เผยแพร่ |
---|
“…เสนีย์ เสาวพงศ์ใช้ปีศาจเป็นสัญลักษณ์แทนความหมาย
ความหมายแรกคือ ‘ปีศาจขโมย’ ในทัศนะของทหารญี่ปุ่นที่เห็นว่าคนไทยผู้หวงแหนอธิปไตยเป็น ‘ปีศาจ’ โดยใช้เมื่อกล่าวถึงอ้วนเพื่อนในวัยเด็กของสาย สีมาในระหว่าง ‘ญี่ปุ่นขึ้น’ อ้วนและชาวบ้านที่เป็นไทยผู้หวงแหนอธิปไตย ‘รังควาน’ ค่ายญี่ปุ่นด้วยการทำลายเสบียงอาหาร จนทหารญี่ปุ่นต้องรายงานว่าถูกรบกวนด้วย ‘ปีศาจขโมย’ ซึ่งก็คือ ‘ปีศาจของผีเรือนที่หวงแหนบ้านของตนไม่ยอมให้ใครที่ไม่ได้เชื้อเชิญเข้ามาอยู่’
ความหมายที่สองของปีศาจ หมายถึง ‘คนอกตัญญู’ ที่ตัดสินใจเลือกการเข้ารับใช้ส่วนรวมแทนการ ‘กตัญญู’ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว มหาจวน ผู้เคยอุปการะสาย สีมา จึงประณามสายว่า ‘อันปีศาจตัวนี้มันอกตัญญู ฉันอุปถัมภ์มันมาแท้ๆ มันเนรคุณ’ ปีศาจในที่นี้จึงหมายถึงผู้ชั่วร้ายในทัศนะของมหาจวนที่อกตัญญูผู้มีพระคุณหันไปช่วยเหลือชาวบ้านแทน แต่ในทัศนะของสายนั้นถือการตัดสินใจครั้งสำคัญที่เขาเลือกการอตัญญูเพื่อที่จะรับใช้ส่วนรวม
ความหมายที่สามของปีศาจ เป็นความหมายสำคัญที่สุด เพราะเป็นแนวคิดสำคัญของเรื่องคือ ‘ปีศาจ’ ในทัศนะของเจ้าคุณและคุณหญิง บิดามารดาของรัชนี เมื่อกล่าวถึงสาย สีมว่า ‘ไอ้ปีศาจตัวนี้มันทำให้ฉันนอนไม่หลับ’ และสาย สีมาก็ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงว่า เขาคือปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกหลอนที่อยู่ในโลกเก่าความคิดเก่าทำให้เกิดความหวาดกลัว
‘ท่านคิดว่าจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก…โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน’
ปีศาจในความหมายที่เสนีย์ เสาวพงศ์ต้องการ จึงมีความหมายหลายนัย ความหมายของสัญลักษณ์ที่หลากหลายเช่นนี้นับเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งในนวนิยายไทย แต่ก็เป็นความหลากหลายที่ไม่มีลักษณะคลุมเครือเท่าใดนัก ปีศาจเป็นตัวแทนของความคิดใหม่ ความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปในทางก้าวหน้าอันเป็นกฎแห่งพัฒนาการ นอกจากนี้ยังหมายถึงความคิดที่ไม่เห็นแก่ตัว ความคิดล้มล้างค่านิยมดั้งเดิมของสังคม หรือกล่าวโดยสรุป ปีศาจก็คือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้า ซึ่งผู้ที่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงย่อมเห็นว่าเป็นความเลวร้ายที่น่าสะพรึงกลัว…”
คัดจากบทความ “คือคันฉ่องและโคมฉาย : พันธกิจของนักเขียนต่อสังคมในวรรณกรรมของ เสนีย์ เสาวพงศ์” โดย ตรีศิลป์ บุญขจร ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2542