เรือพยุงเวช ทูตสันติแม่น้ำโขง

เรือพยุงเวชกำลังออกบริการประชาชน 2 ฝั่งโขง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2540)

เมื่อฝรั่งเศสเริ่มสร้างโฮงหมอสีมะโหสถนครเวียงจันท์ขึ้น รัฐบาลสยามยุคนั้นต้องคิดหนัก เพราะเป็นชาติเอกราชแต่ไม่มีโรงพยาบาลริมแม่น้ำโขงเลย จึงทุ่มสุดกำลังสร้างโรงพยาบาลหนองคายขึ้นเป็นแห่งแรกของแม่น้ำโขงสำเร็จ พ.ศ. 2476 แต่พระปทุมเทวาภิบาล (เยี่ยม เอกสิทธิ์ ต่อมาใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล) ข้าหลวงประจำจังหวัด ต้องจารึกภาพถ่ายว่า “ขอมอบภาพนี้ให้แก่โรงพยาบาลหนองคาย ให้ประชาชนชาวหนองคายทราบว่า กว่าจะได้โรงพยาบาลนี้ขึ้นมา เจ้าของภาพนี้ได้รับความชอกช้ำและลำบากกายเป็นอย่างยิ่ง” ทั้งนี้ เพราะกรมสาธารณสุขยังขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย เพิ่งแยกเป็นกระทรวงภายหลัง

นายแพทย์บุญมี พรหมวงศานนท์ ([ภายหลังเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลเป็น] น.พ.สุรินทร์ พรหมพิทักษ์) แพทย์ประกาศนียบัตร รุ่น 33 เป็นอนามัยจังหวัด พ.ศ. 2470-2483 และรักษาการผู้ปกครองโรงพยาบาล (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัจจุบัน) นายสวัสดิ์ วรรณาเวช เภสัชกร พยาบาลผดุงครรภ์ 4 คน ผู้ช่วยพยาบาล 3 คน เสมียน 1 คน ลูกจ้าง 2 คน รวม 12 คน เป็นอัตรากำลังยุคนั้นแค่นี้ แต่ 12 เดนตาย ปากลาวว่า หนึ่งโหลโสถิ่ม) ล้วนแต่มีหัวใจเสริมใยเหล็ก สำนึกในหน้าที่กรุณาปรานีต่อประชาชน ต่างรู้ดีว่าโรงพยาบาลก็คือตึกอาคารเท่านั้น ถ้านั่งรอให้คนป่วยคนไข้มาหาเมื่ออาการเพียบหนักสุดจะเยียวยารักษาแล้ว อาจจะทำให้สิ้นศรัทธาได้ง่าย คณะหนึ่งโหลโสถิ่มเห็นกันวาควรปฏิบัติการเชิงรุกออกรักษาและแนะนำป้องกันดีกว่า

เรือพยาบาลลำแรกแม่น้ำโขง ชาวหนองคายและรัฐบาลร่วมกันต่อเรือขนาดกลางที่วัดหายโศก กว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร ตอนกลางเป็นประทุนบรรทุกเวชภัณฑ์และคลุมเครื่องยนต์บูลินเดอร์เผาหัว ใช้น้ำมันเตา (ขี้โล้) ปล่อยลงโขง พ.ศ. 2478 โดยตั้งชื่อว่า “เรือสาธารณสุข 4” เพราะเป็นลำที่ 4 ลำที่ 1-3 อยู่กรุงเทพฯ เรือลำนี้สร้างชื่อเสียงเกียรติคุณแก่ประเทศชาติและจังหวัดหนองคายยิ่ง เพราะเป็นลำที่ 4 ของชาติและลำแรกของแม่น้ำโขงภาคอีสาน (และลาว) ออกให้บริการประชาชนสองฝั่ง โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันลงเรือในระยะใกล้ๆ ตั้งแต่อำเภอท่าบ่อ-เวียงจันท์ และอำเภอโพนพิสัย-ปากงึม ได้รับความชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการ จนกรมสาธารณสุขต้องเพิ่มอัตรากำลังประจำเรือให้

เรือหนองคาย 1 แต่มันบังเอิ๊นบังเอิญที่เลขทะเบียน “4” มาลงลำนี้ ถ้าแม้จะฟังม่วนชื่นในภาษาถิ่นและลาว (ฮา) แต่ก็ไม่เป็นมงคลในภาษาจีนแต้จิ๋ว จึงขอเปลี่ยนชื่อเป็น “เรือหนองคาย 1” มี นายแพทย์จินดา ปุณศรี แพทย์ปริญญามาประจำเรือ ถึง พ.ศ. 2481 นายแพทย์ประดิษฐ์ สิทธิไชย แพทย์ปริญญา พ.ศ. 2481-2484 มีนายบุดดี (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นนายท้าย และเริ่มจดทะเบียนเป็นลำแรกหมายเลข 1 พ.ศ. 2480 ที่สำนักงานเจ้าท่าเขต 7 หนองคาย ซึ่งเพิ่งแยกส่วนราชการมา จากการสอบถามคนเก่าๆ ได้ความว่า มีเจ้าหน้าที่ไม่เกิน 10 คน และจะให้บริการตั้งแต่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จนถึงอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ยังไม่ได้แยกเป็นจังหวัดในยุคนั้น) ยาวถึง 700 ก.ม. เรือมีหน้าต่างบานเกล็ดเลื่อนขึ้นได้ ตอนท้ายยกสูงให้นายท้ายมองเห็นหลังคาเรียบเพื่อบรรทุกเวชภัณฑ์และเสบียงได้อีก

เรือพยุงเวช แม้จะเปลี่ยน 2 หมายเลขแล้วก็ยังไม่ถูกใจ จึงเปลี่ยนอีกครั้งเป็น “เรือพยุงเวช” ตามราชทินนามหลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิบดีกรมอนามัยยุคนั้นและปลัดกระทรวงสาธารณสุขต่อมา ไม่ทราบวันเดือนปีแน่ชัด เข้าใจว่าห้วง พ.ศ. 2484-2485 ซึ่งแยกกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็นับว่าถูกโฉลกสมลักษณะ เพราะอยู่บนน้ำก็ต้องพยุงทั้งเวชภัณฑ์และวิชาออกรักษาประชาชน ในห้วงเดียวกันเกิดสงครามอินโดจีนขึ้น ไทยได้ดินแดนหลวงพระบางฝั่งตะวันตกแม่น้ำโขงกลับคืนมา คือ แขวงไชยบุรีในปัจจุบัน ยาวตั้งแต่จังหวัดน่านจรดจังหวัดเลย โดยจัดตั้งเป็นจังหวัดลานช้าง มีแค่ 2 อำเภอ คือ อำเภออดุลเดชจรัส (เมืองปากลาย) และอำเภอหาญสงคราม (เมืองไชยบุรี) รัฐบาลไทยให้พลเอกหลวงสิทธิสารรณกร เป็นประธานรับมอบดินแดน 11,795 ตารางกิโลเมตรนี้ ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484 เรือพยุงเวชก็นำคณะกรรมการทวนแม่น้ำโขงขึ้นไปทำพิธีรับมอบ 5 สิงหาคม ศกเดียวกัน จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คงขึ้นล่องหลายเที่ยว เที่ยวสุดท้ายได้ขนครุภัณฑ์ศาลจังหวัดลานช้าง มาเก็บรักษาที่ศาลจังหวัดหนองคาย ยังอยู่เป็นพิพิธภัณฑ์สมบูรณ์

เรือพยุงเวช (2) เสียดายว่าเรือพยุงเวช 1 หนองคาย 1 สาธารณสุข 4 หารูปภาพสมบูรณ์ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ลือลั่นครั้งอดีต ก็ต้องปลดระวางจำหน่ายเป็นเศษไม้ พ.ศ. 2506 แต่พี่น้องสองฝั่งโขงยังมีความต้องการเรือพยาบาลอยู่ และนับว่าสะดวกสุดขณะนั้น เมื่อใช้สายน้ำคมนาคม กระทรวงสาธารณสุขจึงส่งแบบแปลนมาให้จังหวัดหนองคายสร้างเอง ปรากฏว่าพี่น้องไทย-ลาวช่วยกันลงขันเต็มกำลัง อาจเป็นเพราะชื่อเสียงอันดีของลำแรกก็ได้ จึงวางกระดูกงูและกราบโดยไม้ตะเคียนทั้งลำ พื้นปูไม้สัก ใช้เครื่องยนต์เปอร์กิ้น 2 เครื่อง ขนาด 135 แรงม้า รวม 270 แรงม้า เมื่อ พ.ศ. 2506 ณ อู่ต่อเรือท่าหายโศกเก่า กว้าง 2.50 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 1.50 เมตร ถ้าบรรทุกเต็มระวาง กินน้ำลึกระดับ 1.50 เมตร กั้นเป็นห้องนอน ห้องพยาบาล ห้องสุขา ห้องครัว หัวเรือเปิดโล่ง เพื่อบรรทุกเตียงพยาบาลหรือสิ่งของเพิ่มได้อีก เสร็จเรียบร้อยขึ้นทะเบียน พ.ศ. 2507 โดยใช้พังงา สมอเรือ โซ่เรือลำเก่า

ทูตสันติภาพแม่น้ำโขง เรือพยุงเวช (2) ได้ออกบริการรักษาประชาชนสองฝั่งโขงดังเดิม เพียบพร้อมอุปกรณ์ยิ่งกว่าเก่า ราชอาณาจักรลาวได้ถูกสถาปนาขึ้น แต่การเมืองก็วุ่นวาย มีการรัฐประหาร ขบถ ปะทะกันหลายฝ่ายนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยความสำนึกในหน้าที่และมนุษยธรรม นายแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เรือ ครั้นได้ยินเสียงระเบิด ปืนกล เสียงร้องเจ็บปวดข้ามฝั่ง ก็จะกรูลงเรือเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทุกฝ่าย ท่ามกลางห่ากระสุน สะเก็ดระเบิด ไม่หวั่นเกรงภยันตรายใดๆ คล้ายกาชาดสากลและก็น่ามหัศจรรย์ที่ผู้ถืออาวุธสุดจักร้าย ครั้นเห็นเรือพยุงเวชแล่นเข้ามา ดุจพิราบขาวทูตสันติภาพ เป็นสัญญาณให้หยุดยิง รอจนกว่าจะขนย้ายทหาร และประชาชนผู้บาดเจ็บเสร็จก่อน ซึ่งนับว่าเป็นวีรกรรมซ้ำซาก ควรแก่การสรรเสริญวีรบุรุษ-สตรีชุดสีขาวประจำเรือที่ไร้เหรียญตราคณะนี้ “อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลังมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน” (พระราชนิพนธ์ ร. 6)

สมพงษ์ ศรีทานนท์ กับสมอ, พังงา, โซ่เรือพยุงเวช

นายสมพงษ์ ศรีทานนท์ อดีตนายท้ายเรือ (ลูกจ้างประจำ) อายุ 67 ปี เกษียณแล้ว เริ่มบรรจุ พ.ศ. 2508 คุมเรือนี้เรื่อยมาแทนนายบุดดี ได้ถ่ายทอดให้ฟังว่า เรือใหม่นี้ทำความเร็วได้เพิ่มขึ้น ถ้าทวนน้ำ 5-8 น็อต ถ้าตามน้ำจะไม่ให้เกิน 10-12 น็อต (ทะเล) รับรักษาตั้งแต่อำเภอสังคมถึงอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ประมาณ 300 กิโลเมตร ทั้งนำนักศึกษาแพทย์ออกฝึกงานทุกรุ่น เพื่อให้ทราบภารกิจประสบการณ์ริมแม่น้ำโขง และยังจำนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงปัจจุบันได้หลายท่าน

เมื่อครั้งยังเป็นนายท้ายอยู่ เรือพยุงเวช (2) ได้ลำเลียงเวชภัณฑ์ส่งโรงพยาบาล สถานีอนามัยต่างๆ ริมแม่น้ำโขง ทั้งรับคณะกรรมการเหล่ากาชาดปฏิบัติงานเป็นประจำ ทั้งสร้างวีรกรรมยิ่งใหญ่ ช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย พ.ศ. 2509 แต่ครั้ง พ.ศ. 2514 ได้ช่วยเหลืออุทกภัยครั้งใหญ่ตลอด 24 ชั่วโมงหลายวัน เครื่องยนต์เสียหาย เรือชนแก่งหิน จึงเข็นมารอซ่อมหนัก โรงพยาบาลหนองคาย ซึ่งยังเรียก “ซอยพยุงเวช” แต่ทว่าไม่ได้รับงบประมาณจึงปล่อยทิ้งไว้ และเปิดประตูขายเป็นเศษไม้ พ.ศ. 2533 (โธ่) จึงได้ขอสมอ, พังงา, โซ่ไว้เป็นอนุสรณ์

ผมไม่ได้มีเจตนาจะด่าว่าผู้ใดหรือส่วนราชการใดนะครับ (ถ้าใครจะกินปูนร้อนท้องก็ช่วยไม่ได้) ผมก็เพียงแต่ชี้ให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นเศษไม้เศษเหล็กเท่านั้น

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2565