ข้อสรุปลักษณะทำมาหากิน-ที่พัก-เครื่องมือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย ราว 2,500 ปีก่อน

หลุมขุดค้นที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ในระยะแรก
หลุมขุดค้นที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ในระยะแรก เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2544

สรุปลักษณะวัฒนธรรมบางประการ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ช่วงราว 2,500 ปีมาแล้วลงมา…

ลักษณะการทำมาหากิน

ในช่วงระยะเวลานี้ยังคงมีวิธีการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่สืบเนื่องต่อมา แต่ก็ได้มีพัฒนาการด้านการเกษตรกรรมบางประการเกิดขึ้นบ้างในช่วงสมัยหลัง ๆ ดังได้พบว่าในราว 2,700-2,500 ปีมาแล้วเริ่มมีการเลี้ยงควาย และน่าจะมีการใช้ควายเป็นสัตว์แรงงานในการไถนาข้าวด้วย

เทคโนโลยีการทำเครื่องมือใช้สอย

พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงปลายนี้ ได้แก่การทำและใช้โลหะ โดยมีพัฒนาการตามช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ดังนี้

ในราว 2,700-2,500 ปีมาแล้ว เริ่มปรากฏมีการใช้เหล็กทำเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธ เช่น หัวขวาน ใบหอก มีด หัวลูกศร ฯลฯ ในช่วงนี้สำริดก็ยังคงเป็นที่นิยมใช้อยู่ แต่เปลี่ยนมาเป็นวัสดุที่ใช้ทำเครื่องประดับเป็นส่วนใหญ่

พัฒนาการด้านโลหกรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเมื่อราว 2,500-2,300 ปีมาแล้ว ก็คือการทำสำริดชนิดที่มีดีบุกผสมในปริมาณสูง ซึ่งหมายถึงสำริดที่มีดีบุกผสมอยู่มากกว่า 20% ทำให้โลหะผสมชนิดนี้มีความแข็งมากแต่ก็เปราะมาก มีสีตั้งแต่คล้ายทองจนถึงคล้ายเงิน โดยขึ้นอยู่กับปริมาณดีบุกที่ผสม

คุณสมบัติด้านความแข็งแต่เปราะของโลหะผสมชนิดนี้ทำให้ไม่สามารถผลิตสิ่งของที่มีคุณสมบัติเหมาะใช้งานออกมาได้โดยวิธีการหล่อสำริดแบบสามัญ แต่จะต้องประยุกต์เอาวิธีการของการตีเหล็กมาใช้ร่วมด้วยจึงจะได้วัตถุที่เหมาะสมคือมีความแข็งมากแต่ไม่เปราะ วิธีการดังกล่าวประกอบด้วยการเผาแล้วตี ในขณะที่โลหะร้อนเป็นสีแดงจนได้รูปร่างวัตถุที่ต้องการ จากนั้นต้องเผาวัตถุที่ตีขึ้นรูปจนได้ที่แล้วให้ร้อนเป็นสีแดงอีกครั้งแล้วชุบลงไปในน้ำเย็นทันที ด้วยการใช้เทคนิคเช่นนี้ทำให้ช่างโลหะสามารถทำเครื่องประดับและภาชนะสำริดที่มีความแข็งมาก มีความทนทานและมีสีสวยงามกว่าสำริดธรรมดา

หลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

แบบแผนที่พำนักอาศัย

เมื่อพิจารณาหลักฐานที่พบในการขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่มีร่องรอยของวัฒนธรรมอายุตั้งแต่ 2,500 ปีมาแล้วลงมาแหล่งต่าง ๆ เห็นได้ว่าการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยรวมกันเป็นหมู่บ้านเป็นแบบแผนการตั้งถิ่นฐานที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อมา

อย่างไรก็ตามในช่วงระยะสมัยนี้เริ่มปรากฏมีชุมชนมากขึ้น กระจายตั้งอยู่ในพื้นที่ภูมิสัณฐานต่าง ๆ หลายชนิดทั้งที่เป็นพื้นที่ลุ่ม พื้นที่ดอน และพื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับต่าง ๆ ในหลายภูมิภาคของประเทศไทย บางชุมชนมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษกว่าชุมชนอื่น ๆ ซึ่งน่าจะมีประชากรหนาแน่นกว่าด้วย ดังเห็นได้จากปริมาณของโบราณวัตถุหรือหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบางแหล่ง

กล่าวโดยสรุปในอีกลักษณะหนึ่งได้ว่า ตั้งแต่ราวช่วงระหว่าง 2,500-1,600 ปีมาแล้ว เริ่มเกิดมีชุมชนขนาดใหญ่มากปรากฏขึ้นมาและกระจายอยู่ร่วมสมัยกับชุมชนขนาดเล็ก ๆ นักวิชาการหลายท่านเห็นว่าขนาดความแตกต่างของชุมชนเช่นนี้อาจแสดงถึงความแตกต่างในลำดับสถานะของชุมชนก็เป็นได้ ทั้งนี้โดยชุมชนใหญ่นั้นอาจเป็นศูนย์กลางในขณะที่ชุมชนเล็ก ๆ อาจเป็นชุมชนบริวาร ความแตกต่างของชุมชนเช่นนี้หมายถึงการมีระบบสังคมที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงที่ผ่านมานั่นเอง

ในช่วงสมัยเดียวกันนี้ พัฒนาการทางการผลิตก็เกิดขึ้นในบางท้องถิ่น ดังเห็นได้จากการพัฒนาขึ้นมาของอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและเกลือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการขยายระดับการผลิตทองแดงในแถบจังหวัดลพบุรีของภาคกลาง ซึ่งล้วนแต่เป็นการผลิตระดับเกินกว่าเพื่อใช้เองภายในชุมชนทั้งสิ้น แสดงถึงพัฒนาการของระบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์และความสม่ำเสมอของการติดต่อแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างชุมชนที่อยู่ต่างภูมิภาคกันด้วย

วัตถุลักษณะพิเศษซึ่งเป็นผลิตผลของดินแดนอื่นก็ปรากฏเพิ่มขึ้นในชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายช่วงที่ใช้เหล็กแล้วแห่งต่าง ๆ วัตถุที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีแพร่หลายมากขึ้น ได้แก่ ลูกปัดแก้ว ลูกปัดทำจากหินกึ่งอัญมณี (semi-precious stones) เช่น หินโมรา หรือหินคาร์นีเลียน หินโมกุลหรือหินอาเกต และผลึกควอตซ์สีต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดน่าจะได้แก่กลองมโหระทึกสำริดและวัตถุสำริดที่มีลักษณะองค์ประกอบด้านรูปทรงและการตกแต่งเป็นแบบของวัฒนธรรมดองซอน ในประเทศเวียดนาม และแบบของวัฒนธรรมในมณฑลกวางสี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน

ศิลปวัตถุขนาดเล็กที่ขุดพบที่แหล่งควนลูกปัด (คลองท่อม) จังหวัดกระบี่

การมีแหล่งทรัพยากรอยู่และการมีความสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาผลิตเป็นสิ่งของที่มี “ตลาด” ต้องการ ดังปรากฎเหลือเป็นร่องรอยของแหล่งหัตถกรรมต่าง ๆ นั้น คงเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้เครือข่ายของการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายพัฒนาแบบแผนและขยายขอบเขตขึ้นเรื่อย ๆ จนในช่วงราว 2,300-2,000 ปีมา แล้วเป็นอย่างน้อย จึงได้ขยายเข้าไปสัมพันธ์กับเครือข่ายการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างชุมชนที่ห่างไกลกันมาก

ดังมีหลักฐานคือ ลูกปัดที่ทำจากหินกึ่งอัญมณีรุ่นแรก ๆ ที่ขุดพบที่แหล่งโบราณคดีหลายแหล่งในประเทศไทยนั้น มีผลการวิเคราะห์แสดงว่าบางส่วนเป็นวัตถุที่ผลิตด้วยเทคนิคของวัฒนธรรมในประเทศอินเดีย ซึ่งก็คงเป็นสินค้าที่พ่อค้านำมายังเอเชียอาคเนย์ตามเครือข่ายการค้าข้ามมหาสมุทรที่ปรากฏขึ้นตั้งแต่กว่า 2,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย

หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงความเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมอย่างมากในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายช่วงนี้ ทำให้นักโบราณคดีไทยบางท่าน (Charoenwongsa 1988 : 33) ได้เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายช่วงที่มีการใช้เหล็กแล้วนั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่มี “ความรุดหน้าทางเศรษฐกิจ-สังคมและทางประชากร (socio-economic and demographic breakthrough)” เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทั้งในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “รากเหง้า บรรพชนคนไทย : พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์” เขียนโดย สุรพล นาถะพินธุ (สำนักพิมพ์มติชน, 2550)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2564