ปัญหาการบาดเจ็บทางใจจากสงคราม บาดแผลที่ไม่มีเลือด

ภาพประกอบเนื้อหา - ทหารในสงคราม (ภาพจาก World War II in Photographs บันทึกภาพประวัติศาสตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน)

สมรภูมิการรบ การได้รับบาดเจ็บเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ความเครียด ความกลัวอย่างรุนแรง จากสงครามทำให้ทหารเกิดอาการทางจิตประสาทที่เรียกว่า “ความเครียดจากบาดแผลสงคราม” (stress injury) พันเอกเดวิด แรบบ์ แห่งหน่วยรบ 785 เรียกมันว่า บาดแผลที่ไร้โลหิต

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ปัญหาทางใจของทหารที่ไปรบในสงครามก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงวิชาการ เวลานั้นเรียกกันว่า เชลล์ ช็อก (shell shock) ผู้ป่วยอาจหมดสติ หรือมีอาการมึนงง สับวนทางจิต เช่นเดียวกับสมองถูกฝังด้วยสะเก็ดระเบิดจนช้ำบวม

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกว่า การช็อกในจิตใจ (psychological shock) หรือเรียกสั้นๆ ว่า อาการเครียดจากการรบ (combat stress) แต่นิยมที่เรียกกันติดปากทั่วไปว่า ประสาทสงคราม (war neurosis) ส่วนในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนามเรียกว่า หมดแรงรบ (combat exhaustion)

แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตาม สาเหตุหรือต้นตอของมันคือ “สงคราม”

ต้นตอของ “ประสาทสงคราม” ก็คือสงครามอันก่อให้เกิดความอ่อนล้าทางร่างกายและจิตใจกับทหารบางคนที่ไม่เข้มแข็งพอ อาการอาจเริ่มตั้งแต่ นอนไม่หลับ เหนื่อยจัด อารมณ์ที่ขัดแย้ง และขวัญในการต่อสู้ตกต่ำ อันทำให้เกิดอาการหรือพฤติกรรมอื่นๆ ตามมา เช่น

– ไม่รู้สึกหิว หวาดกลัวเสียง มีอารมณ์เครียดจัด

– เศร้า รู้สึกผิดบาป

– คอยระวังตัวตลอดเวลา ราวกับอยู่ในสนามรบ

– เกิดอาการที่เรียกว่าคลาสสิก คอนเวอร์ชั่น ซิมพ์ตอมส์ (Classic Conversion Symptoms) อาการคล้ายเสแสร้งมารยา เช่น อาการตาปวด (ข้างเดียว) หูหนวก อัมพาตแขน ขา เป็นบางครั้ง บางส่วน และคืนสู่ปกติได้เอง

– ไม่สนใจโลกภายนอก

– กลัวอย่างที่ไม่ควรกลัวหรือโฟเบีย เช่น กลัวปืน เครื่องแบบ เหรียญตรา หรืออะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม

นักจิตวิทยาประมวลสาเหตุของ “ประสาทสงคราม” ว่ามีอย่างน้อยที่สุด 7 ประการ

1. ความกลัวและวิตกกังวลของทหารเอง ว่าบุคลิกภาพของทหารคนนั้นๆ มีความทนต่อภาพการบาดเจ็บล้มตายไปต่อหน้าต่อตาของเพื่อนทหารได้เพียงใด รวมถึงความรุนแรงน่ากลัวของสงครามซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น ในสงครามอิรัก ที่มีความรุนแรงชวนให้วิตกกังวลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการพลีชีพขับรถชน หรือคาร์บอมบ์ (car bomb)

2. ความไม่เป็นมิตรและการคาดเดาได้ยากว่าอะไรจะเกิดขึ้น สงครามทหารทั้งสองฝ่ายต่างเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน อีกทั้งไม่รู้เลยว่าศัตรูจะมาจากไหน จากอะไร และเมื่อไรจะเกิด ทั้งระแวงว่าชาวบ้านหน้าตาซื่อๆ ธรรมดาอาจเป็นนักฆ่าทันที่ถ้าเผลอ สิ่งของรอบตัวไม่ว่า รถยนต์, กระป๋องน้ำมัน ฯลฯ ฝ่ายตรงข้ามอาจใช้เป็นอาวุธลับที่ก่ออันตรายได้เสมอ

3. ความจำเป็นต้องฆ่าเพราะถือว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู และอาจฆ่าเพราะความระแวง ฆ่าเพราะคนเหล่านั้นเสมือนสิ่งสกปรก พยายามสร้างความรู้สึกว่าฆ่าสัตว์หรือปิศาจ (เป็นกลไกทางจิตแบบหาเหตุผลเข้าข้างตน) ไม่ใช่ฆ่าคน ทำให้ฆ่าง่ายขึ้น เช่น กรณีฆ่าล้างหมู่บ้านที่ไมลาย ประเทศเวียดนาม ขณะฆ่าหรือทรมาน ผู้กระทำน่าจะมีอารมณ์ฟุ้งจัด (mania) ระแวงจัด บางคนบอกว่าการฆ่าเป็นว่าเล่นแบบนี้เป็นสงครามไร้ความรู้สึก

4. การอยู่แนวหน้านานเกินไป ทหารที่รบอยู่แนวหน้าจะเกิดการเบื่อหน่าย คิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว ฯลฯ จนเกิดความรู้สึกวิตกหวาดหวั่น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นและการตัดสินใจดีๆ จะหายไป ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารแนวหน้าเครียดมากเพราะการสับเปลี่ยนมีน้อย ทหารส่วนใหญ่อยู่นานเกินไป

5. พื้นฐานเดิมๆ ของทหาร ทหารที่มีภูมิหลับสบายมาแต่เยาว์วัย ได้รับการปกป้องประคับประคองเกินไป หรือครอบครัวนักบวช มีแนวโน้มจะเครียดได้ง่าย

6. ขวัญกำลังใจของกลุ่มหรือหน่วยต่อสู้ ถ้ากลุ่มหรือหมู่มั่นคง เด็ดเดี่ยว เหนียวแน่น ไม่กลัวตาย ห่วงใยเอื้ออาทรกันความเครียดจากบาดแผลสงคราม ก็ไม่อาจจู่โจมได้ง่ายๆ

7. หัวหน้าคุณภาพ การศึกษาวิจัยพบว่า ภาพลักษณ์ของหัวหน้าสำคัญมาก หากเป็นภาพพ่อที่อบอุ่นหรือพี่ชายที่เข้มแข็ง ทหารย่อมกล้าแกร่งและไม่รู้สึกเดียวดาย

ทั้ง 7 ประการคือเหตุอันสัมพันธ์กับ “ประสาทสงคราม” ในสมรภูมิต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าสมรภูมิรบเล็กหรือใหญ่

ในสงครามอิรัก-สหรัฐอเมริกา การประเมินช่วงหนึ่งพบว่า กองทัพสหรัฐอเมริกามีทหารเสียชีวิตไป 1,200 คน ได้รับบาดเจ็บทางกายไม่น้อยกว่า 8,400 คน ในจำนวนนี้มีบาดเจ็บทางใจ “ประสาทสงคราม” ประมาณ 1,280 คน โดยทหารที่ต้องอยู่ท่ามกลางสมรภูมิที่ต้องระวังตัวตลอดเวลาจากศัตรูรอบตัวที่มองไม่เห็น ซึ่งอาจเป็นชาวบ้าน สิ่งของต่างๆ จนเกร็งและพร้อมตลอดไว้ ก็เป็นสาเหตุให้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้


ข้อมูลจาก

กิติกร มีทรัพย์. ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประวัติชีวิตการงานและฟรอยด์บำบัด. สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2564