ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | พ.ต.ท.สมพงษ์ แจ้งเร็ว |
เผยแพร่ |
จากแดนกันดารของจีนในวัยเยาว์ มาดิ้นรนต่อสู้ในเมืองไทย จนกลายเป็นเจ้าสังเวียนมวย ที่หาคนต่อกรไม่ได้…
ประวัติศาสตร์วงการมวยไทยได้บันทึกเรื่องราวการชกระหว่างมวยไทยกับชาวต่างชาติไว้หลายครั้ง นับตั้งแต่นายขนมต้มชกกับพม่า ต่อมาก็มีเรื่องหมื่นผลาญดัสกรชกกับนักมวยฝรั่ง จนมาถึงยุคสนามมวยเวทีสวนกุหลาบ ก็มีนายยัง หาญทะเล ชกกับนายจี๊ฉ่าง และนายไล่โฮ้ว มวยจีน นายทอง เอกบุศย์ ชกกับนายเกี่ยเหลียน เป็นต้น ซึ่งในขณะนั้นเป็นการชกกันในรูปแบบสไตล์ของตัวเอง จากนั้นมาก็มีชาวต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เข้ามาชกกับนักมวยไทย ทั้งในแบบมวยไทยและมวยสากลอีกหลายครั้ง
ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสนามมวยเวทีราชดำเนินได้เปิดการแข่งขันมาหลายปีแล้ว ได้มีเด็กจีนจากแผ่นดินใหญ่คนหนึ่งเดินทางเข้ามาเมืองไทย และได้ฝึกมวยไทย ขึ้นชกกับนักมวยไทย จนสามารถก้าวขึ้นเป็นนักมวยชั้นนำ ได้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนมวยไทยรุ่นเฟเธอร์เวทของเวทีราชดำเนิน จนได้รับฉายาว่า “มังกรร้ายเมืองโผวเล้ง” และเป็นตำนานเล่าขานกันมาจนปัจจุบันว่า เขาเป็นชาวจีนคนแรก (และเป็นคนเดียว) ที่ได้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนมวยไทย
ชื่อบนเวทีของเขาคือ “สายเพ็ชร ยนตรกิจ”
เลือดเป็นมังกร
สายเพ็ชรมีนามจริงว่า “ซอฮั่ง แซ่หลาย” เกิดบนผืนแผ่นดินใหญ่ ที่หมู่บ้านตระกูลหลาย เมืองโผวเล้ง วันเกิดของเขาตามปฏิทินจีนคือวันชิวอิด เดือนแปด ตรงกับปฏิทินสากลคือวันที่ 11 กันยายน 2475 เป็นบุตรคนโตของนายหล่งจ๋าย แซ่หลาย และนางอั่งย้ง แซ่พัว มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน เป็นชายล้วน เมื่อเขาอายุได้เพียง 10 ขวบ บิดาก็เสียชีวิตลง ต่อมาน้องที่ 3 ก็ต้องเสียชีวิตไปอีกคน ส่วนน้องคนเล็กสุดญาติขอไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม อีก 2 ปีต่อมาปู่ก็เสียชีวิตลงอีก ประกอบกับเวลานั้นเมืองโผวเล้งต้องประสบภัยแล้ง และที่ดินทำนาก็มีอยู่น้อย แม่จึงตัดสินใจพาเขากับน้องคนรองเดินทางมาตายเอาดาบหน้าที่เมืองไทย ซึ่งเวลานั้นตาและญาติผู้ใหญ่ทางฝ่ายแม่ได้เดินทางมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เพชรบุรีก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว
เวลานั้นสงครามโลกสงบลงแล้ว เขามีอายุราว 12-13 เท่านั้น ทั้ง 3 แม่ลูกเดินทางโดยเรือสินค้ารอนแรมทะเลมานับเดือนจึงถึงเมืองไทย “ผมเกือบเลี้ยงปลาซะแล้ว” เขาเล่าถึงระหว่างทางที่เดินทางมา “มาเรือสินค้าต้องอยู่ใต้ท้องเรือ หน้าต่างก็ไม่มี มันร้อนจนทนไม่ไหว ผมเลยหนีขึ้นไปนอนบนดาดฟ้าเรือ แม่ก็ไม่รู้ ไม่ตกทะเลเลี้ยงปลาก็ดีแล้ว”
เมื่อเรือมาถึงก็ขึ้นกันที่ปากน้ำ เพราะคนมากมายเขาก็หลงกับแม่อีก แม่พาน้องไปด้วย จนต่างคนต่างขึ้นรถมาเจอกันอีกที่วังแดงอันเป็นศูนย์รวมของผู้โดยสารเรือ จากนั้นจึงเดินทางต่อไปราชบุรี ซึ่งคนนำพาจะได้จัดให้ขึ้นรถมุ่งสู่เพชรบุรีต่อไป แต่การเดินทางในสมัยนั้นล่าช้า ถึงราชบุรีก็ใกล้ค่ำ ต้องพักแรม เพราะเส้นทางไปเพชรบุรีนั้นเปลี่ยว มาถึงราชบุรีเขาก็ออกเดินดูบ้านเมืองซึ่งเป็นของแปลกใหม่ ที่นี่มีคนจีนด้วยกันมาถามเขาว่ามาจากไหน จะหาใคร เขาก็เลยถามหาคนแซ่หลายและแซ่พัวที่มาอยู่ที่นี่ ก็เลยได้รับความช่วยเหลือจากคนแซ่หลายหาที่พักแรมให้คืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงเดินทางไปเพชรบุรี และได้พบกับตาและพี่ชายน้องชายของตาที่ได้มาปักหลักทำมาหากินอยู่ที่นั่น
เมื่อตามาอยู่เมืองไทยก็ได้มีครอบครัวใหม่แล้ว เขาจึงอาศัยอยู่กับพี่ชายของตา และออกรับจ้างทำงานทุกอย่างโดยไม่เลือก ตั้งแต่รับจ้างหาบน้ำ ส่งเลือดหมู ส่งน้ำแข็ง ขายไอศกรีม ส่งไม้กระดาน ทำขนมเปี๊ยะ และเป็นลูกจ้างในร้านทำขนมจันอับ ในวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่นนี้คนหนึ่งที่ได้เกื้อกูลเขาเป็นครั้งคราวเสมอด้วยความเมตตาคือคุณผาด อังกินันทน์ (พ่อของคุณปิยะ อังกินันทน์ นักการเมืองชื่อดังของเพชรบุรี) ส่วนแม่กับน้อง เวลาต่อมาก็เข้ามากรุงเทพฯ โดยมาทำงานในร้านทำฟันของญาติ
สายเพ็ชรไม่มีโอกาสได้เข้าโรงเรียน แต่ด้วยการช่วยสอนของน้า (ลูกของตาที่เกิดกับภรรยาใหม่) ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับเขา เขาก็พยายามจนอ่านหนังสืออย่าง “นกกางเขน” ได้ เมื่อโตขึ้นสนใจเรื่องมวยก็หัดอ่านจากหนังสือมวยเอาเองจนคล่องหนังสือไทย
ออกลายมังกร
สายเพ็ชรฉายแววนักสู้มาตั้งแต่เด็ก สนใจในกีฬาหมัดมวย เมื่อมาทำงานเป็นลูกจ้างก็เก็บเงินซื้อนวมมาซ้อมกับเพื่อนลูกจ้าง บางครั้งก็มีการชกต่อยกับพวกวัยรุ่นด้วยกัน ซึ่งบางคนก็เคยหัดมวยมาแล้ว เมื่อปิยะ อังกินันทน์ ซึ่งชอบพอกับเถ้าแก่ร้านจันอับที่เขาทำงานอยู่ มาเห็นเขาซ้อมเข้าบ่อยๆ รู้ว่าชอบ ก็เลยพาไปฝากค่ายมวย “ณ สายเพ็ชร” ของครูณรงค์ ฉายะสนธิ
เขาหัดอยู่ได้ไม่ถึงเดือน ก็พอดีกับมีงานประจำปีเขาวัง (ปี พ.ศ. 2495) ก็ได้ไปเที่ยวและขึ้นเปรียบมวยกับเขา ในการชกคราวแรกนั้น เขาใช้ชื่อว่า “กิมหั่ง ณ สายเพ็ชร” เพราะขณะนั้น “กิมหั่ง ศิษย์ผล” นักมวยกรุงเทพฯ เชื้อสายจีนกำลังมีชื่อเสียง ประกอบกับตัวเขาเองก็มีชื่อจริงว่า “ซอฮั่ง” ด้วย (“หั่ง” กับ “ฮั่ง” เป็นคำคำเดียวกัน แปลว่า “ยุทธ” ที่เขียนต่างกันนั้น เป็นเรื่องของการถอดเสียง ทำนองเดียวกับแซ่ “ไหล” กับแซ่ “หลาย” นั่นเอง)
สายเพ็ชร หรือ “กิมหั่ง ณ สายเพ็ชร” เปรียบได้คู่กับอำนาจ นฤภัย มวยอาชีพจากกรุงเทพฯ เขาเล่าถึงการชกครั้งนั้นว่า ตัวเองไม่ประสีประสาเลย พอขึ้นเวทีก็ลงนั่งคุกเข่าจะไหว้ครู จนพี่เลี้ยงต้องบอกว่า ต้องใส่นวมก่อน ผลการชกปรากฏว่าเสมอกัน ได้รางวัลมา 175 บาท เขาเอาเงินจำนวนนั้นไปให้แม่ แต่แม่ไม่ยอมรับเพราะโกรธ และห้ามไม่ให้เขาริไปชกมวยอีก
เมื่อแม่ห้าม สายเพ็ชรจึงหยุด แต่ก็ยังคงฟิตซ้อมไปเรื่อยๆ เมื่อว่างงาน พอดีกับในช่วงนั้นเกิดไฟไหม้ใหญ่ในตลาดเมืองเพชร จึงมีการก่อสร้างตึกใหม่ๆ ขึ้นมาก เขาออกจากงานลูกจ้างร้านจันอับ ไปสมัครเป็นลูกมือช่างทาสี จึงมีเวลาฝึกซ้อมมวยมากขึ้นในเวลาหลังเลิกงาน
เขาว่างเว้นจากการขึ้นชกครั้งแรกไปหนึ่งปีเต็ม พอมีงานเขาวังในปี ๒๔๙๖ เขาก็ไปเปรียบมวยอีก “ผมไปในชุดช่างทาสีเลย” เขาเล่า “ไปกับเพื่อนชื่ออุสมาน เป็นแขก ไปเปรียบด้วยกัน” คู่ชกในวันนั้นของเขาชื่อ “สุธา” ซึ่งเขาเล่าว่า สุธานั้น “หาคู่ชกไม่ได้อยู่หลายวัน ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ประสาน ณ สายเพ็ชร มันก็ยุว่า เอาเลยฮั่ง ก็เลยขึ้นไปเปรียบทั้ง 2 คน เป็นตี๋คนกับแขกคน สุธาเลือกเอาตี๋” พอเปรียบเสร็จ เพื่อนๆ จึงบอกเขาว่าคู่ชกของเขาคือ “สุธา นฤภัย” นักมวยผู้โด่งดัง เคยผ่านเวทีราชดำเนินมาแล้ว เมื่อเพื่อนถามว่าจะสู้เขาหรือ เขาก็ตอบว่า “ถ้ากูไม่สลบ กูสู้ ถ้ายังรู้สึกตัว กูไม่ยอม”
สุธาเป็นมวยรอจังหวะสอง “ถ้าชกแบบนี้ แพ้แน่นอน” เขาเล่า พอขึ้นยก 3 เขาแกล้งเตะผิด สุธารุกเข้ามาหมายจะสวน แต่เขาดักด้วยหมัดเดียวจนสุธาร่วงลงไปให้กรรมการนับ “พอลุกขึ้นมา กรรมการบอกล้ม 3 ครั้งจับแพ้ ผมเลยเข้าลุยใหญ่” เขาเล่าต่อ ผลปรากฏว่า เขาชกสุธาจนล้มลุกคลุกคลาน ลงไปกองกับเวทีถึง 5 ครั้ง กรรมการจึงจับสุธาแพ้แบบเทคนิคเกิลน็อคเอ๊าต์ในยกนั้นเอง
ชกครั้งที่ 2 แล้ว แม่เลยส่งให้เขาเข้าไปทำงานกรุงเทพฯ โดยเป็นลูกจ้างอยู่ร้านมวนบุหรี่ ย่านวัดสามปลื้ม มาอยู่ได้ไม่นานนักนักเลงเจ้าถิ่นก็เขม่น จนเกิดการท้ากันขึ้น เขาท้าชกกันตัวต่อตัว นักเลงผู้นั้นไม่ยอมสู้ แต่ให้ไปชกกับเพื่อนซึ่งเป็นทหารและตัวใหญ่กว่าเขาแทน เขาซ้อมเสียจนทหารผู้นั้นหน้าตาบวม เมื่อสู้ไม่ได้นักเลงผู้นั้นก็คอยดักจะแทงเขาด้วยกรรไกร แต่ก็มีคนห้ามปรามไว้ได้ แต่พอถึงกลางคืนก็ยกพวกมากันอีก เถ้าแก่เจ้าของร้านเห็นท่าจะไม่เป็นเรื่องจึงให้เขาออกจากงาน เขาจึงกลับเพชรบุรีอีกครั้ง ยึดอาชีพช่างทาสีต่อไป
เมื่อกลับไปถึงเพชรบุรีนั้นเป็นช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน เขาเลยไปเที่ยวพระพุทธบาทกับเพื่อนๆ แล้วก็ขึ้นเปรียบมวย ได้คู่ชกกับสัญลักษณ์ ศรีอยุธยา ในการชกคราวนี้เขาใช้ชื่อว่า “สุดใจ ณ สายเพ็ชร” เขาเตะท้องสัญลักษณ์ 3-4 ที สัญลักษณ์ก็ลุกไม่ขึ้น เป็นอันว่าเขาชนะน็อคไปในยกแรกนั้นเอง
มังกรผงาด
หลังจากการชกครั้งที่ 3 พอดีกับผู้รับเหมาทาสีจากกรุงเทพฯ ที่เคยรับงานที่เพชรบุรี และคุ้นเคยกับเขาได้ชักชวนให้เขามาทำงานด้วยกันที่กรุงเทพฯ เขามาได้ไม่นาน ผู้รับเหมาอีกรายได้รับเหมางานทาสีในวังสวนจิตรลดา ก็ชักชวนเขามาทำงานด้วยอีก
ในหมู่เพื่อนร่วมงานนั้น มีอยู่คนหนึ่ง เมื่อเลิกงานตอนเย็นแล้ว ก็จะไปซ้อมมวยเสมอๆ เขาจึงสอบถามได้ความเพื่อนผู้นั้นเป็นนักมวยในชื่อ “ล้ำเลิศ ยนตรกิจ” เขาจึงขอให้เพื่อนพาไปสมัครที่ค่ายยนตรกิจด้วย ซึ่งอยู่แถววัดน้อยนพคุณ ไม่ไกลจากที่ทำงานนัก
เมื่อเพื่อนพามาถึงค่าย “เตี่ยตันกี้” ปรมาจารย์ของคณะยนตรกิจก็ให้เขาลองเตะกระสอบให้ดูต่อหน้านักมวยน้อยใหญ่ที่ซ้อมกันอยู่ แม้ทุกคนออกปากว่า “ไอ้นี่เป็นมวย” แต่เขาก็บอกว่า ไม่เป็น แต่เคยหัดมาบ้าง และชกมาเพียง 3 ครั้ง เตี่ยตันกี้เห็นหน่วยก้านแล้วก็ตกลงรับเขาไว้ โดยให้ไปลงชื่อไว้กับชัยยุทธ ยนตรกิจ บุตรชายผู้ทำหน้าที่ดูแลจัดการค่าย ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ได้รับการแนะนำชั้นเชิงการชกมวยจากรุ่นพี่ เช่น ทองใบ ยนตรกิจ และบาง ยนตรกิจ โดยกลางวันก็ไปทำงานทาสีตามปรกติ ตอนเย็นก็กลับมาซ้อมมวยและพักที่ค่ายยนตรกิจนั้นเอง
จนถึงงานประจำปีเขาวัง เพชรบุรี ทางคณะยนตรกิจก็มอบหมายให้เขานำเพื่อนนักมวยร่วมค่ายไปชกในงาน ในฐานะที่เขาคุ้นเคยกับเพชรบุรีมาก่อน เขาขึ้นชกในงานนี้ด้วย โดยยังคงใช้ชื่อสุดใจ ณ สายเพ็ชร เช่นเดิม เสมอกับสมชาย ลูกสุรินทร์
กลับมากรุงเทพฯ แล้ว ชัยยุทธ ยนตรกิจ ก็เสนอชื่อเขาขึ้นชกต่อไป ตามปรกติที่ค่ายยนตรกิจจะรับหนังสือมวยเป็นประจำ เขาก็ได้อาศัยหนังสือที่เขาชอบนี้เป็นที่ฝึกอ่านและติดตามข่าวไปด้วย เมื่อเห็นชื่อ “สายเพ็ชร ยนตรกิจ” อยู่ในหน้าหนังสือ และมีรายการชกที่เวทีราชดำเนิน ด้วยความสงสัย เขาก็ถามชัยยุทธว่า สายเพ็ชรเป็นใคร “ก็แกนั่นแหละ” ชัยยุทธตอบ “ผมงี้ใจวูบเลย ได้ชกราชดำเนินหนแรก” เขาเล่าอย่างสนุก คู่ชกของเขาคือหย่วน นฤภัย เพียงแค่ยกแรกเขาก็ใช้หมัดเคาะหย่วนจนลงไปชัก รายการต่อมาก็พบกับประเดิม กิ่งเพชร ผลก็คือประเดิมแพ้น็อคไปในยกแรกอีกคน จากนั้นเขาก็ถล่มสมพร พงษ์สิงห์ จนแพ้น็อคในยกแรกอีกเป็นรายที่ 3
จากชัยชนะในยกแรกติดๆ กันถึง 3 ครั้ง เขาก็ได้ขึ้นชกกับจักรวรรดิ์ พงษ์สิงห์ รองแชมเปี้ยนอันดับ 7 รุ่นเฟเธอร์เวทของเวทีราชดำเนิน เขากระหน่ำทั้งหมัดและเท้าจนจักรวรรดิ์แพ้น็อคไปในยกที่ 3 และก็ได้เข้าไปครองตำแหน่งรองแชมป์อันดับ 7 แทนที่
จากนั้นมาสายเพ็ชร ยนตรกิจ ได้ขึ้นชกอีกประมาณ 20 ครั้งโดยไม่เคยแพ้ใคร และเมื่อเขาชนะจเร ราชวัฏ รองแชมเปี้ยนอันดับ 1 ได้ เขาก็มีสิทธิ์ท้าชิงแชมป์ของรุ่นได้โดยสมบูรณ์ ซึ่งขณะนั้นชูศักดิ์ ราชวัฏ เป็นผู้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนของรุ่นนี้อยู่ (เวลานั้นแต่ละรุ่นมีตำแหน่งแชมป์ของเวทีราชดำเนินเพียงเวทีเดียว จะนับว่าเป็นตำแหน่งแชมเปี้ยนแห่งประเทศไทยก็ได้)
ระหว่างการรอคอยที่จะขึ้นชิงแชมป์นั้นเอง ค่ายยนตรกิจก็จัดมวยยกทีมไปชกกับทีมลูกทักษิณที่จังหวัดยะลา โดยเขาจะต้องพบกับจุฬา ลูกทักษิณ เป็นคู่เอกของรายการ แต่ก่อนวันจะเดินทางเขาเกิดมีอาการเล็บหัวแม่เท้าขบทั้ง 2 ข้างจนลงนวมซ้อมคู่ไม่ได้ และยังต้องนั่งรถไฟไปอีกหนึ่งวันกับหนึ่งคืน ไม่ได้หลับนอน พอขึ้นชกเพียงแค่ยก 2 เขาก็หมดแรง ถูกจุฬาปล้ำฟัดตีเข่าจนแพ้คะแนน การแพ้ครั้งแรกในคราวนี้ทำให้เขาน้อยใจจนคิดจะเลิกอาชีพนี้ แต่ชัยยุทธ หัวหน้าค่ายห้ามไว้ เขาจึงลงมือฟิตซ้อมต่อไป
กลับจากยะลาแล้ว เขาขึ้นไปชกกู้ชื่อที่เวทีสุรนารี นครราชสีมา ชนะน็อคบวร สุรนารี ยกแรก และชนะน็อคบรรจง สุพรหม ในยกแรกอีกเช่นกัน
เมื่อกลับมาชกที่ราชดำเนินเขาได้ขึ้นชิงตำแหน่งแชมป์ที่ว่างลงกับจุฬา ลูกทักษิณ คู่ปรับเก่าซึ่งอยู่ในอันดับ 1 ส่วนเขาเวลานั้นอยู่ในตำแหน่งรองอันดับ 2
ที่ตำแหน่งว่างลงเพราะขณะนั้นชูศักดิ์ ราชวัฏ แชมเปี้ยนของรุ่นได้ขึ้นชกกับสิงหเดช สมานฉันท์ (หรือ รุ่งภาณุ) แล้วถูกกรรมการไล่ลง หาว่าชกสมยอม ชูศักดิ์จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง เมื่อตำแหน่งว่างลง รองแชมป์อันดับ 1 กับอันดับ 2 จึงต้องขึ้นพบกันเพื่อชิงตำแหน่งนี้
ในการชกกับจุฬาหนนี้ นอกจากจะเป็นการชิงตำแหน่งแชมเปี้ยนรุ่นเฟเธอร์เวทของเวทีราชดำเนินแล้ว ยังเป็นการชกแก้มือของสายเพ็ชรอีกด้วย เขาเล่าถึงการชิงตำแหน่งในวันนั้นว่า “ถึงวันชิง ผมงง ผมชกจุฬาล้มไป 4 ครั้ง แต่กรรมการประเสริฐ บุญสม ไม่ยอมจับ ยังไงก็ไม่รู้ พอผมชกล้มครั้งที่ 5 คราวนี้จับมือผมชูเลย ผมดีใจไม่นั่งเก้าอี้เลย พี่เสริม (ยนตรกิจ) เป็นพี่เลี้ยงบอก นั่งซิ ผมบอก นั่งทำไม ชนะแล้ว พี่เสริมบอกว่า ยังไม่ชนะ ระฆังช่วยไว้ตอนยกมือพอดี ผมเลยต้องชกต่อไปจนครบ 5 ยก หนังสือพิมพ์ยังบอกเลยว่า ชกหนเดียวถูกชูมือ 2 หน” เป็นอันว่าเขาชนะคะแนน แก้มือสำเร็จ และได้ตำแหน่งแชมเปี้ยนของรุ่นมาครอง
ปีนั้นตรงกับ พ.ศ. 2498 เขาเป็นหนุ่มมีอายุได้ 23 ปี เริ่มชกมวยอาชีพมาได้เพียงปีเศษ ถ้านับตั้งแต่ออกจากเมืองโผวเล้งบ้านเกิดมาก็เป็นเวลาถึง 10 ปีแล้ว
สำหรับจุฬา ลูกทักษิณ ผู้นี้ ต่อมาก็ได้กลับมาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งอีกครั้ง แต่ก็โดนสายเพ็ชรถล่มจนพ่ายแพ้กลับไปอีก หนสุดท้ายมีการแก้มือกันที่จังหวัดสงขลา และจุฬาก็พ่ายอีกเป็นหนที่ 3 “ผมชกกับจุฬา 4 ครั้ง ชนะ 3 ครั้ง แพ้ 1 ครั้ง” เขากล่าวถึงคู่ชกที่ได้ชกกันมากครั้งที่สุด “ตอนหลังมันไม่สู้ผมเลย กลัวหมัด เอาแต่ถอย ไม่สนุกเหมือนเก่าแล้ว”
พอได้แชมป์แล้ว คู่ชกก็เริ่มหายาก เขาจึงลงไปตะกั่วป่า ชนะน็อคชูศักดิ์ ราชวัฏ อดีตแชมเปี้ยนของรุ่นยกแรก แล้วน็อคฉลวย อุดมศักดิ์ ยก 3 น็อคลิขิต วิถีชัย เจ้าของฉายา “ไอ้หมัดผีสิง” ยก 3 จากนั้นก็ชนะเลิศลอย นักมวยจากพังงา และชนะยูโซ้ะ ม่วงดี ที่สุราษฎร์ธานี
จากมวยไทย เขาหันมาชกแบบสากลบ้าง โดยครั้งแรกกับฤทธิรงค์ เลิศฤทธิ์ ในกำหนด 6 ยก การที่เขาต้องขึ้นชกกับฤทธิรงค์นี้ เป็นเพราะก่อนหน้านี้ศุภชัย พินธุวัฒนะ ได้ขึ้นชกอุ่นเครื่องกับฤทธิรงค์ แต่ถูกฤทธิรงค์เผาเครื่อง ทั้งๆ ที่ก่อนชกศุภชัยเป็นต่อถึง 50 เอา 1 ก็ไม่มีคนรอง ทางคณะเลิศฤทธิ์จึงท้าทายคณะยนตรกิจ ให้สายเพ็ชรลองมาชกแบบสากลกับฤทธิรงค์ดูบ้าง เมื่อชกกันจริง สายเพ็ชรก็เอาชนะฤทธิรงค์ได้แบบคะแนนห่างกันขาดลอย (ต่อมาฤทธิรงค์ขอแก้มือแบบมวยไทยที่เพชรบุรี แต่ก็แพ้สายเพ็ชรอีก)
ต่อมาเขาลงไปชกที่หลังสวน ก็ชนะคะแนนนำชัย ศ. ท่ายาง แล้วชนะชัยพร เมงรายมหาราช อย่างดุเดือด ขึ้นชกที่เวทีลุมพินีซึ่งตั้งขึ้นใหม่ ในรายการใหญ่ซึ่งมีประยุทธ อุดมศักดิ์ “ม้าสีหมอก” กับสามารถ ศรแดง “เชน” เป็นคู่เอก มีศรีสวัสดิ์ เทียมประสิทธิ์ กับเมฆดำ เลือดชาวฟ้า เป็นคู่รอง สายเพ็ชรขึ้นชกกับกิมหั่ง ศิษย์ผล นักมวยที่เขาเคยยืมชื่อไปใช้เมื่อขึ้นชกครั้งแรกที่เพชรบุรี ผลปรากฏว่าสายเพ็ชรเอาชนะคะแนนกิมหั่งได้อย่างดุเดือด จากนั้นจึงข้ามรุ่นไปเอาชนะสุรศักดิ์ บาร์โบส เจ้าของฉายา “ไอ้หมีดำ” ได้ แล้วมาชนะน็อคสุรัตน์ชัย ศ. บางคอแหลม ยก 1 ไปชนะคะแนนรักเกียรติ ส.ส. (เกียรติเมืองยม) ที่หัวหิน เสมอกับสิงห์ ร.ส.พ. ที่ปราจีนบุรี ต่อมาชนะอมรศักดิ์ บาร์โบส และนกน้อย ท.ส. ทั้งหมดนี้เป็นสถิติส่วนหนึ่งแห่งชัยชนะของเขา อย่างไรก็ตามในระหว่างที่เป็นแชมเปี้ยนนี้ เขาพลาดท่าไปแพ้สรศักดิ์ บาร์โบส หนหนึ่งที่ลพบุรี การชกครั้งนี้เป็นการชกนอกรอบ
สายเพ็ชรขึ้นชกป้องกันตำแหน่งกับผู้ท้าชิงหลายคน เช่น ปฐมชัย ชมศรีเมฆ, กิมหั่ง ศิษย์ผล, สรศักดิ์ บาร์โบส สำหรับสรศักดิ์นี้ได้ขึ้นชิงตำแหน่งถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเสมอกัน ครั้งที่ 2 เขาก็ยังป้องกันตำแหน่งไว้ได้และแก้มือสำเร็จ โดยเอาชนะคะแนนสรศักดิ์ได้ และหลังจากที่เขาป้องกันตำแหน่งหนสุดท้ายกับอิศรศักดิ์ บาร์โบส แล้ว เห็นว่าไม่มีคู่ชกด้วย เพราะชนะมาหมดแล้ว อีกทั้งทางเวทีก็ห้ามมิให้แชมเปี้ยนมาชกชิงตำแหน่งในมวยรอบรุ่นต่างๆ อีกด้วย ทำให้ไม่มีโอกาสได้ขึ้นสังเวียนมากนัก เขาจึงตัดสินใจสละตำแหน่งแชมเปี้ยนมวยไทย และหันไปเอาดีทางมวยสากลดูบ้าง
ในการชกมวยสากล เขาเคยชนะฤทธิรงค์ เลิศฤทธิ์ มาแล้ว โลเป ซาเรียล จึงพาไปชกที่ฟิลิปปินส์ ครั้งแรกเสมอกัลลิตเติล ซีซาร์ รองแชมเปี้ยนโลก และชนะคะแนนอีมิน ทินเด อย่างขาดลอย
กลับมาเมืองไทย พันเอกเอิบ แสงฤทธิ์ (ยศในขณะนั้น) จัดให้ขึ้นชกที่เวทีลุมพินีกับยามารา จอมทรหดจากญี่ปุ่น เขาเป็นฝ่ายชนะคะแนน หนต่อมาที่เวทีราชดำเนินพบกับตานากา นักมวยญี่ปุ่นอีก และเขาชนะคะแนนอีก แต่หนที่ 3 เขาต้องแพ้คะแนนแก่มิอูราที่เวทีลุมพินี เพราะต้องลดน้ำหนักมาก
หลังจากการชกครั้งนี้แล้ว สายเพ็ชรก็หยุดชกไปเกือบปี ในช่วงนี้เขาได้หมั้นหมายกับนางสาวเง็กลั้ง แซ่ลิ้ม สาวตำบลพรหมมะเดื่อ นครชัยศรี โดยผู้ใหญ่แนะนำให้รู้จักกัน
หลังจากการหมั้นหมายแล้ว เขาก็กลับมาอีกหนในแบบสากล หนนี้เขาถูกประกบให้ชกกับราชโอรส ลูกราชวัลลภ แต่แล้วในวันชกปรากฏว่าได้มีการจัดเอาสุพรชัย ร.ส.พ. (เจริญเมือง) นักมวยรุ่นน้องจอมทรหด เจ้าของฉายา “แรดดง” ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าอยู่ในรุ่นไลท์เวท มาชกแทน ผลการชกก็คือสายเพ็ชรได้ชัยชนะในแบบคะแนน
เขาได้รับค่าตัวในการชกคราวนี้เพียง 600 บาท “ผมเลยเลิกชก” เขากล่าวถึงการประกาศแขวนนวมหลังจากการชก “มันไม่คุ้มค่าบำรุงร่างกาย”
สายเพ็ชร ยนตรกิจ ประกาศแขวนนวมในปี 2503 ตลอดชีวิตการชกมวยประมาณ 50-60 ครั้งของเขา เขาแพ้เพียง 3 ครั้ง คือมวยไทยแพ้แก่จุฬา ลูกทักษิณ และสรศักดิ์ บาร์โบส ซึ่งเขาก็สามารถแก้มือได้สำเร็จทั้ง 2 คน ในส่วนมวยสากลนั้น เขาแพ้แก่มิอูรา และไม่ได้กลับมาชกกันอีก เพราะเขาประกาศอำลาเวทีสังเวียนแล้ว
เพราะฝีมือของเขานั่นเอง หนังสือพิมพ์หมัดมวยในเวลานั้นจึงตั้งฉายาให้เขาว่า “มังกรร้ายเมืองโผวเล้ง” ทำนองเดียวกับที่วิหค เทียมกำแหง เคยได้ฉายา “ปักษาร้าย” มาแล้ว ก่อนหน้านี้นับด้วยสิบปี
หลังจากเลิกชกมวยแล้ว สายเพ็ชร ยนตรกิจ หรือนายซอฮั่ง แซ่หลาย ก็หันกลับไปจับอาชีพเดิม คือเป็นช่างทาสี จนมีกิจการรับเหมามีฐานะเป็นปึกแผ่น บุตรชาย-หญิงทั้ง 3 คน ก็ได้ร่ำเรียนและมีงานทำกันทุกคน
จากวัยเด็กมาจนถึงวัย 72 ปี “มังกรร้าย” ผู้มาจากเมืองโผวเล้งไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของเขาอีกเลย ทุกวันนี้เฉพาะตัวเขาเองยังคงถือใบต่างด้าวอยู่ ด้วยเหตุผลว่า เขาต้องการเสียภาษีในส่วนนี้เป็นการตอบแทนบุญคุณประเทศไทยที่ได้มาพักพิงอาศัยอยู่เป็นเวลายาวนาน
เมื่อถูกถามถึงน้ำหนักหมัดอันหนักหน่วงที่เขาสามารถน็อคคู่ต่อสู้ได้คนแล้วคนเล่า และคำแนะนำเกี่ยวกับการชกมวยนั้น เขาให้คำแนะนำสั้นๆ ว่า หมัดจะหนักหรือไม่นั้นอยู่ที่คนต่อย คนต่อยต้องกล้าต่อยอย่างมั่นใจ ถ้าไม่กล้าจะเสียจังหวะ ชกได้แค่ครึ่งหมัด ซึ่งจะไม่มีผลเด็ดขาด ถ้าจะมีผลบ้างก็เพียงบางจังหวะเท่านั้น
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 11 พฤษภาคม 2560