รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ตําราพิชัยสงครามของซุนวูรับมือ ร.ศ. 112 จริงหรือ?

เรือรบฝรั่งเศสสามลำจอดทอดสมอคุมเชิงอยู่ด้านหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

เมื่อฝรั่งเศสตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะไม่สละสิทธิของญวนเหนือดินแดนเขมร และใช้กำลังทางทหารเป็นเครื่องมือบังคับสยาม โดยส่งเรือรบลูแตงเข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลสยาม เมื่อเมษายน พ.ศ. 2436 หลังจากนั้นก็ส่งทหารเข้าบุกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จนเกิดการปะทะกัน อันเป็นชนวนไปสู่วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)

หลังการยิงปืนใหญ่ปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาสงบลง สยามเริ่มเห็นแล้วว่าจะไม่สามารถเอาชนะฝรั่งเศสด้วยกําลังพลอีกต่อไป แต่เลือกที่จะยุทธวิธีในการรบที่รอบครอบรัดกุมขึ้น ไกรฤกษ์ นานา วิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในงานเขียนของเขาที่ชื่อ “ทึ่ง! กลยุทธ์ศึกรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนสถานะชาวสยามจาก แพ้ เป็น ชนะ” (ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับตุลาคม 2549) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

Advertisement

 

นับแต่นี้เราจะได้เห็นทฤษฎีรบแบบใหม่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ ในทฤษฎีนั้นคือ ยุทธวิธีแบบจีนของซุนวู ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีบันทึกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมอยู่หัวทรงใช้ตำรานี้แน่นอนหรือไม่? บทวิเคราะห์ต่อไปนี้ชี้ว่ามันเคยถูกใช้จริงๆ แม้ใน ร.ศ. 112

ตามบทที่ 8 ของตำรา [ตำราพิชัยสงครามของซุนวู] นี้ ซึ่งคุณเสถียร วีรกุล แปลเป็นไทย กล่าวถึง “นานาวิการ” ซึ่งแปลว่า ความเปลี่ยนแปลงบิดเบือนต่างๆ อันมิได้เป็นไปตามที่ควรเป็น “ขุนพลผู้ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในหลักนานาวิการ แม้จะรู้ลักษณะภูมิประเทศดีก็ไม่อำนวยผลประโยชน์อย่างใดเลยในการบัญชาทัพ หากไม่รู้วิธีการสู้รบต่อนานาวิการแล้วไซร้ แม้จะซาบซึ้งถึงความได้เปรียบแห่งภูมิประเทศ ก็ไม่อาจใช้กำลังพลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นขุนพลผู้แจ้งในคุณานุคุณแห่งนานาวิการ จึงนับได้ว่า รู้การศึก”

ด้วยเหตุนี้ ความใคร่ครวญของผู้ทรงปัญญา จึงต้องทบทวนอยู่ระหว่างผลได้และผลเสีย

ซุนวูย้ำว่า “ผู้นำทัพ” ที่จะแพ้การยุทธ์นั้น มีจุดอันตรายอยู่ 5 ประการ คือ

1. ผู้ที่คิดแต่จะสู้ฝ่ายเดียว ก็ถูกหมายเอาชีวิตได้

2. ผู้ที่คอยแต่จะรักษาตัวรอด อาจถูกจับกุมเป็นเชลย

3. ผู้ที่หุนหันพลันแล่น อาจถูกยั่วเย้าให้หลงกล

4. ผู้ที่คิดแต่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของตน อาจถูกเหยียบย่ำใส่ไคล้

5. ผู้นำทัพที่รักขุนทหารและราษฎร มักจะยุ่งยากใจ

จากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เราสามารถเข้าใจโดยเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ กับพระเจ้าอยู่หัวของเรา เป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการนำตำราของซุนวูมาใช้ กล่าวคือ

1. ผู้ที่คิดแต่จะสู้ฝ่ายเดียว ก็ถูกหมายเอาชีวิตได้: เมื่อเรือปืนแองกองสตองค์ (L’Inconstance) และโคเมท (Comet) ผ่านสันดอนที่ปากน้ำเข้ามา มันก็แล่นตรงเข้ามากรุงเทพฯ โดยมุ่งหมายที่จะรบต่อไป และถึงแม้จะมีการตั้งรับบนสองฝั่งแม่น้ำ แต่ฝ่ายสยามก็ยุติการยิงโดยสิ้นเชิง โดยหันมากรองสถานการณ์ใหม่ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป? กองทัพสยามมิไดรับคำสั่งสู้ตาย ถึงแม้จะสามารถทำได้ และฝ่ายสยามซึ่งมีกำลังมากกว่าย่อมจะสามารถจมเรือฝรั่งเศสได้ แต่การสงครามก็จะขยายวงกว้างเป็นเงาตามตัว

2. ผู้ที่คอยแต่จะรักษาตัวรอด อาจถูกจับกุมเป็นเชลย: ไม่ปรากฏว่ามีทหารสยามหนีทัพเลย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเรียกประชุมเสนาบดี เพื่อลำดับเหตุการณ์และหาวิธีแก้ไข ท่ามกลางข่าวลือที่ทหารฝรั่งเศสกุขึ้นว่า พระเจ้าแผ่นดินเตรียมที่จะหลบหนีเอาตัวรอด พร้อมกับทรัพย์สมบัติจำนวนมากของพระองค์

3. ผู้ที่หุนหันพลันแล่น อาจถูกยั่วเย้าให้หลงกล: ภายหลังการสู้รบไม่เป็นผล มีพระราชดำรัสสั่งให้ยุติการรบทันที ถึงการยุทธ์จะมีเปอร์เซ็นต์ชนะมากกว่าแพ้ แต่ความผลีผลามกลับให้ผลตรงกันข้าม ดังนั้นเมื่อนายทหารเดนมาร์กผู้บัญชาการรบ คือพระยาชลยุทธโยธิน (Captain André Du Plessis De Richelieu) เกือบจะหลงกลศึก โดยกราบบังคับทูลว่า สยามจะสามารถเผด็จศึกเร็วขึ้น ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งการให้ใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรีพุ่งเข้าชนเรือข้าศึก ซึ่งจอดอยู่เฉยๆ ก็จะสำเร็จได้โดยง่าย แต่ก็ทรงปฏิเสธ เพราะไม่มีพระราชประสงค์ให้การรบทางกายภาพดำเนินต่อไป อันเป็นหลุมพรางของข้าศึก

4. ผู้ที่คิดแต่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของตน อาจถูกเหยียบย่ำใส่ไคล้: ภายหลังความพ่ายแพ้ในยกแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงขัดขืนดื้อดึงว่าฝ่ายสยามเป็นฝ่ายถูก และควรได้รับความเป็นธรรมจากการที่เรามิได้เป็นผู้เริ่มสงคราม เราจึงน่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่มิได้ต้องการสงคราม แต่ถูกบีบคั้นให้เข้าสู่สงคราม การโต้แย้งใดๆ ย่อมฟังไม่ขึ้นในสถานการณ์เช่นนั้น การรบได้เปิดฉากขึ้นแล้วทั้ง 2 ฝ่าย สิ่งที่ต้องกระทำอย่างรวดเร็วคือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แทนข้ออ้างเรื่องความรักสงบ

5. ผู้นำทัพที่รักขุนทหารและราษฎร มักจะยุ่งยากใจ: การปกป้องข้าราชสำนักย่อมเป็นสิ่งที่พึงกระทำของประมุขแห่งราชสำนักนั้น แต่ในฐานะจอมทัพที่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงดำรงอยู่เช่นกัน มิได้ทำให้ทรงลำเอียงในจิตใจแต่อย่างใด มีหลักฐานเขียนไว้ว่า

การยอมความของเสนาบดีว่าการต่างประเทศ (กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ) ในวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 นั้น เป็นการลงพระนามไปโดยมิได้รับพระราชานุมัติ และเป็นไปได้ที่จะทำการลงไปโดยขัดต่อพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งย่อมจะเป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัยก็ตามที แต่ก็มิได้ทรงใช้อารมณ์ เมื่อตั้งพระสติได้จึงทรงรับเอาปัญหาทั้งหมดมาจัดการแก้ไขด้วยพระองค์เสียเอง ทั้งยังปรากฏอีกว่าในการดำเนินการเจรจากับผู้นำประเทศระหว่างเสด็จฯ สู่ทวีปยุโรปนั้น มิได้มีเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หรือเสนาบดีว่าการต่างประเทศติดตามไปทำหน้าที่ด้วยเลย

ซุนวูเขียนต่อไปว่า “การใช้กำลังทหาร จึงเหมือนหนึ่งธรรมชาติของน้ำ น้ำย่อมจัดกระแสไหลบ่าไปตามลักษณะภูมิประเทศฉันใด การยุทธ์ก็ต้องเอาชนะกันตามสภาวะข้าศึกฉันนั้น การยุทธ์จึง “ไม่มี” หลักเกณฑ์ตายตัว เฉกเช่นน้ำ ซึ่งหามีรูปลักษณะอันแน่นอนไม่ จึงผู้เอาชนะด้วยปฏิบัติการอันเหมาะสมกับความผันแปรของข้าศึกนั้น เขาคือเทพเจ้าผู้ทรงอิทธิฤทธิ์”

นับจากวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 เป็นต้นไปจนตลอดรัชกาลที่ 5 เราจะไม่พบว่าสยามใช้กำลังทหารในการรบตามรูปแบบกองทัพที่มีหลักเกณฑ์ตายตัวอีกเลย ยุทธศาสตร์การรบต่อจากนี้ ล้วนเป็นทฤษฎีติดอาวุธทางความคิดทั้งสิ้น


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2564