ผู้เขียน | กานต์ จันทน์ดี |
---|---|
เผยแพร่ |
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ปล่อยไก่ตัวใหญ่หลังออกมาอ้างว่า แอนดรูว์ แจ็คสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 7 โกรธแค้นอย่างมากที่ต้องมาเห็นประเทศเกิดสงครามกลางเมือง ทั้งๆ ที่แจ็คสันตายไปก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามถึง 16 ปี
“ผมว่าถ้าแอนดรูว์ แจ็คสันได้อยู่ [ในตำแหน่ง] หลังจากนั้นสักหน่อย สงครามกลางเมืองคงไม่เกิดขึ้นหรอก เขาเป็นคนแกร่งมาก และเขาโกรธสุดๆ เลยที่ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามกลางเมือง คือมันไม่มีเหตุผลเลยนะ” ทรัมป์กล่าว
ขณะที่ความจริงแล้ว แอนดรูว์ แจ็คสัน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 1829-1837 (พ.ศ. 2372-2380) และเสียชีวิตลงในปี 1845 (พ.ศ. 2388) ส่วนสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ เริ่มขึ้นในปี 1861 (พ.ศ. 2404) 16 ปี หลังจากที่ แจ็คสัน เสียชีวิต จึงเป็นเรื่องยากมากที่เขาจะเคยให้ความเห็นเรื่องสงครามกลางเมืองที่ตัวเองไม่เคยพานพบมาก่อน
แต่ท่านประธานาธิบดีทรัมป์ ยังไม่ยอมแพ้ เขาได้ทวีตข้อความในตอนหลังแก้เก้อว่า “ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว 16 ปี ก่อนสงครามกลางเมืองจะเริ่มขึ้น เขามองเห็นก่อนแล้วว่ามันจะเกิดขึ้น และโกรธ เขาจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นแน่นอน!”
President Andrew Jackson, who died 16 years before the Civil War started, saw it coming and was angry. Would never have let it happen!
— Donald J. Trump (@realDonaldTrump) May 2, 2017
รายงานของนิวยอร์กไทม์บอกว่า ความเห็นของทรัมป์ ที่ให้สัมภาษณ์กับซาลีนา ซีโต (Salena Zito) ทางช่องวิทยุดาวเทียมเมื่อวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2017 ทำให้นักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์ร่วมกันออกมาประณามความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงในประวัติศาสตร์อเมริกันของท่านผู้นำ
จูเลียน อี. เซลิเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และนโยบายสาธารณะจากพรินซ์ตัน (Princeton University) บอกว่า ความเห็นของทรัมป์ เกี่ยวกับแจ็คสัน ในเหตุการณ์สงครามกลางเมืองถือเป็น “การรื้อสร้างประวัติศาสตร์ที่ขัดต่อความเป็นจริงขั้นสูงสุด”
“ประธานาธิบดีทั้งหลายควรจะมีความตระหนักต่อประวัติศาสตร์ของชาติ เนื่องจากพวกเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไปด้วย” เซลิเซอร์กล่าว
ทางนิวยอร์กไทม์ ยังได้สอบถามจอน มีแชม (Jon Meacham) นักประวัติศาสตร์ที่เขียนประวัติของแอนดรูว์ จอห์นสัน ในปี 2008 และได้รางวัลพูลิเซอร์จากหนังสือเล่มนี้ว่า ความเห็นเกี่ยวของทรัมป์ ต่อแจ็คสันมันถูกต้องแม่นยำขนาดไหน
มีแชมบอกว่า ความเห็นของทรัมป์ในหลายๆ เรื่องต่อแจ็คสันไม่ได้มั่วไปทั้งหมด เช่นเรื่องที่ว่า ในการเลือกตั้ง แจ็คสันถูกโจมตีใส่ร้ายอย่างรุนแรง ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่การสาดโคลนก็เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย
และเรื่องที่ว่าการหาเสียงเลือกตั้งเป็นผลให้ภรรยาของแจ็คสันต้องตายก็ถูกอยู่ อย่างน้อยแจ็คสัน ก็เชื่อว่าภรรยาของเขาตกเป็นเหยื่อการถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับแจ็คสัน และทำการสมรสซ้อน จนเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอต้องตรอมใจจนเสียชีวิตลงหลังจากนั้นไม่นาน
“ไม่ต้องสงสัยเลย แจ็คสันเชื่อว่า การรณรงค์หาเสียงคือสิ่งที่ฆ่าภรรยาของเขา” มีแชมกล่าว
แต่ถ้าถามเรื่อง สงครามกลางเมืองกับความเห็นของทรัมป์ มีแชมกล่าวว่า ทรัมป์อาจจะสื่อถึงวิกฤตแห่งโมฆกรรม (Nullification Crisis) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แจ็คสันดำรงตำแหน่งอยู่ และแจ็คสันก็มีจุดยืนหนักแน่นที่จะคงไว้ซึ่งการรวมตัวของสหพันธรัฐ (พูดง่ายๆ ว่า ทรัมป์อาจจะสับสนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน)
วิกฤตดังกล่าวเกิดจากรัฐเซาธ์แคโรไลนาไม่ยอมรับการออกกฎหมายของรัฐบาลกลางและอ้างว่ากฎหมายว่าด้วยการเก็บภาษีฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะไม่สามารถบังคับใช้ในรัฐของตัวเองได้ ความขัดแย้งเกือบขยายตัวเป็นการเผชิญหน้าด้วยกำลัง หลังแจ็คสันเองก็เตรียมใช้กำลังทหารเข้าบังคับ ทางรัฐเซาธ์แคโรไลนาก็เตรียมระดมกำลังไว้รับมือ แต่ทุกอย่างจบลงได้ด้วยการประนีประนอม
แต่หากแจ็คสัน มีชีวิตยืนยาวมาถึงสมัยที่เกิดสงครามกลางเมืองจุดยืนของแจ็คสันจะเป็นอย่างไรนั้น มีแชมบอกว่า มันเป็นเรื่องที่ยากจะเดาเพราะสงครามนี้เกิดขึ้นด้วยอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันของฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้เรื่องระบบทาส ซึ่งแม้แจ็คสันจะเป็นผู้ที่ยึดมั่นในการรวมตัวเป็นสหพันธรัฐ แต่เขาก็เป็นผู้ที่ชื่นชอบในระบอบทาสเหมือนกัน
เรื่องที่เขาจะเข้าข้างใด หรือว่าจะโกรธอย่างที่ทรัมป์อ้างหรือไม่ จึงเป็นคำถาม หรือคำตอบที่เกิดจากการสมมติหรือมโนเป็นหลัก
ด้าน นูวต์ กิงกริช (Newt Gingrich) อดีตโฆษกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน และอดีตอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ช่วยแก้ต่างให้กับทรัมป์ว่า “ทรัมป์ไม่ใช่นักศึกษาประวัติศาสตร์ ทรัมป์เป็นผู้สร้างกิจการที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ เขาเรียนรู้ในสิ่งที่เขาจำเป็นต้องรู้ ทรัมป์เรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างที่เขาบริหาร”
นี่แปลว่า ประวัติศาสตร์จะบอกเล่าแบบผิดๆ ก็ได้ ถ้าคนพูดเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเหรอท่าน!
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2560