เรื่องคุก เรื่องตะราง ของประเทศไทย และการปฏิรูปงานราชทัณฑ์

คุกใหม่ใกล้กับวัดสุทัศนเทพวราราม (พื้นที่แรเงา) จากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2430 (ภาพจากแผนที่กรุงเทพฯ จ.ศ. 1249, 2558)

โทษจำคุกเป็นมาตรการหนึ่งในการลงโทษผู้กระทำผิดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย หากก่อนที่จะมีระบบราชทัณฑ์เช่นปัจจุบันนี้ โทษจำคุกในอดีตที่ผ่านมาของไทยมีพัฒนาการอย่างไร จึงมาถึงจุดนี้ นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายน 2564 นี้ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ มีคำตอบไว้ให้พร้อมในบทความชื่อ “กำเนิดคุกสมัยใหม่แบบอาณานิคมและการปฏิรูปราชทัณฑ์ในกรุงเทพฯ” ที่เขาปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของตนเอง จึงมั่นใจว่าคุณค่าสาระครบ

ถอยหลังกลับไปดู ก่อนมีการปฏิรูปงานราชทัณฑ์สยามในรัชกาลที่ 5 การลงโทษทางอาญาของผู้ปกครองไทยมีรากฐานแนวคิดมาจากคติความเชื่อฝ่ายพราหมณ์และพุทธจากพระธรรมศาสตร์ของอินเดีย อำนาจการลงโทษผู้กระทำผิดตามหลักพระธรรมศาสตร์เป็นหน้าที่สำคัญหนึ่งของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้สังคมเป็นระเบียบ จากนั้นมีการปรับเข้ากับความเชื่อศาสนาพุทธและสถานะอำนาจของกษัตริย์จนพัฒนาระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนของรัฐ

ภาพยมโลกมีพญายมราชปกครอง พิจารณาการลงทัณฑ์ในนรกภูมิ (ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรี เลขที่ 10 ใน สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 2 กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2542)

พระราชอำนาจในการลงทัณฑ์ตามกฎหมายแบบจารีตที่กำหนดโทษไว้หลายสถานในความผิดเดียว เช่น พระไอยการอาชญาหลวงกำหนดการลงโทษไว้ 10 สถาน การวางโทษไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ดุลพินิจพิจารณาพฤติกรรมของผู้กระทำผิด รวมถึงสถานะของผู้กระทำผิด (ชาติกำเนิด, ศักดินา, ตำแหน่งหน้าที่, ความชอบในงานราชการ)

สำหรับการลงโทษจำคุกในยุคจารีต ตามกฎหมายตราสามดวงอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรก คือ จำคุกแบบมีกำหนดเวลาแน่นอน นับตั้งแต่ 15 วันจนถึงตลอดชีวิต แล้วแต่ความผิดที่กระทำว่าหนักเบาเพียงใด ตัวอย่างเช่น โทษจำคุกในพระอัยการลักษณะโจร ข้อ 74 ความว่า “มาตราหนึ่ง โจรลักช้าง ม้าหลวงไป ให้ฆ่าผู้ร้ายนั้นเสีย ถ้าโจรลักช้างม้าของราษฎรให้ใช้ทุน แล้วให้ลงโทษดังโจรปล้น ให้เฆี่ยน 3 ยก เอาตัวจำไว้ ณ คุกกว่าจะตาย”

ตึกขังนักโทษ 3 ชั้นของเรือนจำกองมหันตโทษที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก ศรัญญู เทพสงเคราะห์)

ลักษณะที่ 2 เป็นการจำคุกโดยไม่มีกำหนดเวลาตายตัวขึ้นผู้มีอำนาจ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวถึงโทษจำคุกลักษณะนี้ในสาส์นสมเด็จว่า “…ประเพณีเดิมซึ่งจำคุกโจรผู้ร้ายไม่มีกำหนดเวลาว่าจะต้องจำอยู่นานเท่าใด จะพ้นจากเวรจำได้แต่ด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกโทษพระราชทาน”

โทษจำคุกโดยไม่มีกำหนดเวลาทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก และเกิดธรรมเนียมการปล่อยตัวนักโทษที่เรียกว่า “การประกันเชิงลา” โดยนักโทษจะหาคนมาประกันไป จากนั้นเจ้าเมืองและกรมการจะรวบรวมรายชื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้ปลดปล่อยนักโทษเป็นคราวๆ แม้จะช่วยแก้ปัญหานักโทษล้นคุกได้บ้าง แต่ก็ทำให้ผู้กระทำผิดที่มีพวกพ้องหรือมีเงินทองมากได้เปรียบนักโทษที่ยากจน

นอกจากนี้ทางการยังมีการใช้ประโยชน์จากนักโทษอีกด้วย ราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยายังสามารถหาบังคับใช้แรงงานนักโทษผ่านกรมพระนครบาล เอกสาร “พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา” บรรยายว่า มีคุกสำหรับขังนักโทษปล้นสะดม 8 แห่ง แต่ละแห่งมีตะรางหน้าคุกสำหรับขังบุตรและภรรยาผู้ร้าย โดยนักโทษในคุกและญาติพี่น้องของโจรที่ขังในตะรางจะถูกบังคับให้เป็นแรงงานในงานเศรษฐกิจสำเภาหลวงและงานโยธาภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงานกรมพระนครบาล

ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในยุคแรกที่บ้านเมืองเพิ่งจะสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ที่มีเครือข่ายกับตระกูลขุนนางใหญ่ที่มีอำนาจมาก ทำให้อำนาจการคุมขังนักโทษจากเดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ขึ้นกับพระมหากษัตริย์ผ่านการควบคุมคุกหลวงหลายแห่งในพระนคร เปลี่ยนเป็นการกระจายอำนาจการควบคุมนักโทษให้แก่ขุนนางหรือมูลนายแทน

ศรัณญู เทพสงเคราะห์ อธิบายผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “ปรากฏชัดเจนจากจำนวนคุกหลวงในสมัยต้นกรุงเทพฯ ที่ลดจำนวนเหลือเพียงแห่งเดียวและใช้สำหรับคุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์หรือมีโทษหนักเท่านั้น คือ คุกหน้าวัดโพธิ์ สังกัดกรมพระนครบาล ขณะที่ ตะรางที่เดิมในสมัยอยุธยาใช้สำหรับขังญาติพี่น้องของโจร ได้กลายมาเป็นสถานที่คุมขังนักโทษคดีเล็กน้อยหรือคดีลหุโทษ โดยตะรางในสมัยต้นกรุงเทพฯ ได้เพิ่มจำนวนและกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่า กรมวัง และกรมนา

………..

ภายใต้โลกทรรศน์แบบจารีต คุกหน้าวัดโพธิ์เปรียบเสมือนกับการจำลองนรกตามคติความเชื่อแบบไตรภูมิให้บังเกิดเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่การออกแบบคุกส่วนในอยู่บริเวณกึ่งกลางพื้นที่คุก ซึ่งคล้ายคลึงกับมหานรกรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมที่อยู่กลางนรกขุมใหญ่ ส่วนนามผู้เป็นใหญ่ในนรกคือ พระยมหรือพญายมราช ได้นำมาใช้เป็นราชทินนามของเสนาบดีกรมพระนครบาล ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาคุกในพระนคร

หลักฐานที่ยืนยันว่าคุกเป็นการจำลองนรกอีกประการคือ เทวรูปประจำคุกหน้าวัดโพธิ์ที่เรียกว่า ‘เจ้าเจตคุก หรือ เจตคุปต์ ซึ่งเป็นชื่อเทพยดาต้นบัญชีนักโทษในนรกของพญายม โดยนักโทษจะถูกเปลี่ยนสถานะจากมนุษย์ให้มีสภาพไม่ต่างจากการกินอยู่หลับนอนของสัตว์…รวมถึงยังถูกจองจำร่างกายด้วยเครื่องพันธนาการเสมือนกับการสร้างความทุกข์ทรมานแก่นักโทษตามกรรมชั่วที่กระทำไป…”

ซึ่งคล้ายคลึงกับที่วรรณคดีขุนช้างขุนแผน ตอนนางวันทองเข้าเยี่ยมขุนช้างในคุก บรรยายไว้ว่า

วันทองแข็งใจเข้าในคุก                   แลเห็นคนทนทุกข์สยดสยอง

น่าเกลียดน่ากลัวขนหัวพอง            ผอมกะหร่องร่างกายคล้ายสัตว์นรก

เขาใส่คาอาหารไม่พานไส้              เห็นวันทองขึ้นไปไหว้ประหลก

เอากล้วยทิ้งชิงกันตัวสั่นงก            ใครมีแรงแย่งฉกเอาไปกิน

สมัยต้นกรุงเทพฯ ยังปรากฏการใช้แรงงานนักโทษในคุกเช่นในที่ผ่านมา เนื่องจากนักโทษเป็นเสมือนสมบัติของหลวงที่จะใช้งานอะไรก็ได้ตามความต้องการ  ทำให้เจ้าพนักงานคุกสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากการรับสินบนที่นักโทษมอบให้หรือลอบนำนักโทษไปเป็นแรงงานส่วนตัว โดยนักโทษจะได้รับการตอบแทนด้วยการคุมขังที่ผ่อนปรนหรือได้รับอนุญาตให้ออกจากสถานที่คุมขังชั่วคราว

ราชสำนักเองก็ตระหนักถึงปัญหาการหาผลประโยชน์จากนักโทษของบรรดาขุนนาง ที่ส่งผลให้นักโทษไม่ เข็ดหลาบ ไม่เกรงกลัวต่อการลงทัณฑ์ แต่ดำเนินการได้ยาก เพราะการรับสินบนจากนักโทษทำกันมายาวนานและเกี่ยวข้องกับขุนนางจำนวนมากและดำเนินการมาอย่างยาวนาน

ดังปรากฏในรัชกาลที่ 3 จึงแก้ปัญหานี้ได้เพียง “ภาคโทษ” กรมพระนครบาล นายพะทำมะรง ผู้คุม กรมพระตำรวจ และกรมการเมืองที่นำนักโทษไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ขุนนางอื่นๆ นอกจากนี้ยังให้ขุนพัศดีตรวจสอบบัญชีนักโทษในคุกและตะราง

แล้วคุกสยามเป็นเช่นไร ในสายตาชาวต่างชาติที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 5

สังฆราชปาลเลกัวซ์ บันทึกถึงคุกสยามว่า ตอนกลางวันนั้นนักโทษจะถูกจ่ายไปทำงานหนัก เช่น เลื่อยไม้ ขนอิฐ ขนทราย ทำถนน เป็นต้น พอตกค่ำนักโทษจะถูกนำเข้าเรือนนอนและให้นอนเรียงเป็นตับ แล้วใช้โซ่ยาวร้อยห่วงเหล็กที่ขาล่ามไปผูกไว้กับเสาใส่กุญแจหอยโข่งดอกใหญ่ การถูกล่ามไว้ดังนี้ทำให้พลิกตัวไม่ได้ ยามมีทุกข์ต้องนอนถ่ายหนักถ่ายเบาและอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งรุ่งเช้า

เซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ บันทึกว่า คุกสยามนั้นมีแต่ความทุกข์ทรมาน ตอนกลางวันนักโทษส่วนมากจะถูกนำออกมาทำงานสาธารณะ พอตกค่ำเหล่านักโทษจะถูกร้อยรวมกันด้วยโซ่เส้นยาวนอนเรียงกันในเรือนขัง และจำแนกนักโทษที่ทำงานตามถนนหลวงถูกตีตรวนขนาดเล็กส่วนมากเป็นลูกหนี้ ซึ่งอาจถูกปล่อยตัวออกจากคุกได้เมื่อชำระหนี้ แต่นักโทษที่มีห่วงเหล็กสวมคอ มือถูกพันธนาการ ตีตรวนที่ข้อเท้าและรอบเอวนั้น เป็นนักโทษที่กระทำผิดทางอาญา

คาร์ล บ็อค บรรยายสภาพคุกในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า คุกสยามเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลตามพื้นดิน บรรดานักโทษต่างอยู่ในสภาพเลวร้ายและน่าสงสารโดยไม่เคยปริปาก นอกจากนี้นักโทษยังต้องทำงานสาธารณะในตอนกลางวัน อาทิ การสร้าง ซ่อม และทำความสะอาดถนน รวมถึงยังต้องหารายได้ให้ผู้คุมจากการขายสิ่งของที่นักโทษประดิษฐ์ขึ้นหรือขอทานตามท้องถนน

แล้วคุกตะรางเมืองไทย เริ่มมีการปฏิรูปภายหลังรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา (พ.ศ. 2413) และการเสด็จประพาสอินเดีย (พ.ศ. 2414) สยามจึงเริ่มรับความเจริญของอาณานิคม และเรียนรู้การปกครองของอาณานิคม มาปรับปรุงธรรมเนียมและกิจการต่างๆ ของประเทศ

ส่วนที่มาเป็นคุกสมัยใหม่แบบอาณานิคมและการปฏิรูปราชทัณฑ์ในกรุงเทพฯ มีเส้นทางการพัฒนาอย่างไร ขอได้โปรดอ่านส่วนที่เหลือใน นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายนนี้


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน   2564