ประวัติสะพานผ่านฟ้า เป็นอย่างไร?

สะพานผ่านฟ้า จากหนังสือที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ สวนลุมพินี พุทธศักราช 2468 ถ่ายไปทางป้อมมหากาฬและวัดราชนัดดา (แลเห็นโลหะปราสาท)

ในฐานะเป็นคนทำงานข้างสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง ผู้เขียนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสะพานผ่านฟ้าหลายข้อบางข้อพอค้นหาคำตอบได้บ้าง แต่บางข้อยังกังขาและสับสนค้นอยู่หลายปี ยังไม่รู้เลยว่าจะสรุปลงที่ตรงไหน ขอนำมาปรึกษาท่านทั้งหลายเผื่อมีข้อมูลที่ดีกว่ามาบอกเล่ากันบ้าง

ข้อที่ 1 เปิดสะพานผ่านฟ้าเมื่อปีใด?

เปิดหนังสือสะพานเก่ากรุงเทพฯ ของ อ.ศิริชัย นฤมิตรเรขการ หน้า 30, 33, 37 ดู อ.ศิริชัยมิได้เอ่ยถึงประวัติไว้เลย บอกแต่เรื่องความสวยงาม

ถนนราชดำเนิน มีสะพานข้ามคลอง 3 สะพาน มีชื่อคล้องกัน คือ มัฆวาฬรังสรรค์ เปิด พ.ศ. 2446 ผ่านพิภพลีลา เปิด 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 แต่ผ่านฟ้าลีลาศ เปิดเมื่อใด ไม่ปรากฏ

ฝากคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นักสะสมหนังสือราชกิจจานุเบกษา ไปเปิดค้นดู ก็ว่าไม่มีประกาศให้เห็น

เปิดหนังสือจดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ ของกรมศิลปากรดู ก็กล่าวแต่ว่าเดิมเป็นสะพานเหล็กโค้งเช่นเดียวกับสะพานนรรัตนสถาน ที่บางลำภู ต่อมา ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างใหม่ “แต่ไม่พบหลักฐานว่าสร้างในปีใด”

เปิดหนังสือเล่าเรื่องบางกอก ของ ส.พลายน้อน ดู อ.สมบัติกล่าวแต่วันเปิดสะพานมัฆวาฬ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 สะพานเดียว นอกนั้นไม่เอ่ยถึง

สะพานโค้งเหล็กข้ามคลองรอบกรุงถ่ายราวใกล้ๆ พ.ศ. 2446 ก่อนรื้อไปสร้างเป็นสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ภาพจากหนังสือร้อยปี สยาม-สวิตเวอร์แลนด์ โดย Agathon Corp ค.ศ. 1997

ข้อที่ 2 สะพานข้ามคลองเดิมเป็นอย่างไร

สะพานผ่านฟ้านั้น ขอให้ทราบว่า แต่เดิมไม่ได้มีหน้าตาอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ มีการปรับขยายมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ถ้าท่านดูรูปถ่ายในหนังสือของ อ.ศิริชัย 4 หน้า 23 กับรูปวาดในหนังสือของ ส.พลายน้อย ดู อ.สมบัติ บทที่ 2 ซึ่งถ่ายและให้เห็นคลองรอบกรุงยุคที่ยังไม่มีการตัดถนนราชดำเนิน (เริ่มตัด พ.ศ. 2442) มองลงมาจากภูเขาทอง จะเห็นว่า ขณะนั้นสะพานข้ามคลองยังเป็นเพียงสะพานไม้เล็กๆ ไม่มีชื่อเป็นเรื่องเป็นราว

ต่อไป ดูหนังสือของ อ.ศิริชัย หน้า 33 จะเห็นภาพถ่ายการสร้างสะพานเหล็กรูปโค้งครึ่งวงกลม มีนั่งร้านปลูกอยู่ระเกะระกะ แต่เห็นถนนราชดำเนินนอกเป็นรูปเป็นร่าง มีต้นมะขามขึ้นครึ้มอยู่เบื้องหลัง แสดงว่ามีการสร้างสะพานโค้งในช่วงใกล้ๆ กับการตัดถนนราชดำเนิน พ.ศ. 2442

ในหนังสือสยามประเภท ฉบับ 16 มิถุนายน ร.ศ. 118 พ.ศ. 2442 นายกุหลาบกล่าวถึงสะพานโค้งนี้ในหน้า 758 ว่าในรัชกาลปัจจุบัน อันหมายถึงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “ตภานเหล็กโค้งอีกตำบลหนึ่งที่ตรงประตูพฤฒิบาศ ค่ามคลองรอบกรุง ทางจะไปวัดปรินายก (พรหมสุรินทร์) แลวัดโสมนัสวิหารก็ได้ ที่เรียกว่าตภานเหล็กโค้งริมวัดพรหมสุรินทร์นั้น”

หมายความว่าสร้างสะพานเหล็กทะลุกำแพงเมืองตรงประตูพฤฒิบาศ (คือต้องรื้อกำแพงและประตูเมืองข้างป้อมมหากาฬออก เพื่อทำเป็นสะพานและถนนราชดำเนิน) ขอให้สังเกตว่าขณะนั้น สะพานเหล็กโค้งยังไม่มีชื่อเป็นทางการแต่อย่างใด

คำว่า ผ่านฟ้าลีลาศ มาเริ่มใช้ก็ต่อเมื่อจะรื้อสะพานโค้งนั้นออก และชื่อผ่านฟ้าก็ตั้งสำหรับสะพานที่จะสร้างใหม่

ข้อที่ 3 ตั้งชื่อว่าผ่านฟ้าลีลาศตั้งแต่เมื่อไร?

หนังสือสะพานเก่ากรุงเทพฯ หน้า 30 อ.ศิริชัยอ้างพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ถึงเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ไว้ตอนหนึ่งว่า

“อนึ่งตพานผ่านฟ้าลิลาด มีผู้เห็นด้วยกันเปนอันมากว่า เปนตพานในถนนราชดำเนิน เปนสูญกลางของถนนทั้งปวงมาประชุมกันมาก ควรจะทำให้งามกว่าตพานโค้งที่มีอยู่แล้ว…” (อ.ศิริชัย ไม่ระบุเดือนปีและที่มา)

แปลว่า ร.5 ทรงมีพระราชดำริให้รื้อสะพานโค้งของเดิมออกแล้วสร้างสะพานใหม่ที่ดูสง่างามกว่าแทน สะพานใหม่ดังกล่าวมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการเตรียมไว้ว่า ผ่านฟ้าลีลาศ

ในพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 4 สิงหาคม ร.ศ. 120 พ.ศ. 2444 ที่สั่งให้กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์และคณะคิดราคาทำถนนราชดำเนินกลาง (นับจากสะพานผ่านฟ้าไปถึงสะพานผ่านพิภพลีลา สนามหลวง) และ “คิดทำบังเวียนสพานผ่านฟ้าลีลาศ” ให้เสร็จด้วย (บังเวียนในที่นี้ ผู้เขียนเชื่อว่าหมายถึง เชิงสะพานที่ทำเป็นบันไดรูปโค้งเวียนนั่นเอง-ดูหนังสือประชุมพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน ภาคที่ 3 ตอนที่ 1 หน้า 138 สำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์)

สรุปว่า คำว่า ผ่านฟ้าลีลาศ เริ่มมีอย่างน้อยตั้งแต่ราวๆ พ.ศ. 2444

ข้อที่ 4 รื้อสะพานเหล็กโค้งเปลี่ยนเป็นสะพาน 4 เสา อย่างปัจจุบันเมื่อไร?

จากการสอบถามปีสร้าง ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี นักอ่านหนังสือตัวยง คุณชายศุภวัฒย์กรุณาชี้ช่องว่า ในหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2451 มีพูดถึงเรื่องสะพานผ่านฟ้าหน่อยหนึ่ง เมื่อเปิดหนังสือสอบดู ก็พบคำกล่าวสั้นๆ ในหน้า 192 ว่า บริษัท Howarth Erskine เพิ่งเซ็นสัญญาสร้าง “Panfalia Bridge” และอื่นๆ ไปเมื่อไม่นาน เปิดต่อไปถึงหน้า 195 มีการลงรูปถ่ายสะพานผ่านฟ้าประกอบด้วย เห็นได้ว่าเป็นรูปสะพานที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ

ท้ายที่สุด ผู้เขียนพบรูปผลงานของวิศวกรอิตาลี C. Allegri เป็นรูป “Fa Li La bridge plan” หรือแปลนสะพานผ่านฟ้า ค.ศ. 1908 ตีพิมพ์ในหนังสือชาวอิตาเลียนในราชสำนักไทย ของสถานทูตอิตาลี พ.ศ. 2539 นี่ก็ช่วยยืนยันว่าการสร้างสะพานผ่านฟ้า สร้างหรือเสร็จในช่วง พ.ศ. 2451

แบบแปลนสะพานผ่านฟ้า พ.ศ. 2451

กระโดดมาถึงปัจจุบัน ขอหมายเหตุว่า ต้นปี พ.ศ. 2537 มีการขยายสะพานผ่านฟ้าให้กว้างออกไปอีก เมื่อแล้วเสร็จ มีพิธีเปิดใช้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2537 สะพานผ่านฟ้าที่เราเห็นในปัจจุบันกว้างขวาง รถวิ่งสะดวก แต่ไม่ได้สัดส่วนสวยงามเหมือนในอดีต

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2565