นักเลงโตหรือเปล่า? “การโจมตีล่วงหน้าเพื่อป้องกันตนเอง”

ทหารของหน่วยกองกำลังพิเศษ Kraken ของยูเครนเดินผ่านบ้านที่ถูกทำลายในหมู่บ้าน Rus'ka Lozova ในเขต Kharkiv เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 (Dimitar DILKOFF / AFP)

ขณะที่ยูเครนรู้สึกไม่ปลอดภัยนับจากรัสเซียเข้ายึดไครเมีย และตั้งรัฐบางร่างทรงที่ดอนบาส ในปี 2014 รัสเซียเองก็รู้สึกถูกคุกคามเมื่อยูเครนมีทีท่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี 2022 รัฐบาลรัสเซียตัดสินใจโจมตียูเครน

วิธีการเช่นนี้ คนทั่วไปว่า “ลงมือก่อนได้เปรียบ” หากผู้นำประเทศว่า “การโจมตีล่วงหน้าอื่นเพื่อป้องกันตนเอง” ซึ่งในเวทีการเมืองโลก เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “บาดแผลอเมริกา : สงครามกับเสรีภาพในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา” (สนพ.มติชน, 2547) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 11 กันยา (หรือ 9/11 ในภาษาอเมริกัน) และโดยเฉพาะก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปีที่แล้ว เพราะจุดขายเรื่องสงครามกับการก่อการร้ายทำให้พรรครีพับลิกันของนายบุชได้เสียงสนับสนุนมากขึ้น ในขณะที่ก็สามารถปิดปากและลดคะแนนเสียงของพรรคเดโมแครตลงไปได้ด้วย

หลังจากประธานาธิบดีบุช จูเนียร์รายงานปัญหาของอิรักที่ไม่ทำตามมติยูเอ็น แต่ยังสะสมและสร้างอาวุธทำลายล้างขนาดใหญ่มากขึ้น แล้วจะให้สหรัฐและประเทศทั่วโลกทำอย่างไร ตรงนี้ก็มาถึงจุดสำคัญของการนำเสนอสิ่งที่ผมเรียกว่า “ทฤษฎีสงคราม” ของรัฐบาลจอร์จ บุช เขากล่าวว่า

“The United States of America has the sovereign authority to use force in assuring its own national security.”

“สหรัฐอเมริกามีอำนาจอันชอบธรรมในการใช้กำลัง (อาวุธ) ในการปกปักรักษาความมั่นคงของชาติตน” ทั้งนี้โดยอ้างความชอบธรรมจากการผ่านมติของสภาคองเกรสและผ่านองค์การสหประชาชาติด้วย แต่รายละเอียดของปัญหาและความขัดแย้งในองค์การสหประชาชาติ ไม่ได้มีการนำมาพูดถึง รวมถึงการตัดสินใจเข้าสู่สงครามของสหรัฐ ในขณะที่กรรมาธิการตรวจสอบอาวุธของยูเอ็นกำลังปฏิบัติงานอยู่ ก็เป็นตัวอย่างของความจริงอีกด้านหนึ่งที่ผู้นำสหรัฐไม่ได้นำมาพูดให้เห็นด้วย

แต่ประเด็นของประธานาธิบดีบุช ไม่ใช่เรื่องปัญหาของความชอบธรรม “This is not a question of authority, it is a question of will.” เพราะการทำลายล้างอิรักและตัวแทนของความเลวร้ายนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ต้องพิสูจน์อีกแล้ว สิ่งที่เขาต้องการทำให้คนเชื่อและเห็นพ้องด้วยนั้นคือการใช้กำลังในการแก้ปัญหาความไม่สงบนี้ คือการแสดงออกถึงเจตนารมณ์อันเด็ดเดี่ยวของอเมริกัน (ฟังเข้าท่าแต่ไม่รู้แปลว่าอะไร)

เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชไปกล่าวปราศรัยในงานแจกปริญญาของนักเรียนนายร้อยที่เวสต์พอยน์ เขากล่าวตอนหนึ่งว่า “เราจักต้องนำสงครามไปหาศัตรู ไปก่อกวนแผนการณ์ของมัน และไปเผชิญหน้ากับการข่มขู่ที่เลวร้ายที่สุด ที่มันจะโผล่หัวขึ้นมา” นักเรียนที่จะจบในรุ่นนั้นต่างพากันต้อนรับในคำปราศรัยนี้ด้วยการปรบมือสนั่นหวั่นไหว

นั่นคือหัวใจของทฤษฎีซึ่งเรียกว่า pre-emptive war คือการทำสงครามก่อนที่จะถูกศัตรูโจมตี หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า คือ ทฤษฎีป้องกันตนเองล่วงหน้า (anticipatory self-defense) หรือจะแปลอีกอย่างก็ได้ว่าคือเป็นการทำ “สงครามป้องกันตนเอง” (preventive war)

ไม่ว่าจะพูดอย่างไรก็ตาม ความหมายอันเป็นหัวใจของทฤษฎีสงครามใหม่นี้ ที่ทางการอเมริกันประกาศโน้มน้าวประชาคมโลกให้เห็นพ้องต้องกัน คือการทำให้คนอื่นมองเห็นว่าสหรัฐพยายามที่จะปฏิเสธสงครามในความหมายแต่ดั้งเดิม (negation of war) ซึ่งนอกจากเป็นการทำลายชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ด้วยกันแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและไม่ศิวิไลซ์อีกด้วย

แต่คราวนี้สิ่งที่สหรัฐกำลังจะทําจึงมิใช่ว่าเป็นการทำสงครามแบบเก่าอีกต่อไป คราวนี้เป็นการใช้สงครามอย่างที่ไม่ใช่สงคราม ซึ่งในความเป็นจริงก็ใช่ เพราะหลังจากที่สหรัฐทดลองการทำสงครามในยุทธวิธีแบบใหม่ในยูโกสลาเวียและต่อมาในอัฟกานิสถานแล้ว สิ่งที่เรียกว่า “การปฏิวัติกิจการทหาร” (Revolution in Military Affairs-RMA) ก็กลายเป็นนโยบายการทหารใหม่สุดของสหรัฐในการจัดการกับความไม่สงบไม่เรียบร้อยในโลกได้สมความปรารถนาของนักคิดฝ่ายนีโอคอนส์ทั้งหลายในทำเนียบขาว [1]

แต่ภาพลักษณ์ต่อชาวบ้านชาวเมืองทั่วโลกที่ไม่ได้รับรู้เรื่องราวของนักคิดอนุรักษนิยมใหม่กับเทคโนโลยีไอที่ในการทหาร ความหมายง่ายๆ ก็คือ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ทำให้โลกเชื่อว่า สหรัฐไม่ใช่ “นักเลงโต” ที่อาศัยความเหนือกว่าของอำนาจและอาวุธทันสมัยไปทำร้ายข่มเหงประเทศที่เล็กกว่าอย่างไม่เป็นธรรม

แต่ที่ต้องใช้กำลังในขั้นสุดท้ายของการตัดสินใจกับอิรัก ก็เพราะเป็นความผิดและดื้อรั้นโอหังของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนเอง หรือไม่ก็เพราะว่าในโลกที่เป็นจริงนี้ ยังมีคนผิดคนไม่ดีอยู่ ยังมีสิ่งไม่ถูกต้อง ที่ทำอย่างไรก็แก้ไขไม่ได้ ดังนั้นในทางตรรกะ การใช้กำลังขั้นสุดท้ายของบุช จึงเป็นกำลังของความชอบธรรมหรือพูดอย่างไทยๆ ก็คือ เป็นการใช้อำนาจที่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้หากมองในทางประวัติศาสตร์ เหตุผลและตรรกะของทฤษฎีโจมตีล่วงหน้าก็ไม่ชอบธรรมและถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะกับประวัติศาสตร์ของสหรัฐเอง ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์ของการเป็นประเทศที่ยังเล็กและยังไม่มีอำนาจต่อกรกับประเทศที่เป็นมหาอำนาจใหญ่กว่าเช่นอังกฤษเป็นต้น

ในปี ค.ศ. 1837 อังกฤษยกกำลังเข้าบุกทำลายล้างพวกกบฏในดินแดนตอนบนของแคนาดา เป็นธรรมดาที่ฝ่ายกบฏชาวแคนาดาย่อมอาศัยดินแดนสหรัฐซึ่งเชื่อมต่อกันเป็นแหล่งซ่องสุม ทางการอเมริกันก็รู้แต่ก็ไม่เห็นว่าเป็นปัญหาอะไรของสหรัฐ ลึกๆ ก็หมั่นไส้อังกฤษด้วย จึงปล่อยให้กำลังกบฏก่อการตามชายแดนมาเรื่อย จนกระทั่งอังกฤษทนไม่ได้ต้องยกกำลังเข้าโจมตีให้สิ้นซาก

เรื่องเกิดขึ้นเมื่ออังกฤษใช้กำลังบุกยึดเรือแคโรไลน์กลางดึก เนื่องจากพวกกบฏใช้เรือนี้ลำเลียงขนส่งทั้งคนและอาวุธไปยังเกาะทางฝั่งแคนาดาด้านแม่น้ำไนแองการา จากนั้นอังกฤษก็เผาเรือแล้วถีบส่งลงน้ำตกไนแองการาเสียให้สิ้นเรื่อง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กรุงวอชิงตันทนไม่ได้ ก่อนหน้านี้กองทัพอังกฤษก็บุกเข้ามาเผากรุงวอชิงตันรวมทั้งทำเนียบขาวในปี ค.ศ. 1814 รู้สึกจะหยามศักดิ์ศรีคนอเมริกันมากเกินไปแล้ว การประท้วงและเจรจาระหว่างกระทรวงต่างประเทศสหรัฐภายใต้รัฐมนตรี แดเนียล เว็บสเตอร์ กับผู้แทนอังกฤษ ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ประเด็นคืออังกฤษละเมิดอธิปไตยของสหรัฐในการเข้ามาใช้กำลังปราบปรามพวกกบฏและเผาเรืออเมริกันในดินแดนอเมริกัน

จากการเจรจาได้ข้อตกลงร่วมกันที่น่าสนใจสำหรับพิจารณาเหตุการณ์ปัจจุบัน กล่าวคือทั้งสองฝ่ายยอมรับว่า การบุกโจมตีดังกล่าวนั้นอาจชอบธรรมได้ ภายใต้เงื่อนไขดังนี้คือ “จะต้องมีความจำเป็น ในการป้องกันตนเอง ต่อเหตุการณ์ที่ลุกลามเกินขอบเขต และไม่เปิดช่องให้สำหรับการหาหนทางอื่น และการกระทำดังกล่าวนี้จักต้องไม่เป็นการใช้กำลังเกินกว่าที่เหตุผลจะรับได้ไป” [2]

น่าคิดว่า จนถึงกรณีเรือแคโรไลน์ การใช้กำลังเพื่อป้องกันตนเองยังถือกันว่าเป็นการทำสงครามธรรมดาเท่านั้น หลักกฎหมายระหว่างประเทศเชิงปฏิฐานนิยมที่ใช้กันอยู่ในศตวรรษที่ 19 ปฏิเสธความแตกต่างของกฎธรรมชาติระหว่างสงครามที่ชอบธรรม (just war) กับสงครามที่ไม่ชอบธรรม (unjust war)

การใช้กำลังทหารเข้าบุกคนอื่นยังเป็นกิจกรรมที่ไม่อาจถูกควบคุมหรือกำกับได้ และชัยชนะในสงครามอะไรก็ตาม ก็ยังทำให้ผู้ชนะมีเกียรติภูมิและสร้างความจริงใหม่ขึ้นมาได้ การโต้แย้งในกรณีเรือแคโรไลน์ไม่ได้ยุติการใช้กำลังในสงครามรุกรานได้ แต่มันได้สร้างความแตกต่างระหว่าง “สงคราม” กับ “การป้องกันตนเอง” ขึ้นมา ตราบเท่าที่การกระทำที่ป้องกันตนเองไม่ใช่สงครามในตัวมันเอง สันติภาพก็มีทางรักษาได้ แนวคิดดังกล่าวจะมีผลดีต่อประเทศที่เล็กและอ่อนแอกว่า เช่น สหรัฐ ในขณะนั้น

หลักการจากกรณีเรือแคโรไลน์ได้กลายมาเป็นกฎหมายตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ คือเป็นกฎหมายที่ไม่มีการตราเป็นลายลักษณ์อักษร หากแต่ยึดถือการปฏิบัติและความประพฤติของรัฐต่างๆ เป็นเกณฑ์ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว ที่องค์การโลกบาลเช่น สันนิบาตชาติ (League of Nations) ถึงได้พยายามผนวกหลักการดังกล่าวเข้ามาในกฎบัตรของตน นั่นคือความพยายามครั้งแรกของบรรดารัฐชาติต่างๆ ที่จะกำกับและควบคุมการใช้กำลังทหารเพื่อการรุกราน

แต่ดังที่รู้ๆ กันว่าสันนิบาตชาติไม่อาจผลักดันให้กฎบัตรและอุดมการณ์ของตนปรากฎเป็นจริงได้ เพราะบรรดาประเทศสมาชิกใหญ่ๆ ทั้งหลายยังไม่มีใครยอมยกอำนาจอธิปไตยเหนือรัฐและการตัดสินว่าอะไรคือความถูกและยุติธรรมตามความเชื่อของตนเองให้แก่คนอื่นๆ มายุ่งด้วย ที่สำคัญวุฒิสภาสหรัฐเองโหวตไม่ยอมรับสันนิบาตชาติเสียเองในปี ค.ศ. 1920

อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์การสหประชาชาติก่อกำเนิดขึ้นมาแทนที่สันนิบาตชาติในปี ค.ศ. 1945 กฎบัตรสหประชาชาติก็ยังพยายามผลักดันหลักการข้างต้นนี้อีกต่อมา กล่าวคือรัฐทั้งหลาย “หลีกเลี่ยงจากการข่มขู่หรือใช้กำลัง” ต่อประเทศอื่นๆ ยังขยายๆ ให้คลุมถึงความขัดแย้งที่ไม่ได้ประกาศด้วย ที่สำคัญองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยังก่อตั้งกลไกเพื่อเข้ามาทำหน้าที่กำกับและควบคุมไม่ให้มีการใช้กำลังรุกรานกันขึ้น

นั่นคือที่มาของคณะมนตรีเพื่อความมั่นคง (The Security Council) โดยที่คณะมนตรีฯ มีสิทธิอำนาจในการตัดสิน “การดำรงอยู่ของการใช้การข่มขู่ต่อสันติภาพ ละเมิดสันติภาพ หรือการกระทำที่เป็นการรุกราน” และเป็นผู้บังคับใช้การแทรกแซง ทั้งทางอากาศ ทะเลและพื้นดินตามความจำเป็น เรียกได้ว่านี่เป็นการตรารัฐธรรมนูญสำหรับระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมโลกที่ไร้ระเบียบและตัวใครตัวมัน หรือการเป็นพันธมิตรชั่วคราวทั้งหลาย ให้กลายมาเป็นโลกที่ดำรงอยู่ด้วยระบบปกครองที่แท้จริง

นับจากนั้นมา โลกก็ยังไม่สงบและอยู่กันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างที่วาดฝันกันไว้ ยังดีที่มีสถานที่ให้คู่กรณีมาเจรจาด่าว่ากันได้บ้าง แต่ถึงมีการรุกรานไม่ว่าจะเป็นการป้องกันตนเองหรือไม่ก็ตาม ที่น่าสนใจคือไม่มีประเทศและรัฐใดหาญกล้าประกาศว่าการกระทำของตนเองเป็น “การโจมตีล่วงหน้าเพื่อป้องกันตนเอง”

ไม่ว่าสงคราม 6 วันระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ การปิดล้อมคิวบาในปี ค.ศ. 1962 ของสหรัฐ มาถึงกรณีอิสราเอลทำลายโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณูของอิรักในปี ค.ศ. 1981 ซึ่งถูกคณะมนตรีความมั่นคงประณามว่าเป็นกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน โดยที่สหรัฐเองก็เป็นฝ่ายสนับสนุนการกระทำของอิสราเอลด้วยตอนนั้น

ยิ่งในช่วงสงครามเย็น การอ้างหลักการ “การโจมตีล่วงหน้าเพื่อป้องกันตนเอง” ยิ่งไม่มีประเทศไหนกล้าคิดถึงเลยแม้แต่น้อย เพราะการกระทำดังกล่าวจะถูกตอบโต้จากคู่ปรปักษ์ทันที อย่างตาต่อตาฟันต่อฟัน ระยะนั้นเป็นช่วงของการพัฒนาแข่งขันอาวุธปรมาณระหว่างมหาอำนาจในโลก ปัจจัยที่ถ่วงไม่ให้มหาอำนาจหนึ่งกล้าโจมตีก่อน จึงมาจากการที่ไม่มีใครสามารถป้องกันตนเองจากการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของอีกฝ่ายได้จริงๆ มากกว่ามาจากหลักการและแนวคิดทางการเมืองอะไรทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้ช่วยทำให้มองเห็นและเข้าใจต่อสถานะและความเป็นจริงของสหรัฐในการเมืองโลกปัจจุบันได้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจและเห็นถึงที่มาของการอ้างเหตุผลของการ “โจมตีล่วงหน้าเพื่อป้องกันตนเอง” ของสหรัฐ ว่ามีที่มาและที่ไปอย่างไร

 


เชิงอรรถ :

[1] ดูบทความหลายตอนที่เล่าถึงกำเนิดและความเป็นมาของนักคิดนีโอคอนส์จนถึงทฤษฎีการทหาร RMA ของ เกษียร เตชะพีระ, “นีโอคอนส์ : การปฏิวัติกิจการทหาร (RMA)” มติชนรายวัน วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2546, หน้า 6 และชิ้นก่อนหน้านี้วันที่ 20, 13, 6 มิถุนายน 2546

[2] Michael Byers, “Jumping the Gun” London Review of Books, 25 July 2002, pp.3-5


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2565