นองซี สำนักศึกษาบำบัดฮิสทีเรีย ที่ให้บทสรุปใหม่ว่าโรคนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเซ็กส์

ดร.ไลโบลต์ (คนที่ยืนซ้ายมือ) ในคลินิกของเขาที่โรงเรียนนองซี เมื่อปี 1873

ตอนหนึ่งในหนังสือ “ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประวัติชีวิตการงานและฟรอยด์บำบัด” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2552) ของ กิติกร มีทรัพย์ นักเขียนและนักจิตวิทยา กล่าวถึง โรงเรียนนองซี (Nancy School) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคฮีสทีเรียด้วยการสะกดจิต อันนำไปสู่ผลสรุปทางการวิจัยใหม่ดังนี้


 

ศาสตราจารย์ ฮิปโปไลท์ เอ็ม. เบอร์นไฮม์

โรงเรียนนองซี หรือ Nancy School เป็นโรงเรียนสำคัญแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ด้านจิตเวชและจิตวิทยาคลินิกของยุโรป กล่าวคือ เป็นโรงเรียนหรือสำนักทางวิชาการที่เน้นการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างโรคประสาทฮิสทีเรียกับการสะกดจิต นัยหนึ่งให้ความสำคัญของการใช้การสะกดจิตรักษาโรคประสาทชนิดนั้น ผู้ก่อตั้งสำนักนี้คือ ศาสตราจารย์ ฮิปโปไลท์ เอ็ม. เบอร์นไฮม์ ( Hippolyte M. Bernheim : 1823-1904) เป็นสำนักการศึกษาที่มีผู้สนใจกันมากช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตั้งอยู่ที่ฝรั่งเศส

ดร. ไลโบลต์ (Lie’beault) ชาวฝรั่งเศส เป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างดีในการบำบัดรักษาฮิสทีเรียด้วยการสะกดจิตและเป็นจิตแพทย์ประจำ ณ สำนักนี้ เขาได้เผยแพร่แนวความคิดและแนวทางการให้บริการผู้ป่วยแบบสะกดจิตเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

เจ้าสำนัก ดร. เบอร์นไฮม์ก็ใช้เวลาถึง 6 ปีบริการผู้ป่วยด้วยการสะกดจิตเช่นกัน แม้จะไม่ค่อยสำเร็จมากนัก แต่ก็ได้ความสนใจพอควร จนกระทั่งทั้งเบอร์นไฮม์และไลโบลต์ได้ทำการรักษาผู้ป่วยด้วยกัน และได้ข้อสรุปเป็นสมมุติฐานร่วมกัน 2 ข้อคือ

อาการของฮิสทีเรียกรณีมีอัมพาตแขน ขา ตามองไม่เห็น หูไม่ได้ยิน หรืออาการไร้ความรู้สึกแม้เมื่อเอาเข็มแทงต่างๆ นั้น ไม่ใช่ความผิดปกติด้านร่างกายใดๆ แต่อาการเช่นนี้เกิดกับคนทั่วๆ ไปได้ภายใต้การถูกสะกดจิต

อาการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้หายหรือคลี่คลายได้ด้วยการสะกดจิต จึงดูเหมือนว่าฮิสทีเรียเป็นแบบหนึ่งของการสะกดจิตตนเอง (self-hypnosis) บรรดาแพทย์และผู้ให้การบำบัดรักษา ถ้ายอมรับข้อสมมุติฐานสองข้อนี้ได้ จะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า สังกัดสำนักนองซี หรือนองซี สกูล (เมืองนองซี ประเทศฝรั่งเศส)

ในขณะที่สำนักนองซีเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางอยู่นี้ อีกด้านหนึ่งของปารีสคือที่โรงพยาบาลชาลเปตริเอร์ ก็มีประสาทแพทย์ผู้มีชื่อเสียงเด่นมากชื่อ อง มาร์แตง ชาร์โกต์ (Jean Martin Charcot : 1825-1893) สามารถสะกดจิตผู้ป่วยตามวิธีเดิมๆ แบบเมสเมอร์หรือเมสเมอริสต์ (Mesmerist) ได้เช่นกัน และไม่เห็นด้วยกับเบอร์นไฮม์และไลโบลต์ โดยย้ำว่าขณะสะกดจิตผู้ป่วยฮิสทีเรียการเปลี่ยนแปลงในสมองลดลงด้วย ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิดของชาร์โกต์ แต่ก็เป็นการดีที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ในขณะนั้นตื่นตัวและศึกษาฮิสทีเรียกันมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเซ็กซ์โดยตรงด้วย

อย่างไรก็ตาม การถกเถียงกันในมิติทางวิทยาศาสตร์ของศิษย์สำนักนองซีและสำนักอื่นๆ ในเวลานั้นเผ็ดร้อนและชี้ชวนให้เกิดการวิจัยอย่างลึกซึ้ง ในที่สุดผลงานวิจัยให้ข้อสรุปว่า

ฮิสทีเรียเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่งที่มีอาการปรากฏชัดว่ามีความผิดปกติของการเคลื่อนไหว ประสาทสัมผัส และกระบวนการย่อยอาหาร อันเนื่องมาแต่ความคับข้องใจอย่างรุนแรงและเป็นไปโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว

อาการหรือพฤติกรรมของฮิสทีเรีย มีจิตใจเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในลักษณะต่างๆ เช่น หวาดกังวล กลัวอย่างไม่ควรกลัว (โฟเบีย) เศร้า โศกจัด สิ้นหวังรุนแรง เหนื่อยหน่าย หรือพยาธิทางจิตอื่นๆ ซึ่งในชั้นหลังชาร์โกต์ก็ยอมรับว่าฮิสทีเรียมีปัจจัยทางจิตวิทยา (psychological factors) เกี่ยวข้องและสนับสนุนให้มีการศึกษาปัจจัยทางจิตวิทยาผู้ป่วยทางจิตชนิดอื่นๆ ด้วย

จนสิ้นศตวรรษที่ 19 มีความชัดเจนค่อนข้างมากว่าผู้ป่วยทางจิต (Mental disorders) หลายชนิดมีปัจจัยทางจิตวิทยาเกี่ยวข้องพอๆ กับพื้นฐานด้านชีวภาพ (biological basis) แต่ก็ยังมีคำถามใหญ่ที่รอคำตอบอยู่คือ ปัจจัยทางจิตวิทยาที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางจิตได้นั้นมาจากไหน

โรงเรียนนองซีจางหายไปเงียบๆ จากวงการ โดยไม่ค่อยมีใครรู้มากนัก

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2564