เผยแพร่ |
---|
สมัยรัชกาลที่ 5 อดีตประธานาธิบดี กร้านท์ ของสหรัฐอเมริกา ที่ครองตำแหน่ง 2 วาระ (พ.ศ. 2411-2419) หลังจากพ้นตำแหน่ง นายกร้านท์ (พร้อมภรรยาและผู้ติดตาม) วางแผนเดินทางรอบโลกเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นข่าวดังในเวลานั้น หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง The New York Herald ถึงกับลงทุนส่งบรรณาธิการอาวุโสให้ติดตามไปทำข่าวอย่างใกล้ชิด
แผนการเดินนั้น เริ่มจากเดินทางโดยเรือแล่นข้ามหาสมุทรแอตแลนติคสู่ไอร์แลนด์และอังกฤษ เพื่อต่อรถไฟท่องยุโรปในฐานะแขกของรัฐบาลเบลเยียม, สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, อิตาลี, อียิปต์, อิสราเอล, ตุรกี, กรีก, ฮอลแลนด์, ปรัสเซีย (เยอรมนี), เดนมาร์ก, นอร์เวย์-สวีเดน, รัสเซีย, ออสเตรีย-ฮังการี, สเปน, โปรตุเกส จากนั้นจะเดินทางด้วยเรือเดินสมุทรอีกครั้งมุ่งหน้าสู่อินเดีย, พม่า, สิงคโปร์, จีน และญี่ปุ่น แต่ไม่มีประเทศไทย
เมื่อกร้านท์เดินทางถึงสิงคโปร์ หากรัชกาลที่ 5 ทรงส่งพระราชสาส์ฯ เชิญเขามาเยือนประเทศไทยในฐานะราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ ซึ่งกร้านท์ก็รับคำเชิญ โดยพำนักอยู่ในไทย 6 วัน ( 11-16 เมษายน 2422) ระหว่างนั้นกร้านท์ได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 และพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถาร ดังที่มีการบันทึกดังนี้
กร้านท์ : “ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับในครั้งนี้”
รัชกาลที่ 5 : “ข้าพเจ้าก็หวังว่าท่านประธานาธิบดีจะพอใจ และถ้าหากท่านมีประสงค์จะได้ชม หรือต้องการสิ่งใดในสยามแล้วก็โปรดแจ้งให้ทราบด้วย ข้าพเจ้าจะยินดีมากหากได้สนองความประสงค์นั้น”
กร้านท์ : “ข้าพระพุทธเจ้าขอขอบพระทัยในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อข้าพระพุทธเจ้าและคณะ”
รัชกาลที่ 5 : “การมาของท่านในครั้งนี้ นําความปลาบปลื้มมายังเรา เพราะมิใช่รัชกาลของเราเท่านั้น แต่ครั้งรัชกาลของพระบรมชนกนารถของเราแล้ว ที่สยามได้พึ่งพาประเทศของท่าน สยามมิได้มองเพียงว่าอเมริกาเป็นประเทศใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นมิตรที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย
เนื่องจากอเมริกาไม่มีความทะเยอทะยานในทวีปเอเชียของเรา ทําให้คนในเขตนี้เบาใจเมื่อรําลึกถึงท่าน อิทธิพลและผลงานของชาวอเมริกันในประเทศนี้มีบทบาทในทางที่ดีและมีคุณค่าสําหรับเราเสมอมา พวกมิชชันนารีให้ความรู้ทั้งศิลปะ วิทยาการและทักษะด้านเครื่องจักรกล เป็นที่น่ายกย่อง เราภูมิใจที่จะกล่าวสรรเสริญกับ ท่านด้วยตนเอง”
กร้านท์ : “อเมริกาตั้งเป็นนโยบายมานานแล้วที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของนานาประเทศนโยบายดังกล่าวได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติของเรา ประสบการณ์ที่ผ่านมาสนับสนุนปรัชญาของเราเป็นอย่างดี อเมริกาต้องการพลังจากพลเมืองเพื่อการพัฒนาและสร้างความศิวิไลซ์บนโลกนี้ ผลพลอยได้จากการเปิดตลาดในตะวันออกไกลก็เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสินค้าของเรา นอกเหนือจากเหตุผลด้านการค้าแล้ว เราก็มิได้มีความปรารถนาด้านการเมืองเลย”
รัชกาลที่ 5 : “ข้าพเจ้าหวังว่าการค้าและพาณิชย์ระหว่างประเทศของเราจะเพิ่มพูนต่อไปอีก สยามเป็นดินแดนที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากร แต่มีข้อจํากัดเกี่ยวกับความรู้ที่จะนำทรัพย์ในดินขึ้นมาใช้ เรามีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่ประชากรเพียงน้อยนิด ทําให้การพัฒนาทรัพยากรเป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่มีประสิทธิภาพ”
กร้านท์ : “ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจปัญหานี้ดี และคิดว่าอุปสรรคน่าจะหมดไป ถ้าใช้แรงงานที่มีคุณภาพเข้ามาดําเนินการ อย่างเช่น การทําเหมืองแร่ เรามีผู้ชํานาญงานจากรัฐเนวาดา และแคลิฟอร์เนีย ผู้สามารถชี้แหล่งแร่ธาตุได้ และมีเครื่องยนต์กลไกล เฉพาะทางที่ทันสมัยที่สุดในแถบตะวันตก”
รัชกาลที่ 5 : “ตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวสยามดําเนินชีวิตแบบอนุรักษนิยม และจะไตร่ตรองทุกๆ เรื่องด้วยความรอบคอบ นโยบายของเราด้านการต่างประเทศก็มิได้สลับซับซ้อนอะไร เราต้องการอยู่ร่วมกับประเทศมหาอํานาจอย่างสงบสุข และพัฒนาบ้านเมืองไปเรื่อยๆ เราไม่สามารถแข่งขันหรือเทียบชั้นกับชาติมหาอํานาจได้ เราจึงอยู่อย่าง สงบเสงี่ยมเจียมตัว และเชื่อมั่นว่าประเทศมหาอํานาจจะให้ความยุติธรรมแก่เรา
สถานภาพเช่นนี้บางที่ทําให้เกิดเข้าใจผิดว่า เราอ่อนแอและยอมไปหมดทุกเรื่อง ซึ่งไม่จริงเลย แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเราได้เดินทางไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ถ้ามองย้อนกลับไปเราก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจเลย ชาติมหาอํานาจต่างก็เข้าใจในจุดยืนของเราดี และให้กําลังใจเราเสมอมา”
รัชกาลที่ 5 : “ข้าพเจ้ามีความสนใจเกี่ยวกับชาวจีนในอเมริกา พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง?”
กร้านท์ : “ในอเมริกา มีกลุ่มชนชาวจีนขนาดใหญ่อาศัยอยู่ ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน แต่คนอเมริกันเองก็มีความรู้สึกต่อชาวจีนแตกต่างกันไป บ้างก็ว่าพวกเขามีลักษณะเป็นทาสเช่นชาวแอฟริกัน บ้างก็ว่าพวกเขาเป็นแรงงานต่างด้าว”
รัชกาลที่ 5 : “ข้าพเจ้าอยากทราบว่าชาวจีนที่นั้นพาภรรยา และครอบครัวเข้ามายังอเมริกาด้วยหรือไม่ และมีความผูกพันกับแผ่นดินใหม่อย่างไร?”
กร้านท์ : “พวกที่มาส่วนใหญ่เป็นชายโสด ทําให้เกิดช่องว่างในสังคมทั่วไป ในฐานะผู้ใช้แรงงานพวกเขามีคุณภาพ และเราก็ต้องการแรงงานเช่นนี้ ในอเมริกามีงานมากมายรอพวกเขาอยู่”
รัชกาลที่ 5 : “ชาวจีนในประเทศสยามก็เช่นเดียวกัน พวกเขามิได้นําภรรยาหรือครอบครัวมาด้วย แต่พวกเขาก็มีลักษณะที่ดีติดตัวมา แล้วชาวจีนในอเมริกาต้องเสียภาษี ให้รัฐบาลหรือไม่?”
กร้านท์ : “ในอเมริกาเราไม่เรียกเก็บภาษีจากชาวจีนผู้ใช้แรงงาน [แต่ในสยาม ชาวจีนต้องเสียภาษีแก่รัฐหรือที่เรียกผูก-ไกรฤกษ์ นานา] ในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีชาวจีนอยู่มาก ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า เราไม่เคยเก็บภาษีพวกเขา ในซานฟรานซิสโกพ่อค้าชาวจีนต้องเสียภาษีอากรและภาษีโรงเรือน ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ความลําบากสําหรับพวกเขา เพราะพวกเขาไม่มีครอบครัวให้ต้องเป็นภาระ”
กร้านท์ : “ข้าพระพุทธเจ้าทราบว่าสยามจัดตั้งสถานทูต และสถานกงสุลในต่างประเทศหลายแห่ง จะเป็นความคิดที่ดีถ้าสยามจะแต่งตั้งผู้แทนในอเมริกาบ้าง”
รัชกาลที่ 5 : “ข้าพเจ้าเป็นกังวลในเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะงบประมาณของเรา มีจํากัดจนถึงเวลานี้ เราไม่สามารถจัดตั้งผู้แทนของเราในทุกๆ ประเทศที่เราติดต่อได้ ดังเช่นประเทศที่ร่ำรวยกระทํา แต่เราก็จะดําเนินการกับรัฐบาลของท่านในไม่ช้า”
กร้านท์ : “ขณะนี้ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ทําเนียบ แต่ก็แน่ใจว่ารัฐบาลอเมริกันจะต้อนรับคณะทูตจากสยามด้วยความยินดียิ่ง”
รัชกาลที่ 5 : “ข้าพเจ้าพอใจกับข้อเสนอจากท่าน และเชื่อมั่นเสมอมาว่าชาว อเมริกันเป็นชนชาติที่ไว้วางใจได้เสมอ”
กร้านท์ : “ข้าพระพุทธเจ้าหวังว่าพระองค์ท่านจะเสด็จมาเยือนอเมริกาในอนาคตอันใกล้ และข้าพระพุทธเจ้าจะยินดีมากถ้าจะได้มีโอกาสถวายการต้อนรับและตอบแทนความมีน้ำพระทัยของพระองค์”
รัชกาลที่ 5 : “ข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์ในวัยเยาว์ และต้องรับภาระมากมายในการบริหารแผ่นดิน ทําให้ไม่มีโอกาสเดินทางไปไกลๆ ได้ แต่วันหนึ่งข้างหน้าข้าพเจ้าก็หวังจะได้ไปเยือนอเมริกา”
กร้านท์ : “ข้าพระพุทธเจ้าทราบมาว่าพระองค์ท่านได้ส่งคนหนุ่มไปศึกษา ในเยอรมนีและอังกฤษ สยามน่าจะส่งพวกเขาไปยังอเมริกาบ้าง ผู้นําในประเทศแถบเอเซีย เช่น จีน และญี่ปุ่น ต่างก็ให้ความเชื่อมั่นในสถาบันการศึกษาของเรา”
รัชกาลที่ 5 : “ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะส่งคนหนุ่มไปศึกษาต่อในอเมริกาแน่นอน และเมื่อมีโอกาสก็จะระลึกถึงคําแนะนําของท่านเป็นอันดับแรก” [McCAbe, James abney. A Tour Around The World by Gen.Grant. Philadephia: The National Publishing Co., Ltd.,1879.]
แม้กร้านท์ไม่ได้เห็นความสำคัญเร่งด่วนในการมาเมืองไทย แต่เมื่อได้รับคำชฺญจากราชสำนักไทย เขาก็คว้าโอกาสนั้น ขณะที่ฝ่ายไทยเองก็เป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ขาดตอนไปตั้งแต่รัชกาลที่ 4 อีก 3 ปีให้หลังการเมอืงไทยของกร้านท์ ทั้งงอสองประเทศก็สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ รัชกาลที่ 5 ก็ทรงวางโครงการเสด็จประพาสอเมริกาอย่างเป้ฯทางการ แต่ต้องระงับไปเพราะเกิดเหตุประธานาธิบดีแม็คคินลีย์ถูกลอบสังหารเสียก่อน
ข้อมูลจาก
ไกรฤกษ์ นานา. ค้นหารัตนโกสินทร์ 2 เทิดพะรเกียรติ 100 ปี วันสวรรคตรัชกาลที่ 5, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2564