เผยแพร่ |
---|
นาฏศิลป์ดนตรี, การร้องรำทำเพลง และกิจกรรมละเล่นต่างๆ ของไทย เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่าเป็น “ประเพณีราษฎร์” บ้าง “ประเพณีหลวง” บ้าง แล้วประเพณีทั้งสองต่างกันอย่างไร, มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไร ขอนำเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ “ร้องรำทำเพลง” (โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 ตุลาคม 2551) ที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้มาตอบคำถามข้างต้นดังนี้
บรรดาการละเล่นไม่ว่าจะเป็นร้องรำทำเพลง หรือดนตรีและนาฏศิลป์ ก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรม” ซึ่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตและนักวิชาการมักจําแนกเป็น “ประเพณี” ที่แตกต่างกัน 2 ระดับ คือ “ประเพณีราษฎร์” และ “ประเพณีหลวง” แต่ประเพณีคู่นี้ก็มิได้แยกกันอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะต่างมีความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันตลอดมา
ประเพณีราษฎร์ (Little Tradition) เป็นของชนชั้นต่ำ ได้แก่ไพร่ฟ้าข้าไท และทาส ซึ่งจะมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่างๆ ที่มีสภาพแวดล้อมต่างกัน มีศูนย์กลางอยู่ที่ “วัด” ในชุมชนหรือหมู่บ้าน
ประเพณีหลวง (Great Tradition) เป็นของชนชั้นสูง ได้แก่เจ้านายเชื้อ พระวงศ์และขุนนาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ “วัง” หรือในเมือง
เหตุที่จําแนกประเพณีร้องรําทําเพลงหรือดนตรีและนาฏศิลป์ของชาว สยามออกเป็น 2 ระดับนั้น อาจใช้ข้อวินิจฉัยของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (แห่งภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) มาปรับปรุง เพื่ออธิบายได้ดังนี้
สังคมของชาวสยามยุคดึกดําบรรพ์จัดอยู่ในลักษณะ “สังคมแบบเผ่าพันธุ์” (Tribal Societies) ที่ยังกระจัดกระจายเป็นหมู่เป็นเหล่าหรือเป็นกลุ่มๆ ในแต่ละกลุ่มต่างก็มีพัฒนาการทางสังคมในวิถีทางของตัวเอง
ต่อมาสังคมระดับท้องถิ่นเหล่านั้นก็มีพัฒนาการผ่านพ้นสังคมแบบเผ่าพันธุ์ แล้วค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ “สังคมแบบชาวนา” (Peasant Society) มีการรับรูปแบบวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาผสมผสาน ทําให้เกิดการสร้างสรรค์วัฒนธรรมของสังคมแบบชาวนาที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสังคมแบบเผ่าพันธุ์กับ “สังคมแบบเมือง” (Urban Society)
ลักษณะบางประการของสังคมแบบชาวนาก็คือ ในขณะที่ยังรักษาเอกลักษณ์บางอย่าง (คือประเพณีดั้งเดิม) ที่สืบทอดมาจากสังคมแบบเผ่าพันธุ์ แต่สังคมแบบชาวนาก็พร้อมที่จะยอมรับความทันสมัย(หรือที่คิดว่าทันสมัย) บาง อย่างจากวัฒนธรรมในสังคมแบบเมือง เพื่อนําไปประสมประสานปรับปรุงและดัดแปลงประเพณีดั้งเดิมของตนให้ทันสมัย (หรือเชื่อว่าทันสมัย) อยู่เรื่อยๆ
เพราะสังคมแบบชาวนาอ่อนน้อมยอมรับแบบแผนทางวัฒนธรรมของสังคมแบบเมืองอยู่เสมอๆ ทําให้สังคมแบบชาวนามีสภาพเป็นส่วนหนึ่งสังคมแบบเมืองอยู่ตลอดเวลา
เมื่อพินิจพิจารณาพื้นฐานความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และทางสังคมแล้ว จะสังเกตเห็นว่าวัฒนธรรมของชาวสยามมีลักษณะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือมีความพร้อมอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่มีความแปลกและใหม่กว่า
นอกจากนั้นยังจะเห็นอีกว่า “ประเพณีหลวง” มีอิทธิพลเหนือ “ประเพณีราษฎร์” อย่างยิ่ง ซึ่งมีส่วนลดความแตกต่างในองค์ประกอบของประเพณีราษฏร์และมีส่วนผลักดันให้เกิดรูปแบบใหม่ที่กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เพราะฉะนั้นการทําความเข้าใจพัฒนาการของการร้องรําทําเพลงหรือดนตรีและนาฏศิลป์ของชาวสยามจึงจําเป็นต้องพิจารณาประเพณี 2 ระดับไป พร้อมๆ กันทั้ง “ประเพณีหลวง” และ “ประเพณีราษฎร์” ในลักษณะที่ต่างก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ…
ประเพณีราษฎร์ มีพื้นฐานดั้งเดิมแต่ครั้งดึกดําบรรพ์รองรับอยู่มาก่อนแล้ว รวมทั้งเป็นปัจจัยหลักของประเพณีหลวง
ประเพณีหลวง ได้รับพื้นฐานประเพณีราษฎร์เป็นหลักสําคัญที่สุด โดยชนชั้นสูงเป็นผู้ขัดเกลาประเพณีราษฎร์ให้ละเอียดอ่อนมีความประณีตวิจิตรและซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยการยอมรับแบบแผนจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย จีน อาหรับ ฯลฯ รวมทั้งมอญ เขมร ชวา เข้ามาประสมประสานเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
ต่อจากนั้นประเพณีหลวงจะส่งทอดอิทธิพลไปสู่ประเพณีราษฎร์ในสังคมแบบชาวนาอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายประเพณีราษฎร์จะค่อยๆ เคลื่อนไหว ดัดแปลงตัวเองไปตามกระแสอิทธิพลของประเพณีหลวงเป็นระยะๆ
แต่ไหนแต่ไรก็รับและส่งหมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้
ดังนั้น การร้องรําทําเพลงหรือดนตรีและนาฏศิลป์ของชาวสยามที่มีอยู่และที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ จึงล้วนมีพัฒนาการมาจากการละเล่นอันเป็นแบบแผนดั้งเดิมของท้องถิ่นหรือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ยุคดึกดําบรรพ์นานมาแล้ว ครั้นต่อมาเมื่อมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศก็ยอมรับแบบแผนประเพณีของต่างประเทศมาประสมประสาน เพื่อให้มีความทันสมัยและให้มีความเคลื่อนไหวเจริญก้าวหน้าขึ้น
ในที่สุดกาลเวลาก็หล่อหลอมประเพณีต่างๆ ของทุกอย่างให้กลมกลืน จนกระทั่งรวมเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วกลายเป็นประเพณีใหม่ที่เอกลักษณ์ของตนเอง
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2564