ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
บันทึกเด็กสาวผู้ทูลความจริง กล่าวว่า ฤดูหนาว ค.ศ. 1859 จักรพรรดิเสียนเฟิง [ครองราชย์ ค.ศ. 1851-1861] เสด็จมาคัดเลือกนางกำนัล บรรดาสาวงามมาแสดงความเคารพรออยู่หน้าพระที่นั่งตั้งแต่เช้ามืด แต่รอนานแล้วองค์จักรพรรดิยังไม่เสด็จออก เด็กสาวเริ่มตัวสั่นท่ามกลางลมหนาว จนเด็กสาวผู้หนึ่งทนไม่ไหวและจะถอนตัว แต่ถูกขันทีที่คุมพิธีห้ามไว้ จนทะเลาะกัน เด็กสาวผู้นั้นกล่าวเสียงดังว่า
“ข้านึกว่าราชสำนักกระทำการใดย่อมมีขั้นตอนชัดเจน ยามนี้ทุกแห่งมีแต่สงคราม อาหารการกินในเมืองเริ่มขาดแคลน ชาวบ้านต้องกินเพียงโจ๊กประทังชีวิต ในบ้านไม่มีข้าวสารพอจะกินข้ามวัน บิดาบุตรไม่อาจปกป้องกันและกันได้ ราชสำนักไม่เลือกใช้งานขุนพล เสนาบดี หรือกระทั่งเรียกนักปราชญ์ราชบัณฑิตเข้าเฝ้า แต่วันนี้กลับคัดเลือกพระสนม พรุ่งนี้ยังจะเลือกนางใน ข้าได้ยินเรื่องราวของจักรพรรดิในอดีตที่ไร้คุณธรรมไร้ความสามารถมาก็มาก แล้วจักรพรรดิทุกวันนี้แตกต่างอย่างไรหรือ”
ขณะนั้นเอง จักรพรรดิเสียนเฟิงเสด็จออกมาจากลับแลหลังพระที่นั่ง ตรัสถามว่าทะเลาะกันด้วยเหตุอันใด เหล่าสตรี ณ ที่นั้น “กลัวจนหน้าถอดสี ไม่มีใครกล้าตอบ” แต่สาวน้อยผู้นี้รีบคุกเข่าลงกราบทูลมูลเหตุต่อหน้าพระพักตร์ด้วยท่าที่ “กล้าทำกล้ารับ” ผลคือจักรพรรดิเปลี่ยนพระทัยยกเลิกพิธีคัดเลือกสาวงาม
การกระทำของเด็กสาวผู้นี้ลือลั่นไปทั่วเมืองหลวง “วิญญูชนต้องกล่าวความจริง” หลายร้อยปีจึงจะมีสักครั้งที่ปรากฏ เหตุการณ์พิทักษ์คุณธรรมให้ผู้คนพึงพอใจ ทั้งที่ความกล้าหาญของเด็กสาวเทียบได้กับ “จอมยุทธ์หญิง” แต่บันทึกกลับเรียกนางเป็นเพียง “เด็กสาว”
เรื่องเล่านี้ชื่อว่า บันทึกเด็กสาวผู้ทูลความจริง (直辞女童传) ประพันธ์โดยหวังข่ายอวิ๋น สมัยปลายราชวงศ์ชิง ผู้ประพันธ์บันทึกไว้อีกว่า “ต่อมาพระองค์ (จักรพรรดิ) ใช้เรื่องนี้ลดขั้นเขา (บิดาของเด็กสาว)” และบรรยายต่อว่า หลังยกเลิกพิธีคัดเลือกนางกำนัล ภรรยาขุนนางท่านหนึ่งเสียชีวิตพอดี “นางจึงถูกจับแต่งงานกับเขา” ตอนจบกลับไม่มีความสุขเอาเสียเลย
หมายเหตุ บทความนี้คัดย่อบางส่วนจาก จ้าวกว่างเชา-เขียน, อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และชาญ ธนประกอบ-แปล, ร้อยเรื่องราว วังต้องห้าม, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ตุลาคม 2564