ความขัดแย้งกรณีพระอาการประชวร ของรัชกาลที่ 5

ภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)

ปลาย พ.ศ. 2449 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมพรรษา 53 พรรษา บังเกิดพระโรคเบียดเบียน ดอกเตอร์เบอร์เมอร์ นายแพทย์กรมทหารเรือชาวเยอรมัน ตรวจพระอาการ และแนะนำให้เสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ในที่อากาศเย็นและแห้ง เช่นในยุโรป ตอนที่พระอาการยังไม่มาก นั่นทำให้เกิดการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450

รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ออกจากพระนครวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ 2449 เสด็จฯ ถึงอิตาลีเป็นประเทศแรก ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2450 (นับศักราชอย่างเก่า ปีใหม่วันที่ 1 เมษายน) ขณะที่ประทับอยู่ที่เมืองซานเรโมในอิตาลี ทรงได้รับการตรวจเบื้องต้นโดยแพทย์ 2 คน ซึ่งได้รับการแนะนำมาจากพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ผลการตรวจพบว่า ยังไม่มีอาการน่าเป็นห่วง พระอวัยวะภายในยังเป็นปกติไม่มีโรคร้ายแรงดังที่วิตกกัน ดังพระราชหัตถเลขาที่ทรงแจ้งเข้ามาว่า

Advertisement

“แก [หมายถึง แพทย์] เลยทุ่มเหว [หมายความว่า ยอ] ว่าที่พ่อกลัวจะตายในสามปีนั้นไม่ตาย ถ้าผ่อนทำงานให้น้อยลงหน่อย นอนให้มากขึ้นอีกหน่อย จะอยู่ได้ถึง 80 พ่อก็บอกแกว่านี้เป็นการทุ่มเหวของหมอตามเคย พ่อไม่เชื่อ แกไม่ยักฟังดันทุ่มไปอีก แกว่าที่ว่านี้ตามลักษณะกำลังร่างกายที่จะเป็นไปได้ตามที่แลเห็น เช่นกับรูปร่างและหัวใจปอดหนุ่มกว่าอายุ เว้นแต่ถ้ามีโรคภัยอันใดกระแทกกระทั้นมา นั่นก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะอยู่ไปไม่ถึง ตาหมอคนนี้เป็นคนโปรดของแกรนด์ตุ๊กและแกรนด์ดัสเชสออฟบาเดน” [1]

การวินิจฉัยของแพทย์ข้างต้น ทำให้ทรงนิ่งนอนใจและมิได้ทรงเร่งรุดไปยังเยอรมนีตามที่ทรงตั้งพระทัยไว้ หากทรงรอต่อไปอีก 4 เดือนจึงถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ เมืองบาด ฮอมบวร์ก (Bad Homburg) ตามคำแนะนำของพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2450 และจะส่งผลเสียหายที่ไม่มีใครคาดคิดต่อการรักษาพยาบาลในภายภาคหน้า

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2453 แล้ว รัชกาลที่ 6 มีพระราชวินิจฉัยขัดแย้งกับพระอาการที่แท้จริงของพระบรมราชชนก ดังนี้

“ถ้าดูกันเผินๆ ก็ดูเหมือนว่าพระเจ้าหลวงประชวรอยู่ได้เพียง 4 วันเท่านั้นก็เสด็จสวรรคต แท้จริงหาเปนเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อก่อนเสด็จพระราชดำเนินประพาศยุโรปนั้นได้เริ่มทรงพระประชวรแล้ว แต่ปิดกันนักจึงมิได้มีใครรู้

ในการเสด็จไปยุโรปก็ว่าจะไปให้หมอตรวจพระอาการ และได้ตรวจจริง ทั้งได้พยายามรักษาด้วย แต่ในรายงานที่โปรดเกล้าฯ ให้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษานั้น หาได้ลงตลอดตามที่หมอตรวจและออกความเห็นไม่ มีแต่ว่ามีพระอาการประชวรเล็กน้อยที่ในช่องพระนาสิกและพระศอ กับว่าพระเส้นประสาทไม่ค่อยแข็งแรงเพราะทรงทำงานกลางคืนและทรงพระโอสถสูบมากเกินไป

ส่วนความเห็นของหมอที่ว่ามีพระอาการพระวักกะพิการเรื้อรัง ซึ่งแท้จริงเป็นพระอาการสำคัญอันต้องวิตกนั้น หาได้ลงพิมพ์ให้ผู้ใดทราบไม่ ที่รู้ย่อมจะได้นึกระแวงอยู่ เพราะตามข่าวคราวที่ได้มาจากประเทศยุโรปถึงการรักษาพระองค์นั้น ย่อมจะเห็นได้อยู่ว่าเปนการใหญ่กว่าที่จำเปนเพื่อเยียวยาหรือบำบัดพระอาการเล็กน้อยเท่าที่ได้โฆษณาไว้” [2]

การ “ปิดข่าว” ของทางราชสำนักและผลการ “วินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน” ของแพทย์ชุดแรกที่อิตาลี มีผลอย่างมากต่อการติดตามพระอาการอย่างไม่เป็นกิจจะลักษณะ รัชกาลที่ 6 ทรงวิจารณ์ในภายหลังอีกว่า

“ตั้งแต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปมาแล้วก็สังเกตเห็นได้ว่า ทูลกระหม่อมมีพระอาการประชวรอย่างน่าวิตก พูดกันอย่างศัพท์สามัญว่า เห็นชัดว่าทรงทุพพลภาพทีเดียว พระองค์ท่านเองก็ทรงทราบดีอยู่เช่นกัน จึงได้ทรงพยายามบริหารพระองค์มากทีเดียว มีเสด็จประพาศบ่อยๆ และออกไปประทับอยู่ที่เพชรบุรี (ตามคำแนะนำของพวกเจ้าจอม “ก๊ก อ”) และถึงเมื่อเสด็จอยู่ในกรุงก็ไม่ใคร่จะเสด็จออกในการงานพิธีต่างๆ มักโปรดเกล้าฯ ให้ฉันไปแทนพระองค์เสียเปนพื้น” [2]

ความคิดเห็นขัดแย้งกับพระอาการประชวรที่แท้จริง ทำให้เกิดข้อสันนิษฐาน 3 ข้อ อันได้แก่

  1. รัชกาลที่ 5 ทรงประเมินอาการของพระโรคต่ำเกินไป เป็นเหตุให้ไม่ทรงเห็นความจำเป็นที่ต้องรีบรักษาแต่เนิ่นๆ
  2. ทรงเข้าพระทัยผิดจากคำวินิจฉัยที่ผิดพลาดของแพทย์ชุดแรกที่ซานเรโม เมื่อแพทย์รับรองว่ามิได้ทรงเป็นอะไรมาก ทำให้ทรงลังเลต่อไปอีกถึง 4 เดือน ภายหลังเสด็จฯ ถึงยุโรปแล้ว โดยทรงหันไปทุ่มเทเวลากับการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับรัฐบาลฝรั่งเศสที่ปารีส จนเมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จจึงค่อยเสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ตามหมายกำหนดการเดิมอย่างจริงจัง เป็นเหตุให้การรักษาพยาบาลขาดตอนลง และ
  3. ทรงตระหนักและทำพระทัยล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่าพระอาการหนักเกินกว่าจะรักษาให้หายได้ จึงทรงนิ่งนอนใจที่จะขวนขวายหาทางรักษาให้หายขาด โดยปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม

สำหรับประเด็นที่ 3 ซึ่งถือเป็นข้อสังเกตใหม่ รู้ได้จากพระราชดำรัสเฉพาะกับบุคคลใกล้ชิดที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเพียง 2 ท่าน คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ความว่า

“ตัวฉันเองฉันรู้ว่า ลงมือไม่สบายจริงๆ มาสัก 4-5 ปีแล้ว แต่ที่ไม่สบายจนน่ากลัวรู้ว่าเป็นโรคลึกนั้นใน 3 ปีนี้ สังเกตว่าทวีขึ้นทุกปี ในปีนี้เป็นมากดังเช่นเห็นอยู่แล้ว” [3] และตามที่มีพระราชปรารภกับเจ้าพระยายมราชว่า “แต่อ้ายเรื่องจะหายเป็นปรกตินั้นให้สงไสย ดีร้ายอย่างไรคงจะไม่รู้” [4]

การที่ไม่มีใครรู้ความจริงเกี่ยวกับพระอาการประชวรแต่แรก ทำให้โรคร้ายหลบในอยู่นานหลายปี กว่าจะถึงมือแพทย์พระอาการก็กำเริบเกินกว่าจะรักษาให้หายขาดได้เสียแล้ว ถึงแม้จะเยียวยากันอย่างเต็มที่ถึง 1 เดือนเต็ม (25 สิงหาคม-25 กันยายน พ.ศ. 2450) ณ เมืองบาด ฮอมบวร์ก เต่เมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองไทย พระอาการกลับทรุดหนักลงอย่างรวดเร็วมากกว่าก่อนเดินทาง ดังพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 6 ข้างต้นที่ว่า รัชกาลที่ 5 มีพระอาการประชวรอย่างน่าวิตก

แต่ก็ไม่พบคำอธิบายของคนในสมัยนั้นว่า เพราะเหตุใดทุกฝ่ายจึงชะล่าใจเกี่ยวกับพระอาการประชวรเป็นเวลายาวนาน น่าประหลาดใจไม่น้อยคือ คำพยากรณ์ที่ทรงไว้ใน “ไกลบ้าน” ว่าทรงกังวลว่าจะสิ้นพระชนม์ภายใน 3 ปี กลายเป็นจริง ส่วนคำพูดของหมอที่อิตาลีที่ว่าจะทรงมีพระชนมชีพอยู่ต่อไปจน 80 นั้น กลับไม่เป็นดังที่พูด

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 ยังทรงตรอมพระทัย เนื่องด้วยพระองค์เจ้าอุรุพงศ์-พระราชโอรสรุ่นเล็กซึ่งเป็นที่โปรดปราน ทรงประชวรเมื่อเสด็จฯ กลับจากยุโรปไม่นาน พระอาการประชวรของพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ก็รุนแรงขึ้นตามลำดับ และสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2452 ขณะมีพระชันษาเพียง 17 ปี การจากไปของพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงตรอมพระทัย ซึ่งส่งผลต่อพระอาการประชวร และเสด็จสวรรคตในที่สุด


เชิงอรรถ :

[1] พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 10 จากซานเรโม อิตาลี วันที่ 29 เมษายน 126.

[2] มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน 2550

[3] พระราชหัตถเลขา, ร.5 ถึงกรมพระยาดำราชานุภาพ เมื่อเสด็จประพาสยุโรป ครั้ง 2 พ.ศ.2450, พิมพ์ในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหกรมเรียงไกร พ.ศ. 2461.

[4] พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระจุลจอมเกล้าฯ ถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), พิพม์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยายมราช 10 เมษายน 2482.

 


ข้อมูลจาก

ไกรฤกษ์ นานา. สยามกู้อิสรภาพตนเองทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน, สำนักพิมพ์มติชน, 2550.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2564