ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ใน “การเมือง ‘อุบายมายา’ แบบมาคอาเวลลี (MACCHIAVELLI) ของพระเจ้าปราสาททอง” (สนพ.มติชน, 2549) สุจิตต์ วงษ์เทศ รวบรวมบทความเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หวังให้มีผู้วิเคราะห์อย่างกว้างขวาง หนึ่งในนั้นคือ “เทวรูปพระเจ้าปราสาททอง ที่บางปะอิน” ของ ส.พลายน้อย ที่อธิบายถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของพระเจ้าปราสาททอง, บางปะอิน, ความศักดิ์สิทธ์ของเทวรูปพระเจ้าปราสาททอง ฯลฯ ซึ่งเป็นมิติหนึ่งที่เกี่ยวกับพระเจ้าปราสาทอง โดยคัดย่อมาเพียงบางส่วนดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
ผู้ที่ไปเที่ยวชมพระราชวังบางปะอินส่วนมาก เมื่อเที่ยวชมพระที่นั่งต่างๆ แล้วก็มักจะแวะนมัสการเทวรูปพระเจ้าปราสาททองที่ประดิษฐานอยู่ ณ หอเหมมณเฑียรเทวราชนั้นด้วย เพราะถือว่าเป็นเทวรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็เห็นจะมีน้อยคนนักที่จะทราบเรื่องราวละเอียดของเทวรูปและหอเหมมณเฑียร ว่าได้เกิดขึ้นอย่างไร…
เรื่องที่จะมีเทวรูปและศาลพระเจ้าปราสาททองที่บางปะอินนั้น ก็เนื่องมาจากพระเจ้าปราสาททองทรงมีพื้นเพเดิมอยู่ที่เกาะบางปะอินนี้เอง ตามเรื่องที่เล่าสืบกันมากล่าวว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเอกาทศรถยังดํารงตําแหน่งอุปราชวังหน้าอยู่นั้น วันหนึ่งได้เสด็จประพาสทางน้ำมาถึงเกาะบางปะอิน…อันเป็นเหตุให้ได้หญิงชาวเกาะบางปะอินคนหนึ่งเป็นบาทบริจาริกา แต่หญิงนั้นจะมีนามว่ากระไรไม่เป็นที่เปิดเผย และสมเด็จพระเอกาทศรถเองก็ออกจะปกปิดเป็นความลับ
ถึงกระนั้นก็มีนิทานเล่ากันซุบซิบว่าหญิงนั้นชื่ออิน จึงได้เรียกชื่อเกาะนั้นว่าเกาะบางปะอิน หมายความตามตัวหนังสือว่า เกาะที่พบ (ปะ) อิน ในหนังสือเก่าบางเล่มจึงมักเขียนว่า บางอออินบ้าง บางนางอินบ้าง…ต่อมาหญิง คนนั้นก็มีครรภ์คลอดบุตรออกมาเป็นชาย เมื่อโตขึ้นก็โปรดให้เข้ารับราชการ จนกระทั่งต่อมาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง
ด้วยเหตุที่พระเจ้าปราสาททองเป็นชาวบางปะอินนี่เอง เมื่อพระองค์ได้ราชสมบัติจึงทรงถวายที่บ้านเดิมของพระองค์เป็นพุทธบูชา โดยโปรดให้สร้างวัดชุมพลนิกายารามขึ้นที่ตรงนั้น แล้วโปรดให้ขุดสระใหญ่สร้างตําหนักและปราสาทขึ้นองค์หนึ่งพระราชทานนามว่า พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ซึ่งความหมายว่า พระองค์มีพระราชสมภพที่นี่และได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และได้ใช้เป็นที่ประพาสมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา
ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสผ่านเกาะบางปะอินเห็นที่ทางร่มรื่นดี จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เจ้าพนักงานกรมนามาแผ้วถางที่เพื่อจัดสร้างเป็นที่เสด็จพระราชดําเนินประทับเป็นที่สําราญพระราชหฤทัย…ได้พบขอบสระ และตัวไม้พระที่นั่งและยอดปราสาทพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ สมัยพระเจ้าปราสาททองด้วย จึงโปรดให้สร้างพลับเพลาแลพระที่นั่งองค์หนึ่งพระราชทานนามว่า พระที่นั่งวโรภาสพิมาน
สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ขุดสระถมดินขยายเขตให้กว้างขวางขึ้น…ให้สร้างปราสาทลงในกลางสระตรงปลายพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์สมัยพระเจ้าปราสาททององค์หนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงปราสาทเดิม และได้พระราชทานนามแบบเดิม ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ทุกวันนี้ (ในรัชกาลที่ 6 ทรงเปลี่ยนพื้นและเสาเป็นแบบเฟโรคอนกรีต แทนเครื่องไม้ซึ่งผุง่ายเมื่ออยู่ในน้ำ) ส่วนพระที่นั่งของรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างไว้ดังกล่าวข้างต้นนั้นได้รื้อออก แล้วสร้างพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งแทนในที่เดียวกัน พระราชทานนามว่า พระที่นั่งวโรภาสพิมานเช่นเดิม
แต่เดิมที่ในเขตที่จะสร้างพระราชวัง และพระที่นั่งต่างๆ นั้น มีศาลเทพารักษ์สําหรับเกาะอยู่แห่งหนึ่ง…ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสร้างตําหนักสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ จึงโปรดให้ย้ายศาลเทพารักษ์เพื่อจะทรงใช้ที่ตรงนั้นสร้างตําหนัก ได้ทรงพระกรุณาให้สร้างปราสาทน้อยยอดปรางค์ขึ้นที่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งสระขึ้นแทน พระราชทานนามว่า เหมมณเฑียรเทวราช
การรื้อศาลเก่าคงจะเป็นปีก่อน พ.ศ. 2419 ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ที่ศาลเก่ามีเทวรูป หรือสิ่งสําคัญอะไรหรือไม่ พิเคราะห์ตามหลักฐานดูเหมือนว่าจะสร้างเทวรูปขึ้นใหม่
ในหนังสือข่าวราชการกล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2419 เวลาเช้า เจ้าพนักงานกรมภูษามาลา ได้เชิญเทวรูปซึ่งจะเอาไปประดิษฐาน ณ ศาลใหม่เกาะบางปะอินนั้น ไปประดิษฐานในเรือพระที่นั่งกลไฟอินทรีปักษิณสมุทแล่นตามเสด็จพระราชดําเนินขึ้นไป ณ เกาะบางปะอิน พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นําไปตั้งพักไว้บนพระที่นั่งวโรภาสพิมาน
เทวรูปที่กล่าวถึงนั้นก็คือ เทวรูปพระเจ้าปราสาททองนั่นเอง สร้างขึ้นไปจากกรุงเทพฯ การที่เชิญเทวรูปประดิษฐานที่พระนั่งวโรภาสพิมานก่อน ก็คงเป็นเพราะเหมมณเฑียรเทวราชก็เพิ่งสร้างเสร็จ จึงได้จัดกระบวนแหกันอย่างใหญ่โต [ถึง 3 วัน 3 คืน ]
………….
หอเหมมณเฑียรเทวราช ในครั้งแรกนั้นต่อมาคงจะชํารุด เพราะมีปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 ว่า “เสด็จเหมมณเฑียรเทวราช ทอดพระเนตรการชํารุดแลยังค้าง โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นสรรพศาสตรศุภกิจ ซ่อมแซมให้เสร็จ”
แต่มีข้อสะกิดใจอยู่อย่างหนึ่ง ในเรื่องการสร้างเหมมณเฑียรเทวราชนี้ คือ หลังจากการฉลองในปี พ.ศ. 2419 ดังกล่าวข้างต้นนั้นแล้ว ก็มีเรื่องกล่าวไว้ในจดหมายเหตุ พ.ศ. 2423 ว่า พระยาราชสงครามได้ถวายตัวอย่างปราสาทศิลาและถวายเทวรูปเหมมณเฑียรเทวราช ที่บางปะอินอีกครั้งหนึ่ง
ตัวอย่างปราสาทศิลานั้นทําด้วยไม้อุโลกเท่าขนาดตัดเป็นท่อนๆ ได้คุมเป็นรูปถวายทอดพระเนตรที่ลานพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง โปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายรูปแล้วรื้อ ให้พระยาโชตึกราชเศรษฐีสั่งทํา จากเมืองจีน แต่ในหนังสืออื่นๆ เช่น ทัศนาสารไทยเรื่องจังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวว่า “โปรดให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการจําลองแบบจากปรางค์ขอม” จึงทําให้สงสัยว่าจะมีการเข้าใจผิดอะไรสักอย่างเป็นแน่ บางที่พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ (พ.ศ. 2361-2428) จะเป็นผู้จําลองแบบปราสาทน้อยยอดปรางค์ในครั้งแรก (พ.ศ. 2419) นั้นก็ได้
ผู้เขียน [ส.พลายน้อย] ยังเชื่อหลักฐานจากจดหมายเหตุที่ว่า สั่งทําจากเมืองจีนอยู่มาก เพราะหลังจากออกแบบแล้วถึง 9 ปี จึงได้มีการฉลองเทวรูปที่สร้างใหม่ ประกอบศาลที่ชํารุดและยังค้างอยู่จนสําเร็จ ในปี พ.ศ. 2432 และได้มีการแห่การฉลองอย่างใหญ่โตไม่แพ้เมื่อปี พ.ศ. 2419 การแห่เทวรูปพระเจ้าปราสาททองไปประดิษฐานยังเหมมณเฑียรเทวราช ได้กระทําเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2432
การที่ทรงพระราชดําริสร้างหอเหมมณเฑียรเทวราชใหม่ในระยะที่ห่างจากการฉลองครั้งแรกเพียง 4 ปีนั้น มีเหตุที่ชวนให้คิดว่าศาลเก่าคงจะเป็นไม้ไม่แข็งแรงทนทาน ชํารุดผุพังไปจึงได้โปรดให้พระยาราชสงครามออกแบบใหม่ให้ แข็งแรงทนทาน โดยทําด้วยศิลา
แต่มีเรื่องเล่าแทรกอีกเรื่องหนึ่งว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบข่าวสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ เนื่องจากเรือพระประเทียบล่ม ท่ามกลางลําน้ำเจ้าพระยา ในระหว่างทางที่จะเสด็จไปพระราชวังบางปะอิน (เมื่อ พ.ศ. 2423) ได้ทรงพระราชวิตกว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศอาจ จะทรงเป็นอันตรายด้วย
จึงทรงบนว่า ถ้าหากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงรอดพ้นจากภยันตราย จะทรงสร้างศาลถวายสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาปรากฏว่าสมเด็จพระบรมฯ มิได้เสด็จมาในขบวนเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระบรมฯ ทรงปลอดภัย ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างศาลขึ้น แล้วโปรดให้หล่อเทวรูปสนองพระองค์ ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองประดิษฐานไว้ในศาลที่สร้างใหม่นี้ เป็นการใช้บนตามที่ทรงบนไว้ *
ถ้าเป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ก็พอสรุปได้ว่า ศาลเดิมที่สร้างในปี พ.ศ. 2419 ไม่ใหญ่โตแข็งแรงและอาจชํารุดทรุดโทรมลงแล้ว จึงเป็นเหตุให้ทรงบนว่าจะสร้างศาลถวายให้ใหม่ เรื่องของเหมมณเฑียรเทวราชจึงสร้างสองครั้ง แน่นอน ส่วนเทวรูปนั้นไม่เข้าใจว่าทําไมจึงต้องหล่อใหม่ ของเก่าชํารุดหรือ อย่างไรไม่พบหลักฐาน จะต้องสอบสวนต่อไปอีก
เชิงอรรถ
* ในครั้งนั้นเห็นจะนิยมบนพระเจ้าปราสาททองกันมาก เมื่อครั้งเจ้าจอมเอี่ยมป่วยอหิวาตกโรค เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2431 ที่พระราชวังบางปะอิน พระนางเจ้าพระราชเทวี พระอรรคชายาเธอ ทรงบนพระเจ้าปราสาททองให้ช่วยรักษา เมื่อหายแล้วโปรดให้แก้บนที่พระที่นั่งวโรภาสพิมาน มีงิ้วกับละครชาตรี
(พิมพ์ครั้งแรกในความรู้คือประทีป ฉบับเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2529)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษษยน 2565