยเป็นพิเศษ เด็กสมัยนี้คงแปลกใจว่าชื่อ “พีระ” ที่ต่อท้ายชื่อรถเมล์นั้นมาจากไหนและจะแปลกใจยิ่งขึ้น ถ้ารู้ว่าผู้ที่ชื่อพีระนั้นมิได้เป็นเจ้าของบริษัทรถเมล์แต่อย่างใด

หากแต่เป็นพระนามของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช เจ้านายนักขับรถแข่งผู้มีชื่อเสียงระดับโลกของเมืองไทย รถยนต์ที่ใช้แข่งขันของท่านใช้สีฟ้าเป็นประจำ เป็นสีฟ้าที่ไม่เหมือนสีฟ้าอื่น ชาวบ้านชาวเมืองเรียกสีฟ้านั้นว่าสีฟ้าพระองค์พีระ เมื่อรถเมล์สาย 16 นำสีฟ้านั้นมาเป็นสีของตัวถังรถเมล์ รถเมล์สายนี้จึงจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจากรถเมล์พีระของพวกเราทุกคน

รถเมล์ของบริษัทหนึ่งที่มีกิจการใหญ่โตมากที่สุดในยุคนั้น ได้แก่ รถเมล์ขาวของ “บริษัท นายเลิศ จำกัด” ซึ่งเป็นกิจการของพระยาภักดีนรเศรษฐ์ คนเดียวกันกับที่จัดสรรที่ดินขายให้คุณปู่ของผมดังที่เคยเล่ามาแล้วนั่นเอง กิจการของท่านมียี่ห้อสัญลักษณ์เป็นรูปคล้ายขนมกง คือเป็นวงกลมแล้วมีกากบาทอยู่ตรงกลาง บางทีก็มีผู้เรียกตรานี้ว่าตราโปสี่ประตู อธิบายต่อไปว่าหมายถึงพรหมวิหารสี่ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งเป็นคุณธรรม ที่ผู้เป็นเจ้าของบริษัทยึดถือเป็นสรณะ…

กิจการของรถเมล์ขาวมีหลายสายวิ่งให้บริการแทบจะทั่วทั้งพระนคร รวมทั้งรถหมายเลขประจำทางสาย 8 ที่วิ่งระหว่างสะพานพุทธฯ กับลาดพร้าวก็เคยเป็นกิจการรถเมล์ขาวมาก่อน และขับรถได้สุภาพเรียบร้อยปลอดภัยตามมาตรฐานของบริษัทนายเลิศเป็นอย่างดี เพิ่งจะมามีชื่อเสีย (ง) ในชั้นหลังนี้เอง

นอกจากรถเมล์สีฟ้าพีระและสีขาวนายเลิศแล้วยังมีรถเมล์สีอื่นอีกมากครับ เป็นต้นว่ารถสีน้ำตาลที่เรียกว่ารถเมล์ศิริมิตร เป็นรถสาย 49 วิ่งระหว่างเตาปูนกับโรงพยาบาลกลาง รถเมล์ศรีนครใช้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ รถเมล์ของ ร.ส.พ.สาย 22 วิ่งระหว่างถนนตกกับกล้วยน้ำไท รถสายนี้มีสีประจำรถคือสีฟ้าแต่เป็นสีฟ้าที่สว่างกว่าสีฟ้าพีระ และรถเมล์บุญผ่องที่ใช้สีน้ำเงินคาดขาว คำว่า “บุญผ่อง” นี้มาจากชื่อของนายบุญผ่อง สิริเวชะภัณฑ์ ท่านผู้เป็นเจ้าของกิจการ ท่านมีประวัติที่งดงามเปี่ยมไปด้วยความเสียสละกล้าหาญ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือฝรั่งเชลยสงครามให้รอดตายจากการทำงานหนักในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะได้เป็นจำนวนมาก…

ถึงแม้บ้านของผมเองจะมีรถยนต์อยู่ 1 คันที่พ่อใช้เป็นพาหนะรับส่งลูกไปโรงเรียนอยู่เสมอ แต่ในชีวิตจริงไม่ได้แปลว่าเราจะนั่งรถคันนั้นไปไหนมาไหนด้วยกันตลอดเวลา เพราะต่างมีธุระต้องแยกกันไปบ้าง พอเติบโตขึ้นเรามีชีวิตที่เป็นอิสระมากขึ้น การโดยสารรถเมล์จึงไม่ใช่ของแปลกสำหรับผม ราคาค่าโดยสารของรถเมล์ส่วนใหญ่ที่ยืนยาวมาเป็นเวลานานก็อยู่ที่ 50 สตางค์เท่านั้น อาจจะมีบางสายที่ระยะทางยาวมาก เช่นวิ่งระหว่างท่าช้างวังหลวงจนถึงปากน้ำ สมุทรปราการ เรียกว่าวิ่งข้ามจังหวัดกันเลยทีเดียว ราคาจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 1 บาทหรือ 1.50 บาท ราคานี้นั่งกันตลอดสายเลยทีเดียว เพื่อนนักเรียนบางคนซื้อเป็นตัวเดือนจะได้ราคาถูกกว่านี้เสียอีก ทุกครั้งที่มีข่าวว่ารถเมล์จะขึ้นราคาจะตกเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกทีไป

แต่ที่กล่าวอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าผมคุ้นเคยกับรถเมล์ทุกสายในบ้านเรานะครับ ที่คุ้นเคยเป็นพิเศษก็คือรถเมล์ที่วิ่งผ่านละแวกที่เป็นบ้านของผมคือซอยสุขุมวิท 40 หรือสุขุมวิท 42 เป็นสำคัญ…

……..

สมควรบันทึกไว้เพื่อเตือนความทรงจำว่า บริการรถเมล์เหล่านี้ถ้าเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นซึ่งมีผู้โดยสารเดินทางมากเพราะเป็นชั่วโมงเร่งด่วน รถจะแน่นขนัด ถึงขนาดที่ต้องมีการห้อยโหนอยู่ตามบันไดทั้งตอนหน้าและตอนหลังของรถ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นอันตรายแต่คนทั้งหลายก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะถ้าขืนยืนรอรถคันต่อไปมาถึงก็ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ และถึงแม้มาถึงก็คงมีสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกันคือแน่นขนัดมาเสียตั้งแต่ต้นทางแล้ว ตกลงเป็นอันว่าโหนก็ต้องโหนครับ

เทคนิคการโหนที่ต้องจำให้ขึ้นใจคืออย่างน้อยต้องให้เท้าของเราข้างหนึ่งเหยียบยืนอยู่บนขั้นบันไดให้มั่นคงแน่นอน ส่วนมืออย่างน้อยข้างหนึ่งเช่นกันก็จับให้มั่นกับราวเหล็กที่อยู่ข้างประตูรถหรือช่องหน้าต่างที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด ส่วนขาอีกข้างหนึ่งและมืออีกข้างหนึ่งใช้สำหรับแกว่งไกวไปตามยถากรรมหรือถือของที่มีติดตัวมาไม่ให้หายหกตกหล่นไปไหน

เพื่อนของผมคนหนึ่งที่สาธิตปทุมวันเคยโหนรถเมล์อย่างนี้จากโรงเรียนกลับบ้าน ไม่รู้ว่าคนขับขับรถอย่างไรเอาตัวผู้โดยสารซึ่งเป็นเพื่อนผมที่ห้อยโหนอยู่ตรงบันไดหลังไปฟาดเข้ากับเสาไฟฟ้าที่ยืนสงบนิ่งอยู่ข้างทาง ต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาตัวอยู่นานแรมเดือน ส่วนว่าเป็นรถเมล์สายอะไรนั้นอย่าไปจดจำเลยนะครับ เรารอดตายมาได้ก็ถือว่าบุญแล้ว

รถเมล์หลากสีเหมือนลูกกวาดประดับท้องถนนแห่งพระนครเหล่านี้มีอันเป็นไปเมื่อบริษัทรถเมล์หลายบริษัทประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากน้ำมันในตลาดโลกขึ้นราคา เนื่องจากสงครามในตะวันออกกลางตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศักราช 2516 มาถึงพุทธศักราช 2518 รัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเวลานั้นเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะดำเนินนโยบายยุบรวมรถเมล์เอกชนหลายสายเข้าด้วยกันแล้ว จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ปัจจุบันนี้คือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารถเมล์ของชาวกรุงเทพฯ จึงมีเพียงแค่สีเดียว คงเหลือรถเมล์สีสวยไม่ซ้ำกันวิ่งวนอยู่แต่เพียงในความทรงจำของผมและเพื่อนร่วมยุคสมัยเท่านั้น

[จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2565