“อำนาจปืน”  = “อำนาจรัฐ” เปิดกระบวนการและปัญหาของการรัฐประหาร

ภาพทหารประเทศไทยหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 (THAILAND-POLITICS / AFP )

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง) ซึ่งนับว่าเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประเทศไทย

ปฏิบัติการรัฐประหารโดยส่วนใหญ่จะกระทำโดยกองทัพที่มีอาวุธและกองกำลังทหารในการยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดก่อนและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา โดยในหนังสือ เสนาธิปไตย : รัฐประหารกับการเมืองไทย ของ สุรชาติ บำรุงสุข (มติชน, 2558) ได้อธิบายกระบวนการและปัญหาของการรัฐประหาร ดังนี้


 

กระบวนการทำรัฐประหารมักจะเกิดจากการรวมตัวกันในลักษณะของการจัดตั้งของนายทหารกลุ่มเล็กๆ โดยพวกเขาจะต้องมีความเชื่อมั่นว่า ทุกคนจะต้องมีวินัยในการรักษาความลับอย่างยิ่งยวด เพราะหากแผนการทำรัฐประหารหลุดออกไปถึงมือเจ้าหน้าที่รัฐบาลแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าไม่มีรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจใดจะยอมปล่อยให้เกิดการยึดอำนาจขึ้น และข้อหาของผู้ทำรัฐประหารที่ล้มเหลวก็มีแต่เพียงประการเดียวคือ “กบฏ”

ดังนั้น นอกจากจะต้องมีลักษณะจัดตั้งแล้ว นายทหารเหล่านี้ยังจะต้องทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างของตนเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะต้องทำให้การยึดอำนาจประสบความสำเร็จ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ในเบื้องต้นก็คือ กำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตน

ในบางกรณีก็ยังจะต้องรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินอีกด้วย เพราะการทำรัฐประหารย่อมไม่ประสบความสำเร็จ หากขาดความสนับสนุนของกลุ่มทุนที่ยืนอยู่ตรงข้ามรัฐบาล กลุ่มทุนจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความสนับสนุนด้านการเงินในการเคลื่อนไหวของฝ่ายทหาร

ปรากฏการณ์เช่นนี้มักจะมีอยู่กับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ เพราะการเคลื่อนไหวของทหารในการต่อต้านรัฐบาลจะพึ่งพิงอยู่กับงบประมาณตามปกติของหน่วยย่อมเป็นไปไม่ได้ และในขณะเดียวกันก็อาจจะถูกตรวจสอบได้ง่ายจากรัฐบาล

การตัดสินใจสุดท้ายในการเคลื่อนกำลังจะต้องเป็นการกระทำอย่างรวดเร็ว เพราะการใช้กำลังทหารเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ในเมืองหลวง อาจจะประสบปัญหาการต่อต้านจากกองทหารฝ่ายรัฐบาลได้ง่าย เพราะเมืองหลวงของทุกประเทศจะต้องมี “แผนเผชิญเหตุ” รองรับไว้เป็นปกติ เพื่อป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดจลาจลหรือการมีกองกำลังส่วนอื่นบุกเข้ายึดเมืองหลวง

ดังนั้น การตัดสินใจในการใช้กำลังจะต้องมีลักษณะของ “ความเร็ว” และทั้งยังจะต้องให้เป็นไปในลักษณะของ “การจู่โจม” เพื่อไม่ให้กองกำลังของฝ่ายรัฐสามารถออกมาปฏิบัติการตอบโต้ได้

ฉะนั้น “ยุทธการยึดเมือง” จึงเป็นหัวใจที่นักรัฐประหารทุกคนจะต้องคิดวางแผนไว้ล่วงหน้า ความสำเร็จในการยึดจุดยุทธศาสตร์ของเมืองหลวง มีส่วนทำให้กองกำลังที่ยังไม่ตัดสินใจร่วมฝ่าย อาจจะยอมเป็นกลาง หรือในที่สุดอาจจะเข้าร่วมด้วย เพราะไม่มีนายทหารคนไหนต้องการอยู่กับ “ผู้แพ้”

ปัญหาใหญ่ที่สุดที่นักรัฐประหารในทุกกรณีจะต้องเผชิญก็คือ “ปัญหาความชอบธรรม” เพราะเป็นเรื่องปกติที่เมื่อการรัฐประหารสิ้นสุดลง ก็จะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแทนที่รัฐบาลที่ถูกโค่นลง ซึ่งรัฐบาลใหม่อาจจะอยู่ในรูปแบบของรัฐบาลทหารเต็มรูป หรืออาจจะเป็นผสมระหว่างทหารกับพลเรือน โดยมีทหารเป็นผู้นำรัฐบาล หรืออาจจะเป็นรัฐบาลพลเรือนที่ถูกหยิบขึ้นมาให้เป็นผู้นำ แต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร

ในสภาพเช่นนี้ คณะรัฐประหารและรัฐบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นจากการรัฐประหาร จึงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากกับปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ใช้วิธีการล้มรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะพอสร้างความชอบธรรมได้บ้างในยุคสงครามเย็นโดยอาศัยการสนับสนุนของรัฐมหาอำนาจใหญ่ แต่ในสถานการณ์การเมืองโลกแบบโลกาภิวัตน์ ความชอบธรรมของการยึดอำนาจเป็นสิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศไม่ให้การยอมรับ

ผู้นำทหารอาจจะแก้ไขด้วยการสร้างความเป็นประชานิยมเพื่อให้เกิดความชอบธรรม (Popular Legitimating) แก่การขึ้นสู่อำนาจของตน หรืออาศัยประเทศมหาอำนาจเป็นเครื่องช่วยพยุงภาพลักษณ์ แต่ก็คงจะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ยิ่งสังคมมีการพัฒนามากขึ้นเท่าใดอุปสรรคที่จะทำให้ผู้นำกองทัพต้องเผชิญกับปัญหาความชอบธรรมจากการยึดอำนาจก็ยิ่งมีมากขึ้น

ปัจจัยเช่นนี้มีส่วนอย่างมากต่อการทำให้กองทัพในหลายๆ ประเทศต้องลดบทบาททางการเมืองลง เพราะกระบวนการสร้างความธรรมของการนำเอากองทัพกลับเข้าสู่เวทีการเมืองนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับในฐานะความเป็นการเป็นการเมืองที่เป็นสากล อันมีนัยหมายถึงกระบวนการทางการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกติกา และมีการเลือกตั้งเป็นปัจจัยชี้ขาดสำหรับการขึ้นสู่อำนาจในการเป็นรัฐบาล ไม่ใช่การจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้อำนาจของรถถัง

หากกล่าวโดยสรุป รัฐประหารก็คือสิ่งที่ประธานเหมาได้กล่าวไว้ “อำนาจปืน” = “อำนาจรัฐ” หรืออีกนัยหนึ่งคือ กระบวนการตัดสินชี้ขาดการยึดกุมอำนาจทางการเมืองด้วย “อำนาจปืน” นั่นเอง

ผู้ชี้ขาดในกระบวนการนี้เป็น “รถถัง” ไม่ใช่ “รถหาเสียง” แต่กระบวนการเช่นนี้ย่อมมีค่าใช้จ่ายทางการเมืองสูง และมีมูลค่าของความชอบธรรมที่จะต้องแสวงหา

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2565