รั้วยาวที่สุดในโลก สิ่งมหัศจรรย์ใหม่จากออสเตรเลีย

รั้วกั้นสุนัขป่า-ดิงโก้ ในออสเตรเลีย รั้วที่ยาวที่สุดในโลก

ในประเทศออสเตรเลียมีบางสิ่งที่น่าทึ่ง และติดอันดับของโลก คือ “รั้วที่ยาวที่สุดในโลก” ยาวกว่ากำแพงเมืองจีนเสียอีก รั้วที่ว่าทำด้วยขดลวดตาข่ายยาวติดต่อกันถึง 3,307 ไมล์ เป็นแนวยาวจากริมทะเล Great Australian Bight ไปจนสุดที่ฝั่งตะวันออกของไร่ผ่านในรัฐควีนส์แลนด์ ห่างจากบริสเบนและมหาสมุทรแปซิฟิก 115 ไมล์

กล่าวกันว่า “ประเทศออสเตรลียถูกสร้างขึ้นมาบนหลังแกะ” แต่ถ้าจะให้ถูกต้องจริงๆ ต้องต่อท้ายด้วยว่า “และสร้างขึ้นภายในรั้วกันสุนัข” ซึ่งมีจุดประสงค์เพียงประการเดียวของการสร้างรั้วนี้ก็เพื่อกันไม่ให้ “ดิงโก้” สุนัขป่าในออสเตรเลียข้ามฝั่งมากินแกะ โดยความสูงของรั้ว 6 ฟุต ทำด้วยลวดเป็นตาข่ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอบรั้วด้านบนติดลวดหนาม ด้วยเหตุที่ว่าแกะเป็นสัตว์ศรษฐกิจที่ทำรายได้อย่างงามให้กับคนในพื้นที่ที่มีอาชีพเลี้ยงแกะเพื่อตัดขนขาย คิดเป็นมูลค่าของธุรกิจส่งออกขนสัตว์ได้ถึงปีละ 400 ล้านเหรียญ

รั้วกันสุนัขนี้จึงนับเป็นพรมแดนของออสเตรเลียที่สร้างรายได้อย่างชาญฉลาด เพราะถ้าไม่มีรั้วกันสุนัข อุตสาหกรรมขนแกะในวันนี้อาจจะเหลือเพียงเรื่องราวในประวัติศาสตร์

รั้วกันสุนัขกลายเป็นเครื่องแบ่งเขตแดนระหว่างดิงโก้ (ด้านนอก) และแกะ (ด้านใน) พื้นที่ด้านนอกนั้นรกแล้ง ว่างเปล่า ส่วนด้านในลึกเข้าไปเป็นเขตฝนกตกชุก เป็นเขตเมือง มีฟาร์ม เส้นทางรถยนต์ และสนามหญ้า ซึ่งเขตด้านในนี้สุนัขป่าทุกตัวล้วนเสี่ยงต่อการหมายหัว ไม่ว่าจะโดยการถูกวางยา วางกับดัก หรือกระทั่งยิงทิ้งอย่างชอบด้วยกฎหมาย

ดิงโก้ เป็นสุนัขป่าที่สืบสายตระกูลมาจาก Canis Lupus Dingo สุนัขป่าในแถบเอเชียเป็นญาติๆ กับหมาใน ซากกระดูกที่เหลืออยู่ของมันบอกให้ทราบว่า เจ้าดิงโก้มาปักหลัก ณ ดินแดนแห่งนี้เมื่อ 3,500 ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าอาจจะมาพร้อมกับกะลาสีเรือชาวเอเชียที่มาเทียบท่าชายฝั่งทางเหนือเพื่อการค้า ชั่วเวลาไม่นานมันก็แพร่พันธุ์ครอบครองดินแดนแห่งนี้จนกลายเป็น “เจ้าแห่งนักล่า”

ดิงโก้ดูเหมือนสุนัขจิ้งจอกตัวเล็กๆ ขายาว หูสั้นชี้ หางเป็นพวง เป็นนักล่าที่มีความพากเพียรไม่น้อย ล่าสัตว์ทุกชนิดตั้งแต่จิงโจ้ กระต่าย กระทั่งสัตว์จำพวกตะกวด

สงครามระหว่างคนเลี้ยงแกะและเจ้าดิงโก้เริ่มต้นขึ้นไม่นานหลังจากที่ชาวออสเตรเลียลงหลักปักฐานบนแผ่นดินแห่งนี้ในปี ค.ศ. 1788 พร้อมกับนำแกะเมอริโนมาเป็นสินค้า

ปี ค.ศ. 1830 ดิงโก้ก็กลายเป็นสัตว์นอกกฎหมาย โดยครั้งแรกมีการตั้งค่าหัวไว้หัวละ 2 ชิลลิง ปัจจุบันค่าหัวของดิงโก้ที่ข้ามมาฆ่าแกะในเขตรั้วสูงถึง 500 ดอลลาร์

ลอรี่ คอร์เบตต์ นักวิจัยดิงโก้ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีแกะเข้ามาอยู่ในทวีปนี้ จำนวนดิงโก้ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่า ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากกว่าล้านตัว ที่สุดทางการก็เห็นชอบกับเจ้าของธุรกิจให้มีการจัดการดูแล รวมถึงซ่อมแซมรั้วในส่วนที่ทรุดโทรม โดยที่แนวรั้วส่วนที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุเฉียดร้อยปี

แนวรั้วกันสุนัขในเขต 3 รัฐได้รับการเชื่อมต่อกันไปตามแนวเขตพรมแดนรัฐ ในปี ค.ศ. 1960 โดยส่วนในรัฐควีนส์แลนด์ยาวสุดคือ 1,591 ไมล์ ตามด้วยออสเตรเลียใต้ยาว 1,353 ไมล์ และนิวเซาธ์เวลส์ยาว 363 ไมล์

นอกจากรั้วกันสุนัขจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมขนแกะของออสเตรเลีย ยังช่วยสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่นคือ อาชีพลาดตระเวนแนวรั้วเพื่อตรวจสภาพความสมบูรณ์ของรั้ว ซึ่งบางช่วงก็พังเพราะน้ำท่วมบ้าง พายุทรายบ้าง บ้างก็ถูกสนิมกร่อน ถูกต้นไม้โค่นลงมาทับ ไหนจะมีสัตว์ที่ชอบขุดรูใต้รั้วมุดเข้ามาอีก จึงต้องมีคนลาดตระเวนเพื่อซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหาย รวมทั้งทำการวางกับดักหรือยิงเจ้าดิงโก้ตัวร้าย

“ประเทศแกะ” ภายในเขตรั้วจึงเป็นเขตปลอดดิงโก้ หรือถ้าจะพบเจอก็เป็นดิงโก้ที่ปราศจากลมหายใจแล้ว ถูกมัดขาห้อยหัวอยู่กับแนวเสารั้ว

แต่ใช่ว่ารั้วกันสุนัขจะให้ผลดีไปหมด เพราะมันมีส่วนที่ทำให้ระบบนิเวศน์ของป่าแห่งนี้เสียหายเช่นกัน เนื่องจากเมื่อภายในเขตรั้วปลอดจากเจ้าแห่งนักล่า ประชากรจิงโจ้ซึ่งเคยเป็นอาหารของดิงโก้ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของแกะที่คอยแย่งน้ำแย่งอาหาร ที่สุดทางการก็เลยวางมาตรการใหม่คัดสรรจิงโจ้ปีละประมาณ 3 ล้านตัว ไว้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศออสเตรเลีย ที่เหลือก็เปิดทางให้ฆ่าได้โดยสะดวก เฉพาะที่เขต Mulgathing นักแม่นปืนล่าจิงโจ้ได้ถึงปีละ 7,000 ตัว

การที่ฆ่า (จิงโจ้) ได้ฆ่าดีเช่นนั้นปีละมากๆ ไม่ได้แค่จะพิทักษ์ชีวิตของแกะน้อยที่น่าสงสารเท่านั้น แต่เพราะเนื้อจิงโจ้เริ่มจะเป็นที่นิยมบริโภคในท้องตลาด ซึ่งประเด็นนี้ทำให้นักอนุรักษนิยมมักหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงในเรื่องที่ว่ารั้วกันสุนัขทำให้ระบบนิเวศน์แปรปรวนไปหมด ทั้งยังเป็นการทำลายวงจรชีวิตสัตว์ป่า แต่ก็ไม่ได้หัวชนฝาที่จะให้ล้มรั้วแล้วยอมให้เจ้าดิงโก้เข้ามาอยู่ร่วมกับจิงโจ้เหมือนเดิม

เหตุผลประการสำคัญนั้นอาจจะเป็นเพราะ “ตราบใดที่ยังมีรั้วนี้ ตราบนั้นเท่ากับเป็นการต่ออายุของออสเตรเลียทั้งประเทศ ถ้าไม่มีรั้ว ก็ไม่มีธุรกิจ ไม่มีงาน”

รั้วกันสุนัขแห่งนี้จึงยังคงมีอยู่ และครองสถิติเป็นรั้วที่ยาวที่สุดในโลก ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาเที่ยวชม สัมผัสและลองปีนป่ายแบบเจ้าดิงโก้อีกต่างหาก

สรุปจาก “Traveling Australia’s Dog Fence” National Geographic April 1997 โดย Thomas O’Neil

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2565