นัยยะการพัฒนาคำ จาก “ชาวบ้าน” สู่ “พลเมือง” ผลจากการขยายตัวโครงสร้างสังคม-เศรษฐกิจ

ภาพชาวนาในประเทศไทย (THAILAND-COMMODITIES-RICE / AFP)

การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมีมาอย่างยาวนาน โดยที่ช่วงสำคัญคือทศวรรษ 2500 ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนในประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างไพศาล รวมถึงการขยายตัวของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคม

เวลาต่อมานโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นไปที่ชนบทช่วงทศวรรษ 2540 ได้ส่งผลให้ชนบทพัฒนาขึ้นตามลำดับ เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความคิด ทัศนคติเกี่ยวกับกับการเมือง ซึ่งสะท้อนออกมาในหลายรูปแบบ อาทิ การเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงอาชีพ รวมไปถึงภาษา นั่นคือ การใช้คำว่า “ชาวบ้าน” มีความหมายแปรเปลี่ยนไป และมีนัยยะของการจัดความสัมพันธ์กับรัฐในเชิงการเป็น “พลเมือง” เพิ่มเข้ามา

Advertisement

ในหนังสือ ลืมตา อ้าปาก จาก “ชาวนา” สู่ “ผู้ประกอบการ” ของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อธิบายไว้ดังนี้


 

ในฐานะที่ “ภาษา” เป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างมนุษย์ที่สำคัญที่สุด “ภาษา” จึงกลืนเอาความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเพื่อยกระดับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ออกมาสื่อสารกันได้ การแสดงออกทาง “ภาษา” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา เพื่อที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมได้แจ่มชัดขึ้น

ในหมู่คนทั่วไปในชนบท การใช้คำว่า “ชาวบ้าน” ก็มีการเปลี่ยนแปลงความหมายไป จากเดิมตั้งแต่สมัยการพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการขยายรัฐออกไปอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย คำว่า “ชาวบ้าน” ที่หยิบยืมมาใช้นั้น เป็นคำที่มีความหมายรวมๆ ถึงคนทั่วไปที่ไม่ใช่ “พ่อค้า” และ “ข้าราชการ” คำคำนี้ได้ถูกนำมาใช้ควบคู่กับคำว่า “เจ้าหน้าที่” ในระดับต่างๆ

กล่าวคือ ชาวบ้านจะใช้คำว่า “ชาวบ้าน” ในสภาวะที่ตนเป็นผู้ต่ำต้อยกว่า “นาย” และต้องรอรับคำสั่งหรือความช่วยเหลือต่างๆ จาก “นาย” ซึ่งความหมายนี้จะแตกต่างจากการใช้ในสมัยโบราณ ดังปรากฏในกฎหมายตราสามดวงที่คำว่า “ชาวบ้าน” ถูกใช้ในการแบ่งประเภทของผู้ที่จะมาเป็นพยาน เช่น ชาวเรือ ชาวบ้าน ชาวนา (คนที่อยู่ในนา)

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมอย่างสำคัญ หน้าต่างแห่งโอกาสในการเลื่อนชั้นเปิดกว้างกว่าเดิม ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของผู้คนทั้งในเขตชนบทและเมืองก็เปลี่ยนไปจนเกือบจะไม่เหลือแกนกลางของความสัมพันธ์แบบเดิมอีก

ความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้การใช้คำว่า “ชาวบ้าน” มีความหมายแปรเปลี่ยนไป เวลาชาวบ้านใช้คำว่า “ชาวบ้าน” แทนตัวเองหรือกลุ่มของตน จะมีนัยของการจัดความสัมพันธ์กับรัฐในเชิงการเป็น “พลเมือง” ที่รัฐต้องยอมรับและ “เคารพ” ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เมื่อมีการต่อต้านโครงการรัฐ ชาวบ้านจะใช้คำประกอบที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจของพลเมืองว่า “รัฐไม่ฟังเสียงชาวบ้านไม่ได้ โครงการนี้ชาวบ้านไม่ยอมรับ”

หรือในระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น หากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือนายกเทศมนตรีคนใดถูกครหาว่า “ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน” แล้วละก็ มั่นใจได้เลยว่าจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ อัตราการเปลี่ยนตัวผู้นำในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงสูงมาก และสาเหตุสำคัญที่ทำให้สอบตกก็คือข้อกล่าวหาที่ว่า “ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน” นั่นเอง

จึงทำให้มีคำพูดเชิงทีเล่นทีจริงที่มีต่อนายกองค์กรบริหารส่วนตำบลที่ชาวบ้านชื่นชมในทำนองว่า “นายกติดดิน ลูกบ้านสั่งอะไรก็ได้” และนักการเมืองท้องถิ่นทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่งหรือพ่ายแพ้การเลือกตั้งไปแล้วในทุกพื้นที่ (ของการวิจัย) ก็มีความเห็นตรงกันว่าชาวบ้านในปัจจุบันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

การจัดลำดับความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับกลไกอำนาจรัฐส่วนกลางก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กล่าวคือ ในงานเฉลิมฉลอง/งานประเพณีส่วนตัว/ส่วนครอบครัว เช่น งานแต่งงาน งานศพ ฯลฯ ของคนในชุมชนท้องถิ่น ประธานในพิธีจะเป็นนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากจะเป็นงานระดับท้องถิ่นที่กว้างขวางกว่าชุมชนหลายชุมชน จึงจะเชิญนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธาน

ร่องรอยความเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกในระดับสังคมทั่วไปอีกประการที่เห็นได้ชัดขึ้น ดังจะพบว่าพนักงานขายทั้งหลายจะเปลี่ยนสรรพนามที่ใช้เรียกฝ่ายผู้ซื้อ ซึ่งแต่เดิมอาจใช้สรรพนามว่าลุง ป้า น้า อา

และต่อมาก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่เรียกผู้ซื้อด้วยคำใดๆ ในเชิงนับญาติ แต่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา การตกตะกอนในการใช้คำสรรพนามกับผู้ซื้อก็เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ดังจะพบว่า มีการใช้คำว่า “ลูกค้า/คุณลูกค้า” ได้อย่างสบายใจ เพราะไม่ต้องแสดงความใกล้ชิดแบบเดิมอย่างเครือญาติเสมือน ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องกระอักกระอ่วนใจที่ต้องประเมินผู้ซื้อว่าเป็นคนระดับใด จะใช้คำว่า “ท่าน” ดีหรือไม่ หรือหากใช้คำว่า “คุณ/ผม” ก็อาจดูเท่าเทียมกันเกินไป ซึ่งจะก่อความอึดอัดต่อทั้งสองฝ่าย…

ความเปลี่ยนแปลงของ “ภาษา” ที่ใช้ในการสื่อสารกันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างความรู้สึกที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงสู่สำนึกของความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง แต่ก็ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างของการยอมรับความเหลื่อมล้ำแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2565