การวิ่งเต้นเป็นเจ้าเมือง และการเดินเหินติดสินบนของขุนนางไทย

ขุนนางในสมัยโบราณ

ในหนังสือ “ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ ‘ข้าราชการ’ ทหารและพลเรือน” (สนพ. มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 มกราคม 2548) ผู้เขียน ส. พลายน้อย กล่าวถึงมิติต่างๆ เกี่ยวกับ “ขุนนาง” หรือ “ข้าราชการสมัยโบราณ” เช่น ความเป็นมาของขุนนาง, การแต่งตั้งขุนนาง, ยศบรรดาศักดิ์, การแต่งตั้งเจ้าเมือง ฯลฯ รวมถึงเรื่อง “วิ่งเต้น” และ “สินบน” ของขุนนางไทยไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

การวิ่งเต้นเป็นเจ้าเมือง

ในปัจจุบันเราได้ยินว่าข้าราชการมีการ “ปัดแข้งปัดขา” หายศตำแหน่งให้ตนเองและพรรคพวกด้วยการใส่ร้ายป้ายสีให้คนอื่น เรื่องเช่นนี้เคยมีปรากฏในสมัยโบราณเหมือนกัน ดังมีเรื่องกล่าวไว้ในพระราชกำหนดเก่าเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 9 พ.ศ. 2283 รัชกาลพระเจ้าบรมโกศ มีความว่า (สะกดการันต์ตามต้นฉบับ)

“ด้วยมีพระอัยการพระราชกำหนดกฎหมายอยู่แต่ก่อนว่า ถ้าผู้ใดมีน้ำใจอาสาราชการงานพระราชสงครามมีไชยชนะแก่ราชศัตรูก็ดี และมีน้ำใจกระทำความชอบในราชการก็ดี และพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงตั้งแต่งเลี้ยงดูตามผู้ซึ่งได้กระทำความชอบมีบำเหน็จบำนาญนั้น

แลขุนพิพัทนากอนปลัดซ้ายฟ้องให้พญารัตนาธิเบด กราบทูลพระกรุณากล่าวโทษพระทณบุรี แลยกความชอบของตัวเอง แลขอเป็นที่พระทณบุรีนั้นผิดอย่างทำเนียม ด้วยว่าผู้ซึ่งมาฟ้องร้องติดสอยบนบาน ขอเปนที่นี้ เห็นจะเปนประโยชน์แต่ตน ครั้นเปนแล้วย่อมเบียนฉ้อประบัดไพร่ แลอนาประชาราษฎรเอาแต่รายประโยชน์แก่ตัว จึ่งมาติดสอยบนบานร้องฟ้อง ขอเปนที่อันนั้น แลข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงย่อมเห็นแก่สินบนกราบทูลพระกรุณายกถอดผู้หาความผิดมิได้ออกเสีย

เอาผู้ซึ่งมาบนบานนั้นเปนที่พระ หลวง ขุน หมื่น ฝ่ายทหาร พลเรือน แลผู้รักษาเมือง ผู้รังกรมการหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง ครั้นได้เป็นที่หลวงขุนหมื่นผู้รั้งกรมการแล้ว เบียดเบียนอนาประชาราษฎรข่มเหงผู้ฉ้อประบัด เอาพัสดุทองเงินมาใช้ค่าสินบนแลเลี้ยงบุตรภรรยามิได้กลัวแก่บาป ละอายแก่บาป อนาประชาราษฎรไพร่พลเมืองจึงได้ความยากแค้นเดือดร้อน ไพร่ท้องหมู่แลไพร่บ้านพลเมืองจึงร่วงโรย

แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าแลผู้ใดร้องฟ้องยกความชอบของตัวเอง ติดสอยบนบานให้กราบทูลพระกรุณาขอเป็นที่พระ หลวง ขุน หมื่น ผู้รั้งกรมการ เมืองใหญ่เมืองน้อยทั้งปวง อย่าให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเอากราบทูลพระกรุณา ยกถอดพระ หลวง ขุน หมื่น แลผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการใหญ่น้อยทั้งปวงซึ่งหาความผิดมิได้ ออกเสียเปนอันขาดทีเดียว

ถ้าผู้ใดยกย่องความชอบของตัวเอง บนบานติดสอยขอเป็นที่พระหลวงขุนหมื่น ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง ถ้าแลผู้ใดเห็นแก่อามิสสินจ้างสินบนรับเอาฟ้องมากราบทูลพระกรุณายกถอดผู้หาความผิดมิได้ออกเสีย เอาผู้ซึ่งบนบานนั้นตั้งให้เปนพระหลวงขุนหมื่น ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการ จะเอาผู้ร้องฟ้องยกความชอบตัวเอง แลผู้กราบทูลพระกรุณานั้นเปนโทษตามพระไอยการ

อนึ่งขนบทำเนียมผู้จะเปนพระหลวงขุนหมื่น ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการ ย่อมมีความชอบตามคุณานุรูปสมควร แลกอปรด้วยวุทธิสี่ประการคือ ชาติวุทธิ  ไวยวุทธิ คุณวุทธิ ปัญญาวุทธิ ชาติวุทธิ นั้นตระกูลเปนอัครมหาเสนา เสนาบดีสืบๆ กันมา ไวยวุทธิ นั้นคือ อายุสมควรตั้งแต่สามสิบแปดปีขึ้นไป คุณวุทธิ นั่นคือมีความรู้ฝ่ายทหารพลเรือนชำนิชำนาญ ปัญญาวุทธิ นั้นคือจำเริญด้วยปัญญา ฉลาดในที่จะตอบแทนแก้ไขอัตถะปฤษนาประเทษกรุงอื่น แลคิดอ่านให้ชอบด้วยโลกียราชกิจธรรมทั้งปวง

ควรสมุหกระลาโหม สมุหนายกจตุสดมภ์ปฤกษาพร้อมกัน จึงนำเอากราบทูลพระกรุณาเอาผู้กอปรด้วยวุทธิสี่ประการนั้นเป็นที่พระหลวงขุนหมื่น แม้นแต่สองประการ สามประการ ก็พอจะเอาเปนที่พระหลวงขุนหมื่นตามสมควร

อนึ่งผู้จะเป็นพระหลวงขุนหมื่น ย่อมประกอบด้วยอธิบดีสี่ประการ คือฉันทาธิบดี คือวิริยาธิบดี คือจิตาธิบดี คือวิมังสาธิบดี

ฉันทาธิบดี นั้นคือ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมต้องพระราชประสงค์สิ่งใด ผู้นั้นนำซึ่งสิ่งนั้นมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย

วิริยาธิบดี นั้นคือ กอปรด้วยความเพียรในราชการมิได้ขาด

จิตาธิบดี นั้นคือ มีน้ำใจกล้าแขงในการณรงค์สงคราม

วิมังสาธิบดี นั้นคือ ฉลาดในที่พิพากษาความแลอุบายในราชการต่างๆ

ถ้าผู้ใดมิประกอบด้วยวุทธิสี่ประการ แลอธิบดีสี่ประการ แต่ประการใดประการหนึ่งไซ้ ถึงคุณานุรูปสมควรก็ดี อย่าให้สมุหกลาโหม สมุหนายก จตุสดมภ์ กราบทูลพระกรุณาตั้งแต่งผู้นั้นเป็น พระ หลวง ขุน หมื่น เป็นอันขาดทีเดียว”

พระราชกำหนดดังกล่าวข้างต้นนั้น แสดงว่าในสมัยโบราณ เมื่อ 250 ปีมาแล้ว ก็มีระเบียบแบบแผนในการแต่งตั้งขุนนางให้มีคุณธรรมความสามารถ มีอายุ 31 ปีขึ้นไป มีความรู้ในเรื่องราชการ มีสติปัญญาความคิด ซึ่งในปัจจุบันถือเอาประกาศนียบัตรและปริญญาเป็นสำคัญ ข้าราชการจึงขาดคุณธรรมเป็นส่วนมาก

อย่างไรก็ตาม ระเบียบแบบแผนที่วางไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2283 เมื่อนานวันนานปีเข้าก็คงจะหลงลืม ขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็คงจะมีทัศนคติใหม่ เห็นแก่ได้เห็นแก่กิน จึงได้เกิดเดินเหินติดสินบน วิ่งเต้นหาตำแหน่งกันมากขึ้น ซึ่งพอจะพิจารณาได้จากพระราชปรารภเรื่องเดินเป็นผู้ว่าราชการเมือง ในรัชกาลที่ 4 มีความตอนหนึ่งว่า

“พระยานครสวรรค์ (ภู่) ถึงแก่กรรมแล้วแต่เดือน 5 ข้างแรม กรงพระราชดำริว่า พระยอดเมืองขวางปลัด เดิมเปนหลวงเฑียรฆราชยกกระบัตรมานานแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จรพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อพระยานครสวรรค์ (ภู่) เปนพระยานครสวรรค์ พระยอดเมืองขวางเก่าเปนพระยาบรรพตภูมาธิการแล้ว ได้โปรดฯ ให้เป็นพระยอดเมืองขวางปลัด ทำราชการ

ที่แท้พระยานครสวรรค์ (ภู่) แต่ก่อนเป็นแต่หลวงธรรมา กรรมการผู้น้อย ต่ำศักดิ์กว่าพระยอดเมืองขวางผู้นี้เมื่อเปนหลวงเฑียรฆราชยกกระบัตรนั้นอีก แต่เพราะเปนข้าหลวงเดิมมา จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปนพระยานครสวรรค์ ก็บัดนี้ถึงแก่กรรมแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่า ควรจะให้พระยอดเมืองขวางปลัดเป็นพระยานครสวรรค์ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป เพราะราชการในเมืองนครสวรรค์ประการใดๆ พระยอดเมืองขวางย่อมเข้าใจ จะได้ทำราชการถ้วนถี่ดีกว่าผู้อื่นจะไปเปน

ก็ผู้อื่นจะไปเปนนั้น ถ้าผู้มีบรรดาศักดิ์สูงอย่างครั้งหนึ่งพระยาอนุชิตราชา จางวางกรงพระตำรวจไปเปน ครั้งหนึ่งพระยาอภัยสงคราม เจ้ากรมอาสาใหญ่ฝ่ายพระบวรราชวังไปเปน ผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ในกรุงเทพฯ อยู่ก่อนแล้วไปเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองดังนั้นยกไว้ แต่ผู้น้อยๆ มิใช่ผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ในกรุงเทพฯ ถ้าขึ้นไปเปนที่พระยานครสวรรค์ เห็นขนบราชการในเมืองนั้นจะได้ส่วนถ้วนถี่ดีไปกว่าพระยอดเมืองขวางซึ่งทำราชการอยู่ในเมืองนั้นนาน ดังนี้จะหมายเชื่อว่าเปนดีกว่าไม่ได้

เพราะใครตะกุยตะกายขึ้นก็คงเดินเหินเสียสินบน 40 ชั่ง 50 ชั่งขึ้นไป เงินสินบนนั้นจะเอามาแต่ไหน ที่มีของตัวก็จะลงทุนของตัวมาเสียสินบน ถ้าไม่มีก็คงจะกู้ยืมเขามาเสียสินบน ต้องเสียดอกเบี้ยไปพลาง ต้นทุนแลดอกเบี้ยนั้นจะเอามาแต่ไหน ก็คงจะไปรีดเอาที่ไพร่บ้านพลเมืองแลลูกค้าวานิชดิบๆ สุกๆ ไปต่างๆ ทำให้ราษฎรได้ความเดือดร้อนยิ่งไปกว่าปรกติเปนแน่

ยังเห็นเปนแท้อยู่แล้วว่า ผู้ใดเดินเหินจะไปเปนผู้สำเร็จราชการหัวเมือง คนนั้นสำหรับเกี่ยวกับปีศาจที่เรียกว่าห่า ผู้ใดรับสินบนเดินเหินช่วยแก้ไขให้คนเช่นนั้นได้ไปเปนผู้สำเร็จราชการหัวเมืองจะได้บาปกรรมมากนัก เหมือนกับเอาห่าไปปล่อยในบ้านเมืองเปนที่อยู่ของมนุษย์ขอเสียเถิดอย่าเอาเลย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2564