มหาดเล็กขับรถม้าพระที่นั่งตกคลอง โทษถึงประหาร รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินอย่างไร?

ข้าราชบริพารที่ถวายงานรับใช้พระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด ต้องปฏิบัติงานมิให้ขาดตกบกพร่อง เพราะถ้าหากเกิดความผิดพลาดย่อมทำให้เกิดผลเสียใหญ่หลวง โดยเฉพาะกับ “มหาดเล็ก” ที่มีหน้าที่ดูแลพระมหากษัตริย์ชนิดที่เรียกว่า ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม

งานหนึ่งของมหาดเล็กอย่าง พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ล. วราห์ กุญชร) คือเป็นมหาดเล็กสารถีขับรถพระที่นั่ง (เทียมม้า) ให้กับรัชกาลที่ 5 แต่มีครั้งหนึ่งที่พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ขับรถม้าพระที่นั่งจนตกคลอง เป็นเหตุถึงขั้นต้องโทษประหาร เรื่องนี้ ไกรฤกษ์ นานา เขียนเล่าไว้ในบทความ “ปิยมหาราชานุสรณ์ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกบันทึก” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551 ดังนี้


 

เบื้องหลังมหาดเล็กต้องโทษประหาร สมัยรัชกาลที่ 5 ทำไมถึงรอดไปได้?

ปูมหลังสมัยรัชกาลที่ 5 สยามประเทศเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งความทันสมัย เฉกเช่นอารยประเทศในเวลานั้น โปรดให้ยกเลิกประเพณีโบราณที่ล้าหลังและป่าเถื่อน ทั้งยังโปรดให้มีการตรากฎหมายลักษณะอาญาขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาผู้กระทำผิด แต่ถ้าตรวจทานดี ๆ จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มีข้าราชสำนักเข้าไปพัวพันแล้ว ก็จะพบว่าเคยมีกรณีที่พระมหากษัตริย์ยังจำต้องทรงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเมื่อเกิดความชอบธรรม ที่จะต้องพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยกับความผิดของข้าราชบริพารเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง ซึ่งสวนกับหลักการที่มีพระราชประสงค์ให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม

ดังกรณีของมหาดเล็ก…ชื่อ พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ล. วราห์ กุญชร) เมื่อมียศเป็นหลวงฤทธินายเวร มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในประวัติของพระยาเทเวศรฯ ด้วยเป็นเครื่องแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณอันสมเด็จพระปิยมหาราชทรงมีต่อพระยาเทเวศรฯ และเป็นการแสดงถึงพระอัจฉริยลักษณ์แห่งพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นด้วย

คือ ในระหว่างที่มีการก่อสร้างพระราชวังดุสิต สมเด็จพระปิยมหาราช เสด็จทรงตรวจตราการก่อสร้างทุกวันเกือบเป็นประจำ ในระยะนั้นกรมม้าได้รับม้าเทศงามคู่หนึ่งเข้ามาจากสิงคโปร์ สมเด็จพระปิยมหาราชโปรดม้าคู่นั้นมาก มีพระบรมราชโองการให้ใช้เทียมรถพระที่นั่ง แต่ม้านั้นบังเอิญมีขวัญที่สีข้างซ้ายประเภทที่เรียกว่าแร้งกระพือปีก ซึ่งตามตำราม้าถือว่าเป็นลักษณะไม่ดี ไม่ควรใช้เทียมรถพระที่นั่ง ทางกรมม้าได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ แต่รับสั่งว่าให้ลองดู ทางกรมม้าได้ลองใช้ ปรากฏว่าม้าคู่นี้มีลักษณะตื่นง่ายไม่เป็นที่ไว้วางใจ สมเด็จพระปิยมหาราชรับสั่งกับพระยาเทเวศรฯ ผู้เป็นสารถีว่า “ไม่เป็นไร”

วันหนึ่งเวลาเย็นเสด็จฯ กลับจากวัดเบญจมบพิตร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง เช่นเดียวกับพระราชวังดุสิต ซึ่งถ้าจะกล่าวด้วยภาษาสมัยนี้ ก็ย่อมว่าอยู่ในโครงการเดียวกัน รถพระที่นั่งขับเลียบคลองเปรมประชากร ไปตามถนนซึ่งยังไม่เรียบร้อย มีลวดหนามกั้นริมคลองเป็นตอน ๆ มาถึงทางเลี้ยวตอนหนึ่ง มีรถแขก (น่าจะเป็นเกวียนเทียมด้วยวัว-ผู้เขียน) บรรทุกหญ้าสวนมาโดยกะทันหัน ม้าเทียมรถตื่นหันไปครูดกับลวดหนาม เลยตกใจมากพารถพระที่นั่งออกวิ่ง สารถีจะใช้วิธีบังคับใด ๆ ก็ไม่สำเร็จ

พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ล. วราห์ กุญชร) (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551)

พระยาเทเวศรฯ ได้หันมากราบบังคมทูลว่า ไม่สามารถจะให้ม้าลดฝีเท้าลงได้ จะต้องทำให้หยุดด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง สมเด็จพระปิยมหาราชรับสั่งว่า “ทำอย่างไรก็ตามใจเอ็ง” พระยาเทเวศรฯ จึงได้ตัดสินใจชักม้าให้ลงไปในคลองตื้นตอนหนึ่ง รถพระที่นั่งลงไปตะแคง ล้อติดบนถนนข้างหนึ่งและลงไปในโคลนข้างหนึ่ง ด้วยเดชะพระบุญญาภินิหารมิได้มีผู้บาดเจ็บ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา ตามเสด็จไปด้วยก็มิได้ตกพระทัยมากมายแต่อย่างใด และได้เสด็จฯ กลับถึงพระบรมมหาราชวังโดยปกติ

เจ้าพระยาเทเวศรฯ (มีชื่อเหมือนกันกับบุตรซึ่งก็คือพระยาเทเวศรฯ-ผู้เขียน) ซึ่งเป็นจางวางมหาดเล็กและบังคับราชการกรมม้าด้วย เมื่อทราบข่าวก็รีบเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พอทอดพระเนตรเห็นเจ้าพระยาเทเวศรฯ ก็มีพระราชดำรัสว่า “เทเวศรไอ้อู๊ดขับรถไปลงคลอง” เจ้าพระยาเทเวศรฯ กราบบังคมทูลว่า “ทำความผิดเช่นนี้ เป็นความผิดถึงประหาร” สมเด็จพระปิยมหาราชรับสั่งว่า “ไอ้อู๊ดมันไม่ได้ทำ ม้ามันทำ” แล้วก็ทรงพระสรวล และมิให้ลงพระราชอาญาอย่างใด พระยาเทเวศรฯ เล่าว่า ท่านบิดารู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างสุดซึ้ง แต่ก็ได้แสดงความไม่พอใจที่ผู้เป็นลูกมิได้ถูกลงพระราชอาญาอย่างใดอยู่เป็นเวลานาน

กรณีของพระยาเทเวศรฯ หากวิเคราะห์ให้ดีก็เป็นความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เช่นมหาดเล็กคนอื่น ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตของผู้ประสบเหตุ ซึ่งหากเป็นองค์พระมหากษัตริย์แล้ว ย่อมเป็นความบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงของผู้ปฏิบัติ ซึ่งต้องได้รับโทษทัณฑ์ แต่เนื่องจากทรงตัดสินอย่างฉับพลันทันที ว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยและทรงโยนความผิดให้ม้าเป็นผู้รับผิดชอบแทน พระยาเทเวศรฯ จึงรอดตัวไปได้อย่างหวุดหวิด

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2565