ผู้เขียน | ฮิมวัง |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระมหาเถรคันฉ่อง” พระสงฆ์มอญ ได้รับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระสังฆราช” จริงหรือ?
“พระมหาเถรคันฉ่อง” พระสงฆ์มอญผู้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือสมเด็จพระนเรศวร แห่งกรุงศรีอยุธยา บทบาทหนึ่งที่ทราบกันดี และปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์ “ตํานานสมเด็จนเรศวรมหาราช” (แสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี) คือ กรณี “พญาเกียรติ” และ “พญาราม” ที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากหงสาวดี
ในพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ สรุปได้ว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงยกกองทัพไปถึงเมืองแครง แต่เจ้าเมืองแครงให้ปลัดเมืองออกมาทูลว่า ขอเชิญเสด็จพักไพร่พลอยู่นอกเมืองแครงก่อน สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงให้พักทัพอยู่ใกล้พระอารามของพระมหาเถรคันฉ่อง
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีคิดแผนการที่จะกำจัดสมเด็จพระนเรศวร จึงส่งพญาเกียรติและพญารามไปดำเนินแผนการ แต่ขุนนางมอญทั้งสองแจ้งความซึ่งพระเจ้าหงสาวดีคิดทำการทั้งปวงนั้นให้พระมหาเถรคันฉ่องทราบทุกประการ พระมหาเถรคันฉ่องคิดว่าสมเด็จพระนเรศวรหาความผิดมิได้ ค่ำนั้นจึงนำความไปกราบทูลให้ทรงทราบ
กระทั่งนำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากหงสาวดี
พงศาวดารกล่าวต่อไปว่า “ครั้น ณ วันศุกร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 6 เพลา 11 ทุ่ม ให้เอาพระคชาธารเข้าเทียบเกย ทอดพระเนตรเห็นพระสารีริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์แต่ประจิมทิศผ่านพระคชาธารไปโดยบุรพทิศ จึงเสด็จพยุหยาตราทัพออกจากเมืองแครง พระมหาเถรคันฉ่องพญาพระรามพญาเกียรติแลญาติโยมก็มาโดยเสด็จ ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งปวงก็แยกย้ายกันตีครัวต้อนครัวรายทางมาได้ประมาณหมื่นเศษ…
สมเด็จพระราชบิดากับสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าตรัสดำริการกันเสร็จแล้ว จึงโปรดให้พระมหาเถรคันฉ่องอยู่วัดพระมหาธาตุ พระราชทานสัปทนกันชิงคานหามคนหามจันหันนิตยภัตร เครื่องสมณบริขารต่าง ๆ ฝ่ายพญาเกียรติพญาพระรามนั้น ก็พระราชทานเจียดทอง เต้าน้ำทอง กระบี่บั้งทอง เงินตรา เสื้อผ้าพรรณนุ่งห่มแลเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก แลครอบครัวมอญซึ่งกวาดลงมานั้น ก็พระราชทานให้พญาพระรามพญาเกียรติควบคุมว่ากล่าวด้วย แลพญาพระรามพญาเกียรตินั้นให้อยู่ตำบลบ้านหลังวัดนก แล้วสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็กราบถวายบังคมลากลับมายังเมืองพระพิษณุโลก…”
ต่อมา พระมหาเถรคันฉ่องได้รับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระอริยวงศญาณ ปริยัติวรา สังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาปริณายก ติปีฎกธราจารย์ สฤษติขัติยสารสุนทร มหาคณฤศรอุดรวามคณะสังฆาราม คามวาสี…”
อย่างไรก็ตาม การสถาปนาพระมหาเถรคันฉ่องเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น เรื่องนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6) ทรงมีพระวินิจฉัยว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องจริงตามที่พงศาวดารบันทึกไว้ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงยกมาอ้างไว้ในพระนิพนธ์ของพระองค์ เรื่องตำนานคณะสงฆ์ ดังนี้
“ข้อนี้ ข้าพเจ้าได้กราบทูลหารือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีรับสั่งว่าทรงพิจารณาดูเห็นเหตุหลายประการ ซึ่งทรงพระดำริว่า ความจริงจะไม่เป็นอย่างที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร เพราะพระมหาเถรคันฉ่องนั้นเป็นมอญนอกซึ่งพูดไทยไม่ได้ และไม่รู้จักขนบธรรมเนียมไทย ถึงจะมีอุปการแก่สมเด็จพระนเรศวรสักเพียงไร ซึ่งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชจะทรงตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานแก่สงฆ์บริษัททั่วไป หรือแม้จะเป็นเพียงเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ ก็จะบังคับบัญชาการไม่ได้ ไม่ต้องป่วยกล่าวไปถึงว่าอาจจะเป็นเหตุฝ่าฝืนความนิยมของพระสงฆ์ไทยทั่วไป…
ทรงพระดำริห์เห็นว่า นามสมเด็จพระอริยวงศญาณนี้ พิจารณาโดยทางภาษาเห็นเป็นนามใหม่ น่าจะพึ่งมีในชั้นหลังลงมา ไม่ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ข้อที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงตั้งพระมหาเถรคันฉ่องเป็นพระราชาคณะนั้นเชื่อได้ว่าเป็นความจริงเป็นแน่ แต่อย่างสูงก็เห็นจะเป็นเพียงเจ้าคณะมอญ อย่างพระสุเมธาจารย์ ไม่กว่านั้น จะเป็นเพราะเหตุที่ปรากฏว่า โปรดให้ไปอยู่วัดมหาธาตุ วัดมหาธาตุเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช จึงพาให้เข้าใจไปว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงตั้งพระมหาเถรคันฉ่องเป็นสมเด็จพระสังฆราชว่าคณะเหนือ
ข้าพเจ้าเห็นว่า พระกระแสดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่ทรงในเรื่องนี้ ประกอบด้วยหลักฐานสมเหตุผล ความจริงเห็นจะเป็นเช่นทรงพระดำริ และยังเห็นต่อไปว่า ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า แบ่งคณะสงฆ์เป็นคณะเหนือ คณะใต้ เมื่อครั้งพระมหาเถรคันฉ่องเข้ามานั้น ดูท่าจะผิดอีก ด้วยทำเนียบสมณศักดิ์กรุงเก่า แม้ในชั้นหลังทีเดียวยังเรียกคณะคามวาสี อรัญวาสี มิได้เรียกว่า คณะเหนือ คณะใต้ ที่มาจัดเป็นคณะเหนือคณะใต้บางทีจะมีเค้ามูลมาแต่กรุงเก่า แต่น่าจะมาเรียกกันในชั้นกรุงธนบุรี หรือกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง…”
สรุปแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาคงจะสถาปนาหรือแต่งตั้งพระมหาเถรคันฉ่องให้มีสิทธิ์และศักดิ์สูงขึ้น แต่มิได้สถาปนาเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราช อาจแต่งตั้งให้ดูแลคณะสงฆ์มอญในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอพยพและกวาดต้อนเข้ามามากในสมัยนั้น และด้วยเหตุที่โปรดเกล้าฯ ให้ไปพำนักที่วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช จึงอาจเข้าใจคลาดไปว่าพระมหาเถรคันฉ่องได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงศรีอยุธยา
อ่านเพิ่มเติม :
- พระนเรศวร รวบรวมกำลังพลจากไหนมาฟื้นฟูบ้านเมือง หลังเสียกรุง
- สมเด็จพระนเรศ กับ “พระมเหสี” ที่หลักฐานไทยไม่เคยกล่าวถึง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เล่ม 1. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูพินิจสมาจาร (หลวงพ่อโด่) ณ เมรุวัดนามะตูม อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี วันที่ 16 มีนาคม 2518. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ พ. พิทยาคาร, 2518.
พระครูปลัดสัมพิพัฑฒญาณาจารย์ (บุญช่วย). คณะสงฆ์รามัญในประเทศไทย, อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พระวินัยมุนี (ทองใบ อาภากโร) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 20 พฤษภาคม 2522. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดกิตติวรรณ, 2522.
มอญที่เกี่ยวกับไทย, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูบวรธรรมกิจ (หลวงปู่เทียน) ณ เมรุวัดโบสถ์ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี วันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2512. พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2512.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2565