ส่อง “อัจฉริยะต้องสร้าง” หนังกอล์ฟพี่น้องจุฑานุกาล ก่อน King Richard นำวิล สมิธ ได้ออสการ์

(ซ้าย) วีนัส วิลเลียมส์ และริชาร์ด วิลเลียมส์ ภาพจาก เอเอฟพี (กลาง) วิล สมิธ รับรางวัลออสการ์ ภาพจาก เอเอฟพี (ขวา) ภาพในภาพยนตร์ อัจฉริยะต้องสร้าง ภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ 19 ส.ค. 2562

King Richard หนังเกี่ยวกับ ริชาร์ด วิลเลียมส์ (Richard Williams) บิดาของวีนัส และเซเรนา วิลเลียมส์ พี่น้องนักเทนนิสหญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในวงการนักหวดตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นำพาวิล สมิธ (Will Smith) ขึ้นรับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม วันเดียวกับที่เขาเพิ่งเดินขึ้นเวทีไปตบหน้าคริส ร็อก (Chris Rock) ที่แซวภรรยาของวิล สมิธ ต่อหน้าผู้ชมจำนวนมากกลายเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อีกครั้งบนเวทีออสการ์

***Spoiler Alert บทความนี้เผยรายละเอียดบางส่วนในภาพยนตร์***

ในเวทีออสการ์มีหนังกีฬาหลายเรื่องที่ทำให้นักแสดงหรือทีมงานขึ้นไปรับรางวัลใหญ่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาหลายเรื่อง หากจะนึกถึงหนังไทยเกี่ยวกับคนกีฬา ในวาระ King Richard ประสบความสำเร็จ หนังไทยเองเคยมีผู้หยิบเรื่องราวพี่น้องจุฑานุกาล นักกอล์ฟหญิงที่สร้างปรากฏการณ์เป็นนักกอล์ฟหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาไทยมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ “อัจฉริยะต้องสร้าง” เล่าเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับคุณพ่อสมบูรณ์ จุฑานุกาล บิดาแนว “ทุ่มหมดหน้าตัก” ผลักดันส่งเสริมลูกให้ไปแข่งกอล์ฟจนก้าวสู่แถวหน้าของโลก

Advertisement

เบื้องหลังความสำเร็จของโปรเม เอรียา จุฑานุกาล ซึ่งคว้าแชมป์กอล์ฟแอลพีจีเอหลายรายการรวมถึงแชมป์ระดับเมเจอร์ (รายการระดับสูงสุดของการเล่นอาชีพประเภทบุคคล) เมื่อปีพ.ศ. 2561 ก้าวขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกด้วยวัย 21 ปี

ในภาพยนตร์ “อัจฉริยะต้องสร้าง” ผลงานกำกับของคิม ธนวัฒน์ เอี่ยมจินดา เสนอเรื่องราวของการผลักดันลูกสาวโดยความตั้งใจของคุณพ่อสมบูรณ์ ซึ่งต้องการสร้างลูกสาวให้เป็นนักกอล์ฟระดับโลก ทำให้ลูกสาวต้องทำตามอย่างเคร่งครัด ฝึกหนักตั้งแต่วัยเด็ก เวลาที่มีส่วนใหญ่มอบให้กับการฝึกฝนกอล์ฟ ส่วนหนึ่งก็ทำให้เกิดรอยร้าวขึ้นและนำมาสู่ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ในครอบครัวขึ้น

บุคคลที่รับบทเป็นคุณพ่อสมบูรณ์ ในภาพยนตร์คือธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ส่วนโปรเม ได้คริสซี่ กฤษณ์สิรี สุขสวัสดิ์ มารับบท โปรโมได้ปริม อัจฉรียา โพธิพิพิธธนากร มาแสดง แม่เปิ้ล นฤมล ติวัฒนาสุข มารดาของพี่น้องโปรกอล์ฟหญิงไทยมีหัทยา วงศ์กระจ่าง มารับบท

นฤตย์ เสกธีระ ผู้เขียนคอลัมน์ “แท็งก์ความคิด” ในหนังสือพิมพ์มติชน รายวัน ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม 2565 บรรยายเกี่ยวกับภาพยนตร์นี้ไว้ว่า

“…ภาพยนตร์เริ่มต้นจากฉากการแข่งขันในรายการ ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทย แลนด์ 2013 ที่โปรเมเกือบจะได้แชมป์ แต่เธอก้าวไปไม่ถึงฝันในครั้งนั้น เพราะพัตพลาดหลุมที่ 18 หรือหลุมสุดท้าย จากนั้นภาพยนตร์ได้ย้อนกลับไปสู่อดีต แล้วเริ่มต้นเล่าเรื่องของโปรเม และ โปรโม

ใครที่ไม่เชี่ยวชาญกฏกติกาการเล่นกอล์ฟ ไม่ต้องกังวลว่า ดูหนังแล้วไม่เข้าใจ กติกากอล์ฟ เพราะเนื้อเรื่องมีฉากสอนกติกากอล์ฟให้ทราบคร่าวๆ เป็นการให้ความรู้เพื่อเพิ่มอรรถรสในการดูได้อย่างดี คือ ไม่มากไป และไม่น้อยไป

เนื้อหาของภาพยนตร์ มองมุมหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องหนัก เพราะแต่ละฉาก สร้างปมปัญหาให้ผู้ชมตัดสินใจอยู่ภายใน ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ สุดโต่งไปไหม อะไรทํานองนี้ โดยเฉพาะวิธีการเลี้ยงดูและบ่มเพาะที่พ่อคนหนึ่งมีต่อลูกสาว 2 คน

ฉากหนึ่ง ตัวละครที่เป็นแคดดี้ประจําตัวโปรเม ได้ถามโปรเมว่า What really do you want ?

เป็นคําถามที่โปรเมต้องตอบ เพราะนี่คือเป้าหมายที่โปเมต้องเลือก จริงๆ แล้วคําถามนี้เป็นคําถามที่ทุกคนในโลกใบนี้ต้องตอบกับตัวเอง ตอบคําถามให้ตัวเองว่าจริงๆ แล้วคุณต้องการอะไร คําถามนี้เป็นเพียงจุดจุดหนึ่งในอีกหลายๆ จุดในภาพยนตร์ที่ชวนให้คิด

สําหรับภาพรวมของภาพยนตร์ที่สร้างความประทับใจในการชม คือ จิตใจที่ เข้มแข็งของโปรเมและโปรโม

มีความอดทน สามารถดํารงอยู่ และก้าวต่อไปสู่ความสําเร็จได้ เมื่อพ่อบังคับให้ต้องฝึก ก็สามารถอยู่ในสภาพที่เข้มงวดนั้นได้ เมื่อเผชิญหน้ากับความสะเทือนใจ ก็สามารถดํารงอยู่อย่างอดทน เมื่อบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจนต้องหยุดการแข่งขัน ก็มุมานะที่จะฟื้นฟู และหวนคืนสู่ความสําเร็จอีกครั้ง

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเป็นอิสระ ก็ไม่ลังเลที่จะปลดแอกตัวเองออกจาก พันธนาการ

และพร้อมเผชิญกับความลําบากที่เกิดขึ้น สุดท้ายคือความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับการให้อภัย ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วกระตุ้นความทรงจําถึงถ้อยคําที่เคยได้ยิน
อย่ามองแค่ความสําเร็จของผู้คนที่อยู่เบื้องหน้า แต่ให้ศึกษาชีวิตของเขาใน เบื้องหลังว่าอะไรถึงทําให้สําเร็จ

เพราะทุกๆ ความสําเร็จต้องผ่านความล้มเหลวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน คนที่ประสบความสําเร็จต้องผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาอย่างอดทน ตอกย้ําแนวคิดที่ว่าความสําเร็จจะเกิดขึ้นด้วยการลงมือทํา รวมถึงความเป็นอัจฉริยะที่เดิมคิดว่าเป็นไปตามพระพรหมลิขิต แต่เมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบจะพบว่าเราสามารถลิชิตชีวิตตัวเอง ทุกอย่างสามารถสร้างได้ด้วยมือเรา

แม้แต่ความเป็น ‘อัจฉริยะ’ ก็ยัง ‘ต้องสร้าง’ ขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง”

สำหรับริชาร์ด วิลเลียมส์ บิดาของพี่น้องวิลเลียมส์ ก็ตั้งใจให้ลูกสาวเป็นนักเทนนิสเช่นกัน โดยในภาพยนตร์ King Richard จะเล่าถึงความตั้งใจของบิดาตั้งแต่ทั้งคู่ยังไม่เกิด โดยริชาร์ด ที่ทำอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และแบรนดี้ ภรรยาที่ทำงานพยาบาล ฝึกฝนทั้งคู่เป็นรายวัน ริชาร์ด ยังพยายามหาโค้ชอาชีพมาขัดเกลาลูกสาว และจัดทำประชาสัมพันธ์และการตลาด ทำโบรชัวร์ โฆษณาความสามารถของลูกสาว พาไปดูนักเทนนิสระดับตำนานอย่างจอห์น แม็กเอ็นโร และพีท แซมพราส ฝึกซ้อม

เมื่อพวกเธอไปแข่งขันก็เริ่มประสบความสำเร็จ ครอบครัววิลเลียมส์ กลับได้รับการปฏิบัติไม่ค่อยดีนักจากกลุ่มคนผิวขาว ขณะเดียวกัน ในเส้นทางไปสู่มืออาชีพ ความสัมพันธ์ระหว่างริชาร์ด กับลูกสาวเริ่มตึงเครียดขึ้นจากแนวทางที่ริชาร์ด วางให้ลูกๆ อย่างไรก็ตาม ครอบครัววิลเลียมส์สามารถฝ่าฟันอุปสรรคและนำให้วีนัส ประสบความสำเร็จระดับสูงสุด ตามมาด้วยเซเรน่า วิลเลียมส์ ซึ่งคว้าแชมป์รายการระดับแกรนด์แสลม 23 สมัย ทั้งคู่ถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งนักเทนนิสหญิงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาเทนนิส

ภาพยนตร์ King Richard ส่งให้วิล สมิธ ซึ่งรับบทเป็นริชาร์ด ได้รางวัลออสการ์ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดหลายอย่างในภาพยนตร์ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่บางส่วนก็สอดคล้องความเป็นจริง อาทิ ในภาพยนตร์ถ่ายทอดว่าทั้งคู่ฝึกซ้อมในเวลากลางคืนท่ามกลางสายฝน เพื่อนบ้านถึงกับจะติดต่อหาหน่วยงานทางสังคมสงเคราะห์ แจ้งเรื่องการปฏิบัติของริชาร์ดกับลูกสาว จากหนังสือที่ริชาร์ดเขียนขึ้นเอง ชื่อ Black and White: The Way I See It เขาเล่าไว้ว่า เพื่อนบ้านติดต่อหาหน่วยงานพิทักษ์เยาวชนเพราะริชาร์ดให้พี่น้องวิลเลียมส์ฝึกซ้อมนานเกินไป

แต่ในความเป็นจริงแล้ว พี่น้องวิลเลียมส์เริ่มซ้อมตั้งแต่ 6 โมงเช้าและซ้อมอีกครั้งหลังจากกลับจากโรงเรียน และซ้อมจนถึงมืดในทุกสภาพอากาศ (ในแคลิฟอร์เนียไม่ค่อยมีพายุฝนตกหนักมากนัก) บางครั้งก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เลิกซ้อมจนกว่าจะวอลเลย์ลูกครบ 500 ครั้ง

ขณะที่กรณีของพี่น้องจุฑานุกาล แตกต่างจากแผนของวิลเลียมส์ ที่ร่างไว้ให้ลูกสาวล่วงหน้า คุณพ่อสมบูรณ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า การเข้าสู่กรีนกอล์ฟของทั้งคู่เป็นความบังเอิญ

เวลานั้นเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คุณสมบูรณ์เป็นหนี้หลายสิบล้านบาท จนต้องหันมาเล่นกอล์ฟเพื่อคลายเครียด เล่นบ่อยจนชอบกีฬาชนิดนี้ขึ้น และเปิดร้านขายอุปกรณ์ขึ้นมา เมื่อเห็นลูกสาวเล่นกอล์ฟบ้างจึงเกิดฉุกคิดว่า น่าจะวางแผนเกี่ยวกับลูกสาวให้ดี เริ่มตั้งแต่ร่างกาย พาลูกสาววิ่งตั้งแต่ 4-5 ขวบ พาไปสนามไดร์ฟ

เมื่อจบการศึกษาชั้นม.6 คุณพ่อสมบูรณ์ตัดสินใจเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อให้สัมผัสประสบการณ์ ไปเดินสายแข่งในรัฐต่างๆ มีค่าใช้จ่ายเรื่องเดินทาง ค่าที่พัก จนขายบ้านไป 2 หลัง และขายรถ

ในเส้นทางสายครอบครัวนักกีฬา ทั้งกรณีของพี่น้องวิลเลียมส์ และจุฑานุกาล หรืออาจมีอีกหลายคนที่ถูกผลักดันจากครอบครัวอย่างกรณีของ เจ ชนาธิป สรงกระสินธ์ นักฟุตบอลทีมชาติไทยซึ่งปัจจุบันค้าแข้งในเจลีกของประเทศญี่ปุ่นก็มีคุณพ่อที่ต้องการปลุกปั้นลูกให้เป็นนักฟุตบอลที่เก่งระดับอาชีพ จะเห็นได้ว่ามีความน่าสนใจและบางแง่มุมที่น่าคิด ทั้งในด้านกีฬา ไปจนถึงศาสตร์และศิลป์ทางด้านภาพยนตร์สำหรับเคสที่ถูกหยิบยกมาแปรรูปเรื่องราวสู่แผ่นฟิล์ม

คำถามที่น่าสนใจซึ่งมักตามมาคือ แรงผลักดันจากครอบครัวที่ต้องการให้ลูกเดินในเส้นทางที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองอยากให้เป็น แต่แท้จริงแล้ว ตัวตนของลูก ลึกๆ แล้ว พวกเขาอยากเป็นอะไร ความต้องการของพ่อแม่ที่ขับดันชีวิตตีเส้นทางให้ลูกเป็นเรื่องเหมาะสมสำหรับตัวเด็กเองหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

ในภาพยนตร์ “อัจฉริยะต้องสร้าง” มีฉากที่แคดดี้ประจำตัวโปรเม ถามโปรเมว่า “What really do you want?” (จริงๆ แล้ว คุณต้องการอะไร?)

ไม่ว่าจะเป็นใคร จะผ่านเส้นทางไหนมาก็ตาม เมื่อถึงจุดหนึ่ง ทุกคนต้องตัดสินใจเลือกด้วยตัวเองอยู่ดี แรงผลักดันสนับสนุนที่ส่งมาคือองค์ประกอบแวดล้อม ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินชะตาชีวิตต่อไปคือ “ตัวเราเอง” 


อ้างอิง :

นฤตย์ เสกธีระ. “อัจฉริยะต้องสร้าง” ใน มติชน รายวัน ฉบับ 18 สิงหาคม 2562.

อำนาจ เกิดเทพ. “เรื่องจริงก่อนเป็นหนัง “โปรเม” อัจฉริยะต้องสร้าง”. ผู้จัดการ. เว็บไซต์. เผยแพร่เมื่อ 5 สิงหาคม 2562. เข้าถึงเมื่อ 28 มีนาคม 2565. <https://mgronline.com/entertainment/detail/9620000074430>

Stein, Ellin. “What’s Fact and What’s Fiction in King Richard”. Slate. Online. Published 19 NOV 2021. Access 28 MAR 2022. <https://slate.com/culture/2021/11/king-richard-movie-accuracy-will-smith-richard-williams.html>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2565