เส้นทางวิบาก 17 ปี กว่าจะเป็น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ภาพประกอบจาก  “25 ปีแพทย์จุฬา”

ในวาระครบรอบ 25 คณะแพทยศาสตร์ ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2515 ศ.นพ. จรัส สุวรรณเวลา ได้เขียนถึงประวัติการก่อตั้ง “คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ที่ต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี ในการฝ่าฝันและเปลี่ยนมาเป็น “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ มหาวิทยาลัย” ไว้ในบทความ “ทัศนาการแพทย์จุฬา” ( 25 ปีแพทย์จุฬา, ศรีเมืองการพิมพ์, พ.ศ. 2515) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหมและสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

ทัศนาการแพทย์จุฬา

…ทัศนาการ แปลตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตว่า อาการดู ในที่นี้นอกจากจะดูด้วยตาแล้วยังควรดูด้วยใจให้เห็นถึงมิติที่ 1 คือ ความเป็นมาในอดีต ในปัจจุบัน และดูออกไปข้างหน้าสู่อนาคตด้วย ทัศนะที่จะได้สาธยายต่อไปนี้…

…………

หากข้อคิดเห็นส่วนใดของผู้เขียน [นพ.จรัส สุวรรณเวลา] ไม่ตรงกับข้อคิดหรืออารมณ์ของท่านผู้อ่านก็หวังว่าคงได้รับการอภัย เพราะทัศนะที่จะเขียนไว้นี้มุ่งแต่การก่อถ่ายเดียวมิได้จงใจจะล่วงเกินท่านผู้หนึ่งผู้ใด หรือสถาบันใดเลย

เมื่อพุทธศักราช 2489 นั้น เมืองไทยมีโรงเรียนแพทย์แห่งเดียว คือคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ซึ่งตั้งมาได้ 57 ปี การแพทย์แบบตะวันตก หรือเรียกว่าแผนปัจจุบัน ได้รับความนิยมของหมู่ชาวไทยมากขึ้นอย่างรวดเร็ว…

คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงได้กำหนดขึ้น เริ่มเปิดทำการสอนใน วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2490

ในการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ ได้มีความคิดเห็นคัดค้านอยู่บ้างจากวงการแพทย์ โดยเฉพาะจากคณาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชขณะนั้น ด้วยมีความเห็นว่าควรจะปรับปรุงคณะแพทยศาสตร์แห่งนั้นให้ดีเสียก่อนแทนที่จะเปิดแห่งใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นความคิดที่มีเหตุผลอยู่ไม่น้อย

แม้เมื่อคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เปิดทำการแล้ว ก็ยังมีเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สมัยที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายแพทย์เล็ก สุมิตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ยุบเลิกคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ แต่บังเอิญชะตาของคณะแพทยศาสตร์ยังไม่ขาดเกิดมีรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาลเรื่องจึงระงับไป

จะเห็นได้ว่าเป้าหมายหลักในการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็คือการเพิ่มการผลิตแพทย์ ระยะนั้นเป็นระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ๆ เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำ คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้จึงเกิดขึ้นโดยลักษณะพิเศษ 2 อย่าง คือ “กระทันหัน” และ “เปลืองค่าใช้จ่ายน้อย” โดยปราศจากการช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นพิเศษในระยะเริ่มต้นอย่างคณะแพทยศาสตร์แห่งอื่นๆ เปรียบเสมือนลูกที่เกิดในระยะที่พ่อแม่ยากจนขาดผู้อุปการะ ลูกจึงเกิดมาเพื่อการต่อสู้โดยแท้

ยุคแรกของแพทย์จุฬา อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคของการต่อสู้เพื่อการเทียบกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราช เมื่อเกิดโรงเรียนแพทย์ขึ้นใหม่ภายหลังที่มีโรงเรียนเดียวอยู่ถึง 57 ปี ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่โรงเรียนแพทย์ใหม่จะเป็นที่สงสัยของวงการแพทย์และประชาชนในแง่คุณภาพ ผู้บิหารงานของโรงเรียนแพทย์ใหม่ จึงตั้งเป้าหมายใหม่ “มาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนแพทย์ใหม่นี้อยู่ในระดับเดียวกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราช”…

ในปีนั้น [พ.ศ. 2481] เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระรารชดำเนินไปพระราชทานปริญญาแก่แพทย์และพยาบาล ณ โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า พระองค์ท่านใคร่จะให้มีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้พอกับความต้องการของประเทศชาติ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส (ภาพจาก 25 ปีแพทย์จุฬา)

ในการพิจารณาหาทางเพิ่มการผลิตแพทย์นั้น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้พิจารณาลู่ทางต่างๆ เช่น ขยายศิริราชให้รับนักศึกษาได้มากขึ้น หรือสร้างโรงพยาบาล และโรงเรียนแพทย์ขึ้นใหม่ และในที่สุดได้เห็นว่า “มีอยู่ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเวลานี้ ให้ดีขึ้นเท่าที่สามารถจะทำได้โดยกระทันหัน โดยเปลืองค่าใช้จ่ายแต่พอสมควร คือ อาศัยโรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งที่ทันสมัยเป็นสถานศึกษาแพทย์ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง” (จากคำปราศรัยของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส ผู้บัญชาการมหาวิยาลัยแพทยศาสตร์ วันที่ 11 มิถุนายน  2490)

ศาสตราจารย์นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส ผู้บัญชาการมหาวิยาลัยแพทยศาสตร์ และพระยาสุนทรพิพิธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น จึงได้ดำเนินการเพื่อขอตั้งโรงเรียแพทย์ขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง โดยปรึกษากับพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการกองบรรเทาทุกข์และอนามัย สภากาชาดไทย เพื่อขอใช้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสถานศึกษาสำหรับจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่…ผู้อำนวยการกองบรรเทาทุกข์และอนามัย จึงนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวสา อัยยิกาเจ้าซึ่งทรงเป็นสมเด็จองค์สภานายิกา สภากาชาดไทยในสมัยนั้น ก็ทรงเห็นชอบด้วยในการดำเนินการ…

พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ภาพจาก 25 ปีแพทย์จุฬา)

ในชั้นต้นได้พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้ตามเจตน์จำนง เพราะเป็นระยะที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็กำลังขยายงานหลังสงครามและขาดอาจารย์อยู่เหมือนกัน ได้พยายามหาทางส่งอาจารย์คนไทยออกไปรับการฝึกอบรมในต่างประเทศ แต่ในปีแรกก็ยังทำไม่ได้  เพราะเป็นระยะที่ประเทศไทย มีเงินตราต่างประเทศไม่พียงพอ จำเป็นต้องรอคอยปีต่อๆ มา จึงได้ทะยอยส่งอาจารย์คนไทยไปศึกษาต่อ

ในการสอบเพื่อปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ผู้บริหารก็ได้จัดให้มีการสอบร่วมกันกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ในปีแรกๆ ข้อสอบแต่ละข้อมีกรรมการร่วมกันจากโรงเรียนทั้งสอง กรรมการต่างคนก็ตรวจข้อสอบเดียวกันนั้น แล้วเอาคะแนนมารวมกัน ในปีต่อมาจึงได้แยกออกข้อสอบกันคนละข้อและต่างคนต่างตรวจ…

…………

การเทียบของโรงเรียนแพทย์ใหม่กับศิริราชนี้ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นบ้าง เช่น การที่แพท์ที่จบจากศิริราชเติมวงเล็บท้าย พ.บ. หลังชื่อให้เห็นว่าจบจากศิริราช หรือการที่สถาบันทางการแพทย์บางแห่งรับแต่แพทย์ที่จบจากศิริราชเป็นต้น เป็นเหตุให้ศิษย์เก่าแพทย์จุฬารุ่นแรกๆ ต้องต่อสู้กับความกดดันดังกล่าวนี้…

ในระยะต่อมา เมื่อศิษย์แพทย์จุฬาสำเร็จออกมาหลายรุ่น และคณะเป็นปึกแผ่นขึ้น ผลการปฏิบัติงานของศิษย์ที่จบไปจากคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ และผลการสอบเพื่อปริญญาแพทยศาสต์บัณฑิตซึ่งสอบร่วมกับศิริราช ก็แสดงว่าผลผลิตไม่ได้ด้อยไปกว่าโรงเรียนเดิมมานัก ความจำเป็นที่จะต้องเทียบกับศิริราชก็น้อยลงไปเรื่อยๆ…

……….

คณะแพทย์จุฬาฯ ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือการใช้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งสังกัดสภากาชาดไทยภาวนะนี้มีทั้งข้อได้เปรียบ และข้อเสียเปรียบ

ข้อได้เปรียบก็ในแง่ที่สภากาชาดไทยเป็นองค์การอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาล ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ก็แตกต่างจากของทางราชการ กิจการหรือบางสิ่งบางอย่างที่ไม่อาจทำได้ หรือทำได้ไม่สะดวกในทางราชการ อาจมีทางทำได้ทางด้านสภากาชาด นอกจากนี้สภากาชาดก็เป็นองค์กรการกุศลที่ได้รับความเชื่อถือของสังคมเป็นอย่างดีแล้ว งบประมาณของสภากาชาด ซึ่งนอกจากจะเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลมอบให้แล้วก็เป็นเงินบริจาค งบประมาณของสภากาชาดนี้ส่วนใหญ่ก็ใช้ในกิจการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ในการจัดการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ทันสมัยในนครหลวง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้งบประมาณมาก และงบประมาณที่ได้จากรัฐบาลมักจะไม่พอ จำเป็นต้องอาศัยการบริจาค ทั้งในงบการลงทุนก่อสร้างตึก และในงบดำนินการ ดังจะเห็นได้ว่าทั้งโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี ก็ต้องตั้งมูลนิธิขึ้น แพทย์จุฬาฯ จึงได้เปรียบเป็นอย่างมากที่มีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมาสภากาชาดไทยหนุนหลังอยู่

ข้อเสียเปรียบก็อยู่ที่ การมีเจ้าหน้าที่บังคับบัญชาเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งอาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกันได้ การติดต่อประสานงานจึงเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์…

การที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เทียบได้กับการเป็นลูกคนกลาง ซึ่งไม่มีความเด่นของการเป็นลูกคนหัวปี และความน่าเอ็นดูของลูกคนสุดท้อง คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้จึงมักจะได้รับการสนับสนุน ทั้งด้านกำลังงบประมาณ และด้านอื่นๆ น้อยกว่าคณะอื่นๆ ยิ่งเป็นในบางระยะ ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยมิได้ตั้งตนเป็นกลางแล้ว คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ยิ่งได้รับการสนับสนุนน้อยเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณที่คณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ได้รับ

นอกจากนี้ความรู้สึกที่ตกค้างมาจากยุคแรก ซึ่งคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ต้องพยายามเทียบกับคณแพทยศาสตร์ศิริราช ทำให้คณะแพทยศาสตร์ โรงพบาบาลจุฬาลงกรณ์อยู่ในภาวะใต้ความกดดัน ไม่สามารถที่จะเจริญ และไม่มีอิสระเสรีที่จะใช้ความคิดริเริ่มได้เต็มที่ปรกอบกับระยะนี้ระบบการจัดการอุดมศึกษาของประเทศเปลี่ยนแปลงไป นโยบายการรวมการศึกษาทางการแพทย์และสาธารณะสุขไว้ด้วยกันในมหาวิทยาลัยเดียวกันได้จางหายไป

จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเริ่มไหวตัวที่จะสร้างคณะแพทยศาสต์ขึ้นมาใหม่ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2507จึงได้มีการติดต่อและดำเนินการโอนแพทย์จุฬาฯ มาสังกัดจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นคณะแพทยศาสตร์ ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

………..

การที่แพทย์จุฬาได้ย้ายเข้าไปอยู่เป็นคณะหนึ่ง ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ทำให้ได้มีโอกาสติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะอื่นๆ ซึ่งเป็นบุคคลในอาชีพอื่น แนวคณะแพทยศาสตร์กับผู้บริหารสภากาชาดเป็นไปด้วยดี กิจการของคณะแพทยศาสตร์และของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็เจริญก้าวหน้าได้ด้วยดี…

ทั้งคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมากในระยะ 25  ปี ที่ผ่านมาหากพิจารณาตามเป้าหมายเดิมในการตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้น เพื่อผลิตแพทย์ให่มากขึ้นแล้ว คณะแพทยศาสต์ก็บรรลุผลตามเป้าหมายเต็มที่ได้ผลิตแพทย์ออกไปแล้วถึง 22 รุ่น จำนวนก 1, 717 คน นับเป็นปริมาณถึงร้อยละ 30 ของแพทย์ของประเทศ…


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2565