ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | ปวัตร์ นวะมะรัตน |
เผยแพร่ |
พระยาโบราณราชธานินทร์ สันนิษฐานว่าศาลาลูกขุนน่าจะอยู่บริเวณท้องสนามหน้าจักรวรรดิด้านเหนือ ตรงท้ายวิหารวัดธรรมิกราช ซึ่งขุดพบฐานรากของอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใกล้ๆ กับประตูมงคลสุนทร ซึ่งเป็นประตูเข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นใน
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา (พ.ศ. 2199) ทำสงครามป้องกันราชสมบัติกับสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดา ได้ยกกำลังออกจากวังหลวงมายืนช้างอยู่หลังศาลาลูกขุน ประจันหน้ากับกองกำลังของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งตั้งกองบัญชาการรบอยู่ที่พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์
การรบในคราวนั้นไพร่พลต่างบาดเจ็บล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาต้องปืนที่พระพาหุ (บริเวณไหล่ถึงข้อศอก) ส่วนสมเด็จพระนารายณ์ก็ต้องปืนที่หลังพระบาทซ้าย
สุดท้ายฝ่ายสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาแตกพ่าย จึงเสด็จหนีไปอยู่ที่วังหลัง แต่ก็ถูกทหารของสมเด็จพระนารายณ์ตามจับมาได้ จึงโปรดให้นำไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา ตามราชประเพณี
หลังวัดธรรมมิกราชจะมีประตูตรงเข้าสู่กำแพงวังชั้นนอก เดินผ่านแนวกำแพงเข้าไปก็จะเป็นบริเวณท้องสนามหน้าจักรวรรดิ
ถ้าสังเกตทางขวามือจะเห็นร่องรอยฐานรากของศาลาลูกขุน ซึ่งสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาเคยยกกำลังจากวังหลวงออกมายืนช้างอยู่บริเวณนี้ มองกลับไปทางวัดพระศรีสรรเพชญ์ ไม่ไกลกัน จะเห็นฐานบนของหมู่พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ กองบัญชาการรบของสมเด็จพระนารายณ์เมื่อครั้งกระนั้น
แนวซากฐานที่สันนิษฐานว่าคือศาลาลูกขุน ตั้งอยู่บริเวณท้องสนามหน้าจักรวรรดิ ด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง มองเห็นรั้วของวัดธรรมิกราชอยู่ด้านหลัง
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา (พ.ศ. 2199) เสด็จออกมายืนช้างอยู่บริเวณหลังศาลาลูกขุนประจันหน้ากับกองกำลังของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งตั้งกองบัญชาการรบอยู่ที่พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ มองเห็นซากฐานพระที่นั่งเป็นแนวยาวอยู่ตรงบริเวณต้นก้ามปู ด้านบนขวาของภาพ
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ศาลาลูกขุน” เขียนโดย ปวัตร์ นวะมะรัตน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2564