ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
โศกนาฏกรรมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อปี 2480 นับเป็นข่าวใหญ่ของประเทศ เพราะเป็นคดีฆาตกรรมนางงามคดีแรกของไทย หญิงสาวผู้น่าเห็นใจผู้นั้นคือ นางสาวยินดี มกติ นางงามนครศรีธรรมราช ประจำปี 2479 เธอผู้ต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือชายผู้เป็นที่รัก
สานสัมพันธ์ฉันหนุ่มสาว
นางสาวยินดี มกติ อายุ 20 ปี บุตรสาวคนโตของนายกี้กับนางส้มเอี่ยม มกติ เป็นชาวตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นางสาวยินดีเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด (ปัจจุบันคือโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช) เธอพบรักกับ นายเฉลิม สรวิสูตร์ ข้าราชการหนุ่มจากเมืองกรุงฯ ที่ย้ายมารับราชการที่ภาคใต้
นายเฉลิม อายุ 30 ปี เป็นบุตรคนที่ 4 จาก 6 คน ของหลวงขยันสรการกับนางขยันสรการ อาศัยอยู่ย่านสะพานเทเวศร์ กรุงเทพฯ นายเฉลิมเป็นคนมีลักษณะนิสัยสงบเสงี่ยม เรียบร้อย พูดน้อย เขามีความสามารถในด้านบัญชีระดับหัวแถว เป็นข้าราชการหนุ่มผู้มากความสามารถ ในปี 2478 ได้มารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ประจำแผนกตรวจเงินแผ่นดินภาค 4 (จังหวัดสงขลา) โดยเขาได้ดูแลพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้นายเฉลิมกับนางสาวยินดีมีโอกาสรู้จักสนิทสนมกัน
แม้ว่าระยะทางจังหวัดนครศรีธรรมราช-สงขลาจะอยู่ห่างกัน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคความรักของหนุ่มสาวทั้งสอง เมื่อใดที่มีเวลาว่าง นายเฉลิมจะรีบเดินทางมาหานางสาวยินดีเสมอ การมาหาคนรักนั้น นายเฉลิมจะใช้เวลาอยู่กับเธอทั้งวันที่บ้านของฝ่ายหญิง เมื่อถึงเวลาค่ำก็จะไปนอนพักตามบ้านเพื่อนหรือโรงแรมบ้าง นายเฉลิมกระทำการเช่นนี้เสมอมาจนได้รับความไว้วางใจจากบ้านของฝ่ายหญิง ในที่สุดนายเฉลิมจึงขอหมั้นนางสาวยินดี และกำหนดจัดงานแต่งงานในเดือนมีนาคมในปีหน้า คือปี 2480
นางสาวสยาม-นางงามเมืองคอน
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้จัดให้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญ และประกวด “นางสาวสยาม” ทำให้หลายจังหวัดริเริ่มจัดประกวดนางงามประจำจังหวัดเพื่อส่งเป็นตัวแทนเข้าร่วมประกวดนางสาวสยามที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี จังหวัดนครศรีธรรมราชก็ได้จัดประกวดนางงามประจำจังหวัดเช่นกัน โดยจัดประกวดนางงามในงานเทศกาลประเพณีสารทเดือนสิบ ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกันยายน
ในปี 2479 นี้เอง การประกวด “นางสาวนครศรีธรรมราช” จัดขึ้นในช่วงวันที่ 12-16 กันยายน ตัวแทนสาวงามจากหลายพื้นที่ถูกส่งเข้ามาประชันกันอย่างคึกคัก สร้างกระแสความตื่นตัวให้กับการประกวดนางงามในพื้นที่อย่างมาก สาวงามหลายคนที่มาจากหลายหน่วยงานถูกหมายตาและร้องขอให้เข้าร่วมประกวด หนึ่งในนั้นคือ นางสาวยินดี ครูสาวแห่งโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด
ในการประกวดนางสาวนครศรีธรรมราชมีสาวงามเข้ารวมประกวดกว่า 17 คน ด้วยความที่นางสาวยินดีมีรูปร่างหน้าตาสะสวยและผิวพรรณขาวนวล เธอจึงคว้ามงกุฎนางสาวนครศรีธรรมราช ประจำปี 2479 ไปครอง และเป็นตัวแทนของจังหวัดเข้าร่วมประกวดนางสาวสยามที่กรุงเทพฯ
การประกวดนางงามในยุคนั้นนอกจากจะสร้างเกียรติยศชื่อเสียงแก่ครอบครัวและวงศ์ตระกูลแล้ว ยังช่วยสร้างชื่อให้กับจังหวัด เพราะถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาล ซึ่งนายเฉลิมก็ทราบในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และได้ยินยอมให้คู่หมั้นเข้าร่วมประกวดนางสาวสยาม
การประกวดนางสาวสยามมีขึ้นในช่วงวันรัฐธรรมนูญในเดือนธันวาคม โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 4 ภาค คือ ภาคที่ 1 ประกวดนางงามจากภาคใต้และภาคกลาง, ภาคที่ 2 ประกวดนางงามจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคที่ 3 ประกวดนางงามธนบุรี และภาคที่ 4 ประกวดนางงามพระนคร จากนั้น นางงามที่ชนะเลิศประกวดนางงามประจำภาคทั้ง 4 คน จะเข้าประชันกันในรอบสุดท้ายว่าใครจะได้เป็นนางสาวสยาม
วันที่ 8 ธันวาคม ปี 2479 นางสาวยินดีคว้าชัยชนะได้เป็นนางงามประจำภาคที่ 1 ต่อมาในค่ำคืนของวันที่ 12 ธันวาคม อันเป็นวันประกวดนางสาวสยาม นางสาวยินดีมีคู่แข่งคือ นางสาวเจริญศรี (ภาคที่ 2 นางสาวชัยภูมิ), นางสาววิชิต (ภาคที่ 3 นางสาวธนบุรี) และนางสาววงเดือน (ภาคที่ 4 นางสาวพระนคร) หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ลงข่าวบรรยากาศการประกวดในวันนั้นว่า
“…ผ่านสายตาครั้งแรกจะเห็นได้ว่า นางสาววงเดือนไม่ได้เด่นกว่านางสาวยินดีมากนัก และนางสาวเจริญศรีก็ไล่เลี่ยกับนางสาวยินดีเหมือนกัน ฉะนั้นนางสาววิชิตพอเป็นอันมองเห็นได้ว่าหมดหวัง สายตาประชาชนจึงมองเห็นผู้เด่นได้ 2 คน คือ นางสาวพระนคร กับนางสาวนครศรีธรรมราช…นางสาวยินดี มกติ แห่งนครศรีธรรมราช (หมายเลข 2) ผู้มีรูปอันอวบท้วมมีฉวีอันขาวเป็นยองใย ห่มสไบสีแดง เมื่อสีแดงเมื่อปรากฏบนพื้นผิวสีขาว และโคมฉายส่องกราดอยู่จ้าเช่นนั้นย่อมดูขึ้นนัก และเพราะเหตุนี้ทำให้พิศวงกันครันอยู่…”
ขณะที่หนังสือพิมพ์ประมวญวัน กล่าวถึงนางสาวยินดีว่าเป็นตัวเต็งในการประกวดนางสาวสยามครั้งนี้ตีคู่มากับนางสาววงเดือน และกล่าวถึงความงามของเธอว่า
“นางสาวยินดี มุกติ จากนครศรีธรรมราช ร่างใหญ่ท้วม ผิวงาม เดินดี ขามีตำหนิเล็กน้อย ใบหน้าได้รูปและงามเกลี้ยงเกลา นัยน์ตาหวาน เสียตรงจมูกใหญ่และริมฝีปากกว้างไปนิด ส่วนวงเดือนร่างเล็กบาง แต่ไม่เสียส่วน ผิวงามมาก ทรวดทรงดีที่สุด น่องสะอาดเรียวงาม เดินดีกว่า ใบหน้าค่อนข้างกลม ตาแจ๋ว ทุกส่วนดีหมด คาดว่าตำแหน่งนางสาวสยามน่าจะได้แก่วงเดือนภูมิรัตน์”
ในคืนวันตัดสินนอกจากจะมีคณะรัฐบาล เชื้อพระวงศ์ และแขกผู้มีเกียรติมาร่วมชมการตัดสินแล้ว ปรากฏว่ามีชายชาวต่างชาติเข้าร่วมชมการประกวดอีก 2 ท่านด้วย ซึ่งพวกเขาต่างคาดคะเนกันว่านางสาวยินดีจะสามารถคว้ามงกุฎนางสาวสยามประจำปีนี้ไปได้อย่างแน่นอน ดังที่หนังสือพิมพ์ไทยใหม่รายงานว่า
“ที่จริงก็ไม่น่าสงสัย ถ้าหากว่าการประกวดคราวนี้ทำกันในอเมริกาหรือยุโรป นางสาวยินดี มกติ น่าจะได้เป็นที่ 1 เพราะเธอมีรูปทรงงาม สูงใหญ่และอวบท้วม ทั้งมีผิวขาวประหนึ่งสีงา แต่ถึงกระนั้น ในขณะปรากฏตัวออกมาด้วยกันในทีแรก ดวงตาอันคมเป็นมันขลับของนางสาววงเดือนก็มีประกายสะดุดตาผู้ดูแค่ในอึดใจแรกเสียแล้ว…”
ที่สุดนางสาววงเดือนคว้ามงกุฎนางสาวสยามประจำปี 2479 ไปครอง แม้นางสาวยินดีจะพลาด “มงใหญ่” ไป แต่เธอก็คว้า “มงเล็ก” ในตำแหน่งนางงามประจำภาคที่ 1 มาครองอย่างสง่างาม ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับเธอไม่น้อย
หลังการประกวดเสร็จสิ้น นางสาวยินดีพักผ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ ชั่วเวลาหนึ่ง นายเฉลิมเห็นว่าเป็นโอกาสอันดี เขาจึงร้องขอให้พี่สาวช่วยเป็นธุระจัดการพานางสาวยินดีไปแนะนำตัวทำความรู้จักกับแม่ของตน แม้พี่สาวของนายเฉลิมจะพยายามทำตามคำร้องขอของน้องชาย แต่สุดท้ายนางสาวยินดีก็ไม่ได้พบจวบจนเดินทางกลับจังหวัดนครศรีธรรมราช
โศกนาฏกรรม
เมื่อนางสาวยินดีกลับสู่บ้านเกิด ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นในวันที่ 30 ธันวาคม ณ จวนข้าหลวงประจำจังหวัด มีผู้คนมาเลี้ยงต้อนรับอย่างคับคั่ง เธอได้สร้างความภูมิใจให้กับชาวเมืองคอนอย่างมาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่หญิงสาวจากจังหวัดนครศรีธรรมราชสามารถคว้ารางวัลจากการประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญ
ชื่อเสียงและความงดงามของนางสาวยินดีย่อมทำให้มีชายหนุ่มมากด้วยรูปทรัพย์และสมบัติเข้ามาหมายปอง นั่นอาจทำให้นายเฉลิมรู้สึกหวั่นใจจึงพยายามรบเร้านางสาวยินดีให้เร่งรัดแต่งงานให้เร็วที่สุด แต่นางสาวยินดีอยากจะขอเลื่อนงานแต่งงานออกไปก่อน 1-2 ปี เพราะเธอเพิ่งรับตำแหน่งนางงาม อาจทำให้เธอต้องมีธุระหรือภาระต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ช่วยงานการกุศลต่าง ๆ แต่นายเฉลิมเห็นว่าเป็นเวลานานเกินไปจึงมาปรึกษากับบ้านของฝ่ายหญิง ที่สุดจึงสรุปให้เลื่อนงานแต่งงานจากกำหนดเดิมในเดือนมีนาคมไปเป็นเดือนพฤษภาคม ปี 2480
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปี 2480 นายเฉลิมลางานมาเยี่ยมนางสาวยินดี เขามาหาเธอคราวนี้ด้วยความร้อนอกร้อนใจมาก เพราะเขาทราบข่าวมาว่าอาจถูกย้ายไปรับราชการที่จังหวัดอื่นซึ่งไกลจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาก วันนั้นเขาชวนนางสาวยินดีออกไปดูหนังนอกบ้าน แต่นางสาวยินดีรู้สึกไม่สบาย ปวดหัวและปวดฟัน เธอจึงปฏิเสธคู่หมั้น และทำได้เพียงแค่พูดคุยกันอยู่ที่บ้านเท่านั้น
เช้าวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายเฉลิมมาหานางสาวยินดีที่บ้าน ครั้งนี้พบความผิดปกติวิสัยของนายเฉลิม คือ เขาขออนุญาตพ่อของนางสาวยินดีขึ้นไปหานางสาวยินดีบนห้องนอน ทั้งที่ผ่าน ๆ มา นายเฉลิมไม่เคยล่วงเกินถึงขั้นนี้มาก่อน นายเฉลิมดูร้อนรนจนอาจสันนิษฐานได้ว่าคงจะไปทราบความอะไรที่ไม่ดีต่อคู่หมั้นของตนเองเป็นแน่ เมื่อไม่พบนางสาวยินดีข้างบนบ้าน จึงเดินไปตามหาที่หลังบ้าน ก็พบนางสาวยินดีนั่งดูน้องสาวซักผ้าเช็ดหน้า จากนั้นทั้งสองจึงเดินมาพูดคุยกันตรงทางเดินใกล้กับห้องครัวหลังบ้าน
ระหว่างที่เจรจาพูดคุยกันอยู่นั้น แม่ของนางสาวยินดีผ่านมาพบและเห็นอาการไม่สู้ดีของลูกสาวจึงสอบถามด้วยความห่วงใย แต่คำพูดของนางสาวยินดีที่ตอบแม่นั้นกลับทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันตามมา นางสาวยินดีพูดขึ้นว่า “ปวดหัว ปวดฟันจะตายเสียให้ได้ แล้วคุณเฉลิมก็พูดมาไม่รู้สิ้นรู้จบ กวนใจจริง พูดไม่รู้แล้ว รำคาญเหลือเกิน แม่บอกโมทย์ (น้องสาว) ให้เอาแหวนคืนให้คุณเฉลิมเสียที”
นายเฉลิมได้ยินเช่นนั้นอาจเกิดความรู้สึกไม่พอใจแล้วบันดาลโทสะชักปืนออกมายิงนางสาวยินดี 2 นัด กระสุนลูกหนึ่งฝังอยู่กลางสมอง อีกลูกหนึ่งติดอยู่ที่กระโหลกหน้าผากเกือบทะลุ สิ้นเสียงปืนร่างของเธอล้มลงกับพื้น นายเฉลิมรีบเข้าประคองคนรัก และพยายามจะลั่นไกฆ่าตัวตายตามแต่ไม่สำเร็จเพราะกระสุนขัดลำกล้อง
รักพลิกล็อก
เรื่องราวที่เกิดขึ้นถือเป็นโศกนาฏกรรมความรักที่สะเทือนใจหลายคน ตอนบ่ายวันนั้นผู้คนจากทุกสารทิศมาร่วมพิธีรดน้ำศพนางสาวยินดีเป็นจำนวนมาก ด้านนายเฉลิมเองก็ยอมมอบตัวกับตำรวจโดยดี อย่างไรก็ตาม นายเฉลิมยังมีความลับบางอย่างปิดบังไว้ไม่ให้ใครรู้ แม้แต่ผู้หญิงที่เขารักก็ไม่อาจล่วงรู้ความลับนี้เลย หากเธอทราบเรื่องดังกล่าว ความรักระหว่างหนุ่มสาวคู่นี้คงไม่อาจเกิดขึ้น และอาจไม่ลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมเช่นนี้
ความลับนั้นก็คือ นายเฉลิมไม่ใช่หนุ่มโสด เขาผ่านการจดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับนางสมจิตต์ สารการ มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน ทว่าบุตรสาวคนโตเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 3 เดือน เหลือเพียงบุตรชายคนเล็กอายุ 2 ขวบ ถึงแม้นายเฉลิมจะอ้างว่าได้เลิกรากับนางสมจิตต์ไปแล้ว แต่ทั้งสองยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน ในขณะเดียวกันนางสมจิตต์ก็ยังแวะเวียนมาหาครอบครัวของนายเฉลิมที่บ้านย่านเทเวศร์อยู่เสมอ และไม่เคยทราบเรื่องราวความสัมพันธ์ของสามีกับนางสาวยินดีเลย เนื่องจากแม่และญาติของนายเฉลิมปิดบัง ตั้งแต่ในช่วงที่นายเฉลิมไปรับราชการที่จังหวัดสงขลา
นายเฉลิมไม่ได้ส่งเงินให้นางสมจิตต์ใช้ในฐานะภรรยา แต่ส่งเงินให้เดือนละ 15 บาท สำหรับเป็นค่าเลี้ยงดูบุตร นายเฉลิมรักลูกมาก หากลูกเกิดเจ็บป่วยต้องทำการรักษาเขาจะรีบส่งเงินมาให้ โดยก่อนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ นายเฉลิมก็เพิ่งส่งเงินเป็นค่ารักษาพยาบาลให้ลูกจำนวน 45 บาท อีกทั้งยังได้กำชับฝากฝังพี่สาวให้ช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรของตนอีกด้วย
ส่วนแม่ของนายเฉลิมนั้นก็ทราบเรื่องราวทั้งหมดของลูกชายเป็นอย่างดี เนื่องจากนายเฉลิมมักส่งจดหมายมาพรรณนาถึงความรักอันเปี่ยมล้นของเขาต่อนางสาวยินดีและคุณงามความดีต่าง ๆ ของเธอให้แม่ของตนรับรู้มาโดยตลอด ในบางครั้งครอบครัวของนายเฉลิมแจ้งข่าวว่าแม่ป่วยหรือไม่ก็บรรดาญาติพี่น้องทุกข์ยากประการใด นายเฉลิมไม่ได้ตอบรับทราบหรือแสดงความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว แต่กลับพรรณนาถึงหญิงคนรักของตนผ่านเนื้อความจดหมายทุก ๆ ฉบับ อีกทั้งยังพร่ำบอกเสมอว่า “หากพลาดรักด้วยประการใดก็อาจจะไม่ได้อยู่เป็นคนอีกต่อไป”
พี่สาวของนายเฉลิมเคยส่งจดหมายตักเตือนน้องชายให้ยับยั้งชั่งใจในเรื่องความสัมพันธ์กับนางสาวยินดี โดยให้เหตุผลไปว่า หากนางสาวยินดีทราบว่านายเฉลิมมีภรรยาและบุตรอยู่แล้ว อาจไม่ตกลงปลงใจแต่งงานด้วยก็ได้ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2479 พี่สาวได้รับจดหมายจากน้องชายเขียนแจ้งมาว่าเขาได้หมั้นกับนางสาวยินดีด้วยแหวนเพชรหนึ่งวง และได้อ้างว่าบอกความจริงกับทางฝ่ายผู้หญิงไปหมดแล้วว่าตนเคยมีครอบครัวมาก่อน แต่ได้เลิกรากันไปนานแล้ว
ทั้งนี้นายเฉลิมยังขาดเงินค่าสินสอดซึ่งฝ่ายหญิงเรียกร้องเป็นจำนวน 2,000 บาท จึงใคร่ขอเงินแม่และพี่สาว อีกทั้งอยากให้ทั้งสองลงมาเป็นธุระจัดการงานแต่งให้ตนที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม่ของนายเฉลิมยังคงยืนยันไม่ขอข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนพี่สาวใจหนึ่งก็สงสารน้อง อีกทั้งสถานะการเงินขณะนั้นก็ยังลำบาก สุดท้ายจึงจัดส่งเงินไปช่วยเป็นจํานวนเงิน 300 บาท
ปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2479 นั้น พี่สาวของนายเฉลิมได้รับจดหมายตอบรับจากน้องชายว่า เขาได้รับเงินที่เธอส่งไปให้ พร้อมแจ้งให้ทางพี่สาวทราบว่านางสาวยินดีได้เป็นตัวแทนจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าประกวดนางสาวสยาม และร้องขอให้พี่สาวช่วยเป็นธุระพานางสาวยินดีไปพบแม่ที่บ้านย่านเทเวศร์ แต่เนื่องจากแม่ของนายเฉลิมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นางสาวยินดีไม่ได้พบแม่ของนายเฉลิม ผู้จะเป็นว่าที่แม่สามีในอนาคต ทั้ง ๆ ที่นางสาวยินดีใช้เวลาพักอยู่ในกรุงเทพฯ นานหลายวัน
ส่งท้าย
โศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นข่าวดังไกลไปถึงต่างประเทศ หนังสือพิมพ์สิงคโปร์ถึงกับรายงานข่าวคดีนี้ เพราะนี่เป็นคดีฆาตกรรมนางงามที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งประชาชนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
นายเฉลิมลงเอยชีวิตในคุก ชดใช้กรรมที่ก่อขึ้นจากความขาดสติ เขาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าเกิดอารมณ์หุนหันพลันแล่นจนเกินไป จึงใช้ปืนยิงสาวผู้เป็นที่รัก
เพราะความขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือจะด้วยความหึงหวง และความเห็นแก่ตัวที่ปิดบังความลับของผู้ชาย สุดท้ายคนที่น่าสงสารที่สุดก็คือ นางสาวยินดี นางงามแห่งเมืองคอน
อ้างอิง :
ณัฐธิดา ทองเกษม. อาชญารัก : เปิดคดีฆาตกรรมนางงามนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2479. ใน วารสารรูสมิแล. ปีที่ 41 : ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2563).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2564