สายลับโสมแดง วางระเบิดกลางกรุงย่างกุ้ง หวังสังหารประธานาธิบดีฝ่ายใต้

เหตุการณ์ระเบิดฝีมือสายลับเกาหลีเหนือในนครย่างกุ้ง เมื่อปี 1983 (AFP PHOTO / CHOSUN ILBO / Kim Sang-Yeong)

การเสียชีวิตของ คิม จอง-นัม พี่ชายต่างมารดา ของ คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ซึ่งใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ต่างประเทศมานานนับสิบปี ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าจะเป็นทายาทสืบตำแหน่งต่อจาก คิม จอง-อิล ผู้เป็นบิดา ทำให้รัฐบาลโสมแดงและคิม จอง-อึน ถูกจับตามองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำอันอุกอาจด้วยการใช้สารพิษสังหาร คิม จอง-นัม กลางพื้นที่สาธารณะอย่างสนามบินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แม้ว่าผู้ต้องสงสัยหลักสองรายซึ่งเป็นผู้ลงมือก่อเหตุจะมิใช่คนสัญชาติเกาหลีเหนือก็ตาม

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเมื่อกุมภาพันธ์ 2017 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกัวลาลัมเปอร์ กับเปียงยางเสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็ว เพราะมาเลเซียต้องการดำเนินการสอบสวนไปตามระเบียบ แต่ทางโสมแดง กลับไม่ต้องการให้มาเลเซียทำการชันสูตรพลิกศพ ยิ่งการสอบสวนออกมาว่า ความตายของ คิม จอง-นัม เกิดจากสารพิษร้ายแรง ทางเปียงยางกลับกล่าวหาว่า มาเลเซียร่วมมือกับเกาหลีใต้ปลอมแปลงผลการชันสูตร จนมาเลเซียต้องประท้วงพฤติกรรมอันธพาลของเกาหลีเหนือด้วยการมีคำสั่งขับทูตเปียงยางพ้นประเทศ พร้อมสั่งระงับการเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียโดยปลอดวีซ่าของชาวเกาหลีเหนือ

ไม่ว่าการสังหารพี่ชายของ คิม จอง-อึน จะมีเกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลังหรือไม่ ที่ผ่านมาสายลับเกาหลีเหนือก็เคยก่อเหตุอุกอาจในต่างแดนหลายครั้ง (เช่นเดียวกับสายลับมหาอำนาจชาติอื่นๆ) ว่ากันว่า เกาหลีเหนือได้ก่อเหตุลักพาตัวชาวต่างไปนับแสนคน โดยเฉพาะชาวเกาหลีใต้ และชาวญี่ปุ่น นับตั้งแต่ช่วงสงครามเกาหลี

และหนึ่งในเหตุการณ์ที่อุกอาจที่สุดของเกาหลีเหนือในการก่ออาชญากรรมในต่างแดน ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดในนครย่างกุ้งอดีตเมืองหลวงของพม่าเมื่อปี 1983 (พ.ศ. 2526) เมื่อสายลับเกาหลีเหนือได้ก่อเหตุวางระเบิดเพื่อสังหาร ชุน ดู-ฮวาน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในสมัยนั้น จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 21 ราย เป็นชาวเกาหลีใต้ 17 รายซึ่งมีทั้งรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และนักข่าวรวมอยู่ด้วย

เหตุระเบิดเกิดขึ้นในวันที่ 9 ตุลาคม 1983 ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้และพม่ากำลังรอรับการเดินทางมาถึงของ ชุน ดู-ฮวาน  ณ อนุสรณ์สถานวีรชนในนครย่างกุ้งเพื่อวางพวงหรีดแสดงความเคารพสุสานนายพลออง ซาน วีรบุรุษของชาวพม่า แต่ ชุน ดู-ฮวาน เดินทางมาถึงช้ากว่ากำหนดการ 5 นาที เนื่องจากรถติดทำให้เขารอดชีวิตจากการลอบสังหารมาได้อย่างหวุดหวิด

“เราไม่เป็นเพียงฝ่ายเดียวซึ่งมองไปที่คอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ กลุ่มคนที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์มากที่สุดบนโลก ในฐานะผู้ก่ออาชญากรรมอันทารุณเพื่อทำร้ายผมในฐานะประมุขแห่งสาธารณรัฐ” ชุน ดู-ฮวาน กล่าวหลังเกิดเหตุในวันถัดมา แม้จะยังหาหลักฐานเชื่อมโยงไปยังเกาหลีเหนือไม่ได้

เหตุการณ์ระเบิดฝีมือสายลับเกาหลีเหนือในนครย่างกุ้ง เมื่อปี 1983 (AFP PHOTO / CHOSUN ILBO / Kim Sang-Yeong)

หนึ่งเดือนต่อมา พม่าเผยการสอบสวนโดยชี้ว่า สายลับเกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลังการก่อเหตุดังกล่าว อย่างที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าวหาไว้ก่อนหน้า โดยทางการพม่าสามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้สองราย พร้อมกับหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมก่อเหตุอีกรายถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมเนื่องจากพยายามหลบหนี ทั้งสามรายถูกระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่กองทัพเกาหลีเหนือ โดยหนึ่งในสองรายที่ถูกจับกุมตัวได้ยอมรับสารภาพและถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ส่วนอีกรายต้องโทษประหารชีวิต

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและเกาหลีเหนือซึ่งเคยมีสัมพันธ์อันดีต่อกันมาก่อน โดยพม่าได้สั่งตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ พร้อมสั่งขับทูตเปียงยางพ้นประเทศ (เช่นเดียวกับที่มาเลเซียสั่งไปเมื่อปี 2017) ภายใน 48 ชั่วโมง หลังทางการพม่าสรุปผลการสอบสวนเป็นที่แน่ชัดในวันที่ 4 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ก่อนที่จะหันมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ขึ้นมาอีกครั้งในปี 2007 (พ.ศ. 2550)


อ้างอิง :

1. Haberman, Clyde. “Bomb Kills 19, Including 6 Key Koreans”. The New York Times (10 Oct 1983). <http://www.nytimes.com/1983/10/10/world/bomb-kills-19-including-6-key-koreans.html> Accessed 6 Mar 2017.

2. The Associated Press. “Burma Says Agents of North Korea Set Blast That Killed 21”. The New York Times (5 Nov 1983). <http://www.nytimes.com/1983/11/05/world/burma-says-agents-of-north-korea-set-blast-that-killed-21.html> Accessed 6 Mar 2017.

3. Kim, Tong-hyung. “Painful Memories of Rangoon”. The Korea Times (4 Oct 2013). <https://www.koreatimes.co.kr/www/common/printpreview.asp?categoryCode=135&newsIdx=143795> Accessed 6 Mar 2017.

4. “Ambassador’s Expulsion a ’Strong Message’ to North Korea: Malaysia DPM”. The Straits Times (5 Mar 2017). <http://www.straitstimes.com/asia/se-asia/ambassadors-expulsion-a-strong-message-to-north-korea-malaysia-dpm> Accessed 6 Mar 2017.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560