ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“สบายดีหรือ?” เป็นคำทักทายคุ้นเคย แต่ใครสบายดีจริงหรือไม่ ส่วนใหญ่ก็มักตอบกลับว่า “สบายดี” ตามมารยาทมากกว่าตามเป็นจริง
หากใน “เอกสารสาธารณสุข เรื่องแถลงการสาธารณสุขพิเศษ คุณหญิงเพิ่ม โชฎึกราชเศรษฐี พร้อมด้วยบุตรและธิดา พิมพ์แจกในการฌาปนกิจ มหาอำมาตย์ตรี พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหเศรษฐี)” โรงพิมพ์อักษรนิติ พ.ศ. 2472
ซึ่งรวบรวมบทความเรื่องสุขศึกษาของกรมสาธารณสุข ที่เคยเผยแพร่ใน พ.ศ. 2471 มีบทความหนึ่งชื่อ “ท่านสบานดีหรือ?” ที่เขียนอธิบายความสบายดีจากสุขภาพของบุคคลจากการวิเคราห์ของแพทย์ ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นข้อความโดยผู้เขียน)
ท่านสบายดีหรือ ?
ท่านรู้ได้อย่างไรว่า ท่านเป็นผู้ที่มีร่างกายบริบูรณ์ เมื่อมีผู้ถามท่านถึงเรื่องทุกข์สุข หรือท่านคิดว่าท่านเป็นสุขสบายดี ก็เพราะท่านไม่รู้สึกมีอาการผิดธรรมดาอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าจะมาคิดดูให้ซึ้งแล้ว ปัญหาเรื่องทุกข์สุขของร่างกายเป็นปัญหาสําคัญที่จะต้องตอบให้ถูก
ยังไม่มีใครที่สามารถทําให้เราเข้าใจถึงคําว่าสุขภาพได้แน่ชัด และความป่วยเจ็บเนื่องด้วยโรคแทบทุกชนิด มีอาการเป็นอย่าง ไรแน่ หรือถ้าจะมีผู้กระทํามาบ้าง ตํารานั้นๆ ก็จะต้องถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เอาแน่ไม่ได้เพราะตําราวิทยาศาสตร์ หรือ กล่าวโดยเฉพาะแพทยศาสตร์ของเราเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิตย์ ตามธรรมดาที่เราเข้าใจกันก็คือ เมื่อเรารู้สึกสบาย อวัยวะต่าง ๆ เป็นไปโดยปกติ เราก็คิดไปว่าเราเป็นสุขสบาย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ถ้ามีอะไรผิดจากการที่เคยเป็นอยู่เราก็คิดว่าเราเป็นโรค
เมื่อสมัยที่แพทยศาสตร์และการตรวจโรคยังไม่ก้าวขึ้นสู่สภาพแห่งความเป็นที่พึงพอใจ เด็กน้อยคนนักซึ่งได้ถูกแพทย์ลงความ เห็นว่า มีร่างกายไม่บริบูรณ์ เดี๋ยวนี้กลับเป็นการตรงกันข้ามตาม ที่เป็นอยู่เวลานี้ปรากฏว่า มีเด็กเพียงสองสามคนในเมืองต่างๆ ซึ่งเมื่อได้รับการตรวจโดยถ้วนถี่แล้ว จะนับได้ว่าเป็นคนมีร่างกายสมบูรณ์จริงๆ
ความจริงเรื่องการรู้อาการของความปราศจากโรคและความเป็นโรคนี้เกี่ยวกับการศึกษาของบุคคลเป็นข้อใหญ่ ตามธรรมดาผู้ที่มีการศึกษาย่อมรู้ได้ดีกว่าผู้ที่ไร้การศึกษา ว่าตนจะป่วยจริงหรือสบายจริง และสามารถที่จะรู้อาการได้ใกล้ที่สุดที่จะเป็นไปได้ ผู้ที่รู้อาการของความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดคือแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของท่าน เพราะฉะนั้น ถ้าจะวินิจฉัย ปัญหาข้อที่เห็นเท็จจริงลงไปแล้ว เห็นจะต้องเป็นหน้าที่ของท่านด้วยส่วนหนึ่งกะมัง
นายแพทย์ได้แบ่งคนไว้เป็นพวกๆ เพื่อสะดวกแก่การตรวจ และการแบ่งนี้ ก็ผิดแผกกันทุกคราวไป และยังจะคงผิดแผกกันไปเรื่อยๆ
1. ผู้ที่มีร่างกายบริบูรณ์ พวกนี้คือพวกที่มีอาการเป็นปกติเสมอ หาอาการผิดธรรมดาไม่ได้ แต่พวกนี้มีน้อยเต็มที และโดยมาก เมื่อได้รับการตรวจแล้ว แพทย์ลงความเห็นว่าดี แต่พอถูกตรวจอีกครั้งหนึ่ง อาจพบความพิรุธบางอย่างซึ่งอาจให้โทษได้อย่าง ร้ายแรง
2. พวกที่คิดว่าตนมีร่างกายบริบูรณ์แต่ที่แท้จริงมีความพิรุธบางอย่างอยู่ภายในซึ่งเป็นที่น่าวิตก พวกนี้ควรได้รับการตรวจให้ถี่ถ้วนที่สุด
3. พวกที่มีร่างกายบริบูรณ์หรือเกือบจะบริบูรณ์ แต่เชื่อว่าตนมีโรค พวกนี้โดยมากเป็นคนมีเส้นประสาทอ่อน ทำงานที่ตนไม่มีความสนใจ พวกนี้มักจะชอบเชื่อเรื่องผีสางรางร้ายต่าง ๆ
4. พวกที่มีโรคจริงๆ แต่ไม่ยอมรับว่าตนป่วย พวกนี้มีอยู่มากพอใช้ และเป็นพวกที่ให้โทษแก่สาธารณชนเป็นที่สุด เพราะโดยมากเป็นพวกที่เก็บเอาโรคและเชื้อโรคต่างๆ เข้าไว้แล้ว ทําให้ติดต่อถึงคนอื่นได้ พวกนี้ร้ายยิ่งไปกว่าคนทําครัวที่เป็นโรคเรื้อนเสียอีก
5.พวกที่มีร่างกายบริบูรณ์ หรือเกือบจะบริบูรณ์ ที่ไม่คิดว่าตนป่วย นอกจากมีอาการอันร้ายแรงเกิดขึ้นจนทนอยู่ไม่ได้ พวกนี้แต่ก่อนมีเป็นจํานวนมาก และก็อาจลดน้อยลงตามส่วนของความเจริญทางการสุขาภิบาล และการศึกษา
6. พวกที่มีอาการบางอย่างซึ่งทําให้ตนรู้สึกป่วยอยู่เนืองนิตย์ และเป็นผู้ที่ไม่ชินต่อความเป็นอยู่ของชีวิต เป็นคนไม่ถี่ถ้วน มีนิสัยขลาด และที่เคราะห์ร้ายไม่เคยตกอยู่ในมือนายแพทย์ที่ดี พวกนี้โดยมากพยายามที่จะรู้โรคตัวเอง และรักษาตัวเอง ในที่สุดก็ได้รับทุกข์ร้อยแปดเพราะยากลางบ้าน
7. พวกที่ป่วย คือพวกที่ป่วยจริงๆ และรู้ได้โดยอาการที่ตนรู้สึกอยู่
(เรื่องนี้ได้ลงใน หนังสือพิมพ์รายเดือนต่าง ๆ เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2471)
เผยแพร่ในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2565