จอร์จ วอชิงตัน กับนโยบายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ทหาร เลี่ยงสู้ศัตรูและโรคระบาดพร้อมกัน

ภาพวาด จอร์จ วอชิงตัน โดยกิลเบิร์ต สจวร์ต (Gilbert Stuart) ไฟล์ภาพ public domain

ระหว่างช่วงปฏิวัติอเมริกา เมื่ออาณานิคมของอเมริกาเริ่มการปฏิวัติต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษ ศัตรูที่มองไม่เห็นก็เริ่มรุกคืบและเข้าโจมตีกองทัพอเมริกา ศัตรูหาใช่ทหารหรืออาวุธทำลายล้างสูง หากเป็นโรคระบาดที่เรียกว่า ไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ อเมริกาเผชิญหน้ากับสงครามและการต่อสู้ทั้งสองนี้พร้อมๆ กัน ในด้านหนึ่งพวกเขาต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากอังกฤษ และอีกด้านหนึ่งเพื่อเอาชีวิตรอดจากไข้ทรพิษ

แม้จะเผชิญศึกหนักสองด้าน แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ผู้นำสหรัฐฯ ในขณะนั้นที่เห็นถึงความหายนะของโรคร้ายนี้ และดำเนินนโยบายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่ทหารทุกคนในกองทัพจนสหรัฐอเมริกาสามารถพิชิตได้ทั้งจักรวรรดิอังกฤษและไข้ทรพิษได้สำเร็จ อีกทั้งในเวลาต่อมา จอร์จ วอชิงตันยังถูกยกให้เป็นผู้สนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขคนแรกของประเทศ

จอร์จ วอชิงตัน ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยประสบกับโรคระบาดนี้มากับตัว ในปี ค.ศ. 1751 ครั้งยังอายุ 19 ปี เขาเดินทางไปที่เกาะบาร์เบโดส แถบทะเลแคริบเบียน และเพียงสองสัปดาห์หลังจากนั้น เมื่อไวรัสไข้ทรพิษพ้นจากระยะฟักตัวแล้ว วอชิงตันล้มป่วยลงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ มีอาการไข้สูงและหนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ท้องไส้ปั่นป่วน และมีตุ่มหนอง

เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนที่วอชิงตันเผชิญกับสภาพดังกล่าว แต่ท้ายที่สุด เขาก็มีชีวิตรอด โดยเหลือไว้เพียงแผลเป็นเล็กๆ น้อยๆ

เมื่อมาถึงเวลาที่จอร์จ วอชิงตัน ต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดนี้อีกครั้งในช่วงที่ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคพื้นทวีป มีรายงานว่า ในปี ค.ศ. 1775 ไข้ทรพิษเข้ามายังบอสตันจากกองทหารจากอังกฤษ แคนาดา และเยอรมนี ซึ่งขณะที่ทำการปิดล้อมบอสตันอยู่นั้น วอชิงตันรู้ว่าทหารที่เกิดในอเมริกาของเขาอ่อนไหวต่อโรคนี้มากกว่าศัตรูจากยุโรป เนื่องจากทหารอังกฤษจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันโรคนี้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งผิดจากทหารอเมริกันของเขา

ภายหลังจากการสู้รบที่เล็กซิงตันและคองคอร์ด กองทัพภาคพื้นทวีปของวอชิงตัน ตั้งที่มั่นบริเวณแม่น้ำชาร์ลส์ และด้วยความหวาดระแวงต่อผู้ที่ต้องการหลบหนีจากจักรวรรดิอังกฤษ วอชิงตันจึงสั่งห้ามใครก็ตามที่มาจากบอสตันเข้าสู่เขตของทหารเด็ดขาด

มีรายงานคำพูดของเขาที่กำชับลูกน้องคนหนึ่งอย่างจริงจังว่า “ต้องใช้ความระมัดระวังทุกประการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด” นอกจากนี้ วอชิงตันยังได้ให้คำมั่นกับ จอห์น แฮนค็อก (John Hancock) ประธานสภาภาคพื้นทวีปว่า “[เราจะ] เฝ้าระวังศัตรูที่อันตรายที่สุดนี้ต่อไป”

ทั้งนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในยุคนั้น แม้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษมาตั้งแต่ในจีนสมัยโบราณแล้วก็ตาม แต่สำหรับอเมริกาในเวลานั้นยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย โดยกระบวนการดังกล่าวเรียกว่า variolation เป็นการทำให้เกิดแผลเล็กๆ ที่แขนของผู้ป่วยและให้เชื้อไวรัสในปริมาณที่เหมาะสมแค่พอกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน เพราะหากมากเกินอาจนำไปสู่อาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ โดยกระบวนการ variolation นี้ แม้แต่ในรัฐเวอร์จิเนีย บ้านเกิดของวอชิงตันเองก็ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับวอชิงตัน เนื่องจากเขาเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของมัน ถึงขนาดเกลี้ยกล่อมให้ภรรยาเข้ารับกระบวนการในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1776 อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์กับอังกฤษที่มีแต่จะรุนแรงขึ้นในขณะนั้น จึงทำให้สภาภาคพื้นทวีปยังไม่ดำเนินนโยบายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่กองทัพ จอร์จ วอชิงตัน จึงทำได้แค่สั่งให้ทหารเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดฉีดวัคซีน โดยคาดว่าภูมิคุ้มกันของพวกเขาจะเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาสำหรับการต่อสู้พอดี

แต่แล้วการระบาดก็เกิดขึ้นในหมู่ทหารอเมริกันที่บุกโจมตีแคนาดาในปี ค.ศ. 1775 – 1776 ระหว่างทางไปคิวเบก (Quebec) มีทหารล้มป่วยประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เวลาต่อมา อัตราส่วนผู้ติดเชื้อไปถึงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของกองกำลัง จึงทำให้ต้องตัดสินใจถอยทัพ

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้วอชิงตันรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับรายงานปัญหาของกองทัพอเมริกันในแคนาดาและไข้ทรพิษที่เกิดระบาดในบอสตัน ฟิลาเดลเฟีย และเมืองอื่นๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1777 เขาจึงร้องต่อแฮนค็อก ให้ดำเนินนโยบายเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดด้วยการปูพรมฉีดวัคซีนให้ทหารในกองทัพทุกคน

อลิซาเบ็ธ เฟนน์ (Elizabeth Fenn) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์อเมริกัน ประจำมหาวิทยาลัย University of Colorado Boulder และผู้เขียนหนังสือ Pox Americana: The Great Smallpox Epidemic of 1775-82 อธิบายว่า การฉีดวัคซีนให้แก่ทหารทั้งหมดโดยไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเป็นงานที่น่ากลัว ขั้นแรก บุคลากรทางการแพทย์ต้องตรวจสอบแต่ละบุคคลเพื่อดูว่าพวกเขาเคยติดโรคมาก่อนหรือไม่ จากนั้นจึงดำเนินการตามขั้นตอน variolation ที่มีความเสี่ยง ตามด้วยกระบวนการพักฟื้นกว่าหนึ่งเดือน โดยอยู่ในการดูแลของพยาบาล

ในขณะเดียวกัน กระบวนการนี้ต้องดำเนินการอย่างเป็นความลับทั้งหมด หากชาวอังกฤษรู้ว่าทหารอเมริกันจำนวนมากกำลังนอนอยู่บนเตียงด้วยไข้ทรพิษ อาจจะทำให้ทุกอย่างจบสิ้น
จอร์จ วอชิงตัน เขียนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องการรักษาความลับเลย และไม่ต้องสงสัยเลยว่าศัตรูจะใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้มากที่สุดเท่าทำได้อย่างแน่นอน

ความสำเร็จในการปูพรมฉีดวัคซีนแก่ทหารในกองทัพดำเนินไปอย่างราบรื่น ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1777 มีทหารประมาณ 40,000 นายที่ได้รับการฉีดวัคซีน หลังจากนั้น อัตราการติดเชื้อลดลงจากประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์อันเป็นผลมาจากคำสั่งของวอชิงตัน และแน่นอนว่า หลังจากสามารถเอาชนะไข้ทรพิษได้แล้ว สหรัฐฯ ยังเอาชนะการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ และจัดตั้งประเทศขึ้นมาได้

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

Ross, Dave. “How Crude Smallpox Inoculations Helped George Washington Win the War”. History. Online. Published 18 MAY 2020. Access 23 JUL 2021. < https://www.history.com/news/smallpox-george-washington-revolutionary-war>

Lawler, Andrew. “How a public health crisis nearly derailed the American Revolution”. National Geographic. Online. Published 16 APR 2020. Access 23 JUL 2021. < https://www.nationalgeographic.com/history/article/george-washington-beat-smallpox-epidemic-with-controversial-inoculations>

Brent Toplin, Robert. “How George Washington Organized the First Large-Scale Immunization Campaign in American History”. Time. Online. Published 18 MAY 2021. Access 23 JUL 2021. < https://time.com/6049536/george-washington-covid-vaccine/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564