คนไทยใช้ธรรมเนียมอะไร? ทำไมฮิตแจกหนังสือของชำร่วยในสารพัดงาน?

หนังสือประชุมพระรูปที่ระลึกถึงของพระอัครชายาฯ ในรัชกาลที่ 5 พิมพ์แจกในงานพระศพ พ.ศ. 2472

ข้อกล่าวหาหนึ่งที่พูดกันตามอคติว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อย วันหนึ่งอ่านกันแค่ไม่กี่บรรทัดต่อวัน แม้สถิติเมื่อปี 2561 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า คนไทยใช้เวลาอ่านเพิ่มมากขึ้นเป็น 80 นาที/วัน หลายคนก็ยังเชื่อแบบเดิม

นอกจากนี้ เรื่องที่เรารู้อยู่แต่ไม่ได้ฉุกคิดก็คือ ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีธรรมเนียมนิยมแจก “หนังสือ” เป็น “ของชำร่วย” ไม่ว่าจะหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ, หนังสืองานครบรอบของหน่วยงาน, หนังสือ… เรื่องนี้ ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้เป็นบทความชื่อ “ประเพณีพิมพ์สูจิบัตรเป็นบรรณาการถึงหนังสืองานศพเป็นของชำร่วยอุดมคติแห่งเกียรติยศ สมัยรัชกาลที่ 5” (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2561) ดังนี้

Advertisement

 

การแจกหนังสือเป็นของชำร่วยในงานพิธีเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อขึ้นรัชกาลที่ 5 เกิดเลียนแบบธรรมเนียมของฝรั่ง โดยเจ้านายเป็นผู้ริเริ่มทำขึ้นก่อนตามคตินิยมของความเป็นสมัยใหม่ จำแนกออกเป็น 3 ประเภท 1. หนังสืองานมงคล 2. หนังสืองานศพ และ 3. สูจิบัตรประกาศเกียรติยศในวาระสำคัญ

1. หนังสืองานมงคลเล่มแรก

การแจกหนังสือเป็นของชำร่วยเป็นครั้งแรกในเมืองไทยเท่าที่ค้นพบได้เก่าที่สุดในหอสมุดแห่งชาติ ก็คือในงานฉลองเลื่อนกรมของกรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ ตอนที่ได้ทรงเลื่อนจากกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ มาเป็นกรมขุนบดินทรฯ เมื่อ พ.ศ. 2419 หนังสือที่พระองค์ทรงนำเป็นตัวอย่างแจกในงานทำพิธีมงคลครั้งนี้ คือหนังสือนนทุกปกรณัม ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง ในพระบรมมหาราชวัง ปีชวด อัฐศก 1238 (พ.ศ. 2419) ใต้ชื่อหนังสือมีข้อความตีพิมพ์ว่า

“หนังสือนี้เป็นของยินดี ในการเลื่อนกรม พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอักษรศาสนโสภณ เพื่อเป็นที่ระลึกแห่งท่านทั้งหลายซึ่งได้มีความสามัคคีมาประชุมในการมงคลนี้”

ภายหลังจากกรมขุนบดินทรไพศาลโสภณทรงพิมพ์หนังสือนนทุกปกรณัมแจกในงานฉลองเลื่อนกรมแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏว่าเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ได้พิมพ์หนังสือแจกเป็นของชำร่วยในงานพิธีใดอีก ทั้งนี้ก็เพราะปรากฏว่าในระยะนั้นกระดาษหายากมาก แม้แต่ราชกิจจานุเบกษาอันเป็นหนังสือทางราชการอันสำคัญ ก็จำต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว…

อุดมคติในการพิมพ์หนังสือแจกเป็นของชำร่วยได้เริ่มนิยมแพร่หลายเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังจะเห็นได้จาก ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2432) เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ได้พิมพ์หนังสือเรื่องพระรัตนไตร แจกในการทำบุญอายุครบ 70 ปี หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ที่กรมไปรษณีย์และโทรเลขสยาม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่เริ่มมีประเพณีการแจกหนังสือในการทำบุญอายุ หรือทำบุญวันเกิด

2. หนังสือแจกงานศพเล่มแรก

ประเพณีการแจกของชำร่วยแก่ผู้ที่ไปช่วยในงานฌาปนกิจได้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ของชำร่วยที่เจ้าภาพแจกนั้นเป็นของที่มีลักษณะและต่างชนิดกันตามฐานะ…

ส่วนงานพระศพเจ้านายก็พระราชทานสลากแก่ผู้ที่ไปในงานพระราชทานเพลิงศพนั้น แล้วผู้ที่ได้รับพระราชทานสลากนำสลากไปขึ้นเอาสิ่งของตามเบอร์ที่มีอยู่ในสลากนั้น ของเหล่านี้มีเกือบทุกอย่าง นับตั้งแต่แก้วแหวนเงินทอง ตลอดจนกระทั่งของใช้เบ็ดเตล็ด…การแจกหนังสือเป็นของชำร่วยแก่ผู้ไปช่วยในงานศพ เพิ่งจะเริ่มมีเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5

โดยใน พ.ศ. 2423 เมื่อคราวงานพระเมรุการพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า หนังสือสวดมนต์และพระปริตรต่างๆ ยังกระจัดกระจายกันอยู่ ทั้งของเดิมก็จารลงในใบลานและเป็นอักษรขอม พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะรวมพระสูตรและพระปริตรตีพิมพ์ไว้ในผูกเดียวกันและทั้งให้ตีพิมพ์เป็นอักษรไทยด้วย เพื่อพระราชทานแด่พระสงฆ์ไทยทั่วทุกพระอาราม เป็นการพระราชกุศลในคราวพระเมรุนั้นมีจำนวน 10,000 ฉบับ…

การพิมพ์หนังสือแจกเป็นของชำร่วยในงานมงคลและงานศพนั้น ในระยะแรกๆ เป็นหนังสือสวดมนต์และธรรมะเป็นพื้น ซึ่งเป็นคตินิยมในสมัยนั้นว่าได้กุศลแรง และหนังสือที่แจกในงานศพ สมัยก่อนก็ไม่ได้ลงประวัติของผู้ตายไว้ให้ลูกหลานหรือญาติพี่น้องได้ทราบไว้ด้วย

ความนิยมเอาประวัติของผู้ตายมาลงไว้ในหนังสือที่พิมพ์แจกนั้น เพิ่งจะมาเริ่มกันอย่างแท้จริงในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเวลานั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ หนังสือแจกในงานศพที่เป็นประวัติของผู้ตายล้วนๆ เล่มแรกก็ได้แก่หนังสือศรีสุนทราณุประวัติ อันเป็นประวัติของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 ช่วยเน้นลักษณะของงานที่ท่านเคยทำมาก่อนสิ้นอายุขัย

หนังสือที่พิมพ์แจกในการกุศลสมัยก่อนนิยมแจกกันในงานศพมากกว่างานมงคล และส่วนมากหนังสือที่แจกนั้นก็หนักไปในทางศาสนา เช่น สวดมนต์บ้าง เทศน์บ้าง ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับแจกไปแล้วไม่ได้อ่าน เพราะหนังสือเหล่านี้เป็นประเภทหนักสมอง เป็นเรื่องแห้งแล้ง ดังจะเห็นจากกระแสพระราชดำริในรัชกาลที่ 5 ในหนังสือนิบาตชาดก ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระเมรุกรมขุนสุพรรณภาควดี (พระองค์เจ้าหญิงศรีวิลัยลักษณ์) เมื่อ พ.ศ. 2447

อารัมภบทในหนังสืองานศพเล่มนี้ทำให้เราทราบว่าของชำร่วยแต่ก่อนได้ถูกยกเลิกไปเพราะล้าสมัย แล้วเปลี่ยนมาเป็นหนังสือที่มีประโยชน์มากกว่า ดูจะเป็นกุศลกว่า และจะไม่ถูกทิ้งขว้าง ทั้งยังมีสาระจากคนรุ่นเก่าที่ไม่พบในหนังสือทั่วไป

“ประเพณีที่ใช้กันในการทำศพเวลาปัจจุบันนี้ เขาเลิกแจกฉลากซึ่งต้องลงทุนมาก แต่ไม่สู้เป็นประโยชน์แก่ผู้ใด ว่าโดยย่อก็ตัดการที่ต้องจำหน่ายทรัพย์มากในการทำศพฯ แต่ในสิ่งซึ่งจะใช้แทนของแจกมีคนเป็นอันมากได้คิดจะให้เป็นประโยชน์ยืนยาวหรือแพร่หลาย จึงได้เลือกหนังสือต่างๆ เป็นสวดมนต์บ้าง เทศน์บ้าง ตีพิมพ์ขึ้นถวายพระแลแจกเมื่อมีผู้ใดไปช่วยฯ เมื่อได้นึกจะทำเช่นนี้บ้างแล้ว จึงได้สืบถามบรรดาผู้ซึ่งได้รับหนังสือแจกว่า ได้อ่านหรือไม่ชอบอย่างไร ได้รับคำตอบต่างๆ แต่โดยมากนั้น ตั้งแต่รับหนังสือแจกมาแล้วไม่ได้อ่านเลย เพราะเป็นเรื่องแห้งไม่ชอบอ่านแลได้ความเห็นด้วยว่า ถ้าเป็นนิทานค่อยยังชั่วฯ ชี้ตัวอย่างว่า เมื่อครั้งศพหม่อมเฉื่อย แจกหนังสือชนกได้อ่านก็สนุกอยู่ ดังนี้ฯ”

ต่อมาเมื่อตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนครขึ้นแล้ว กรรมการของหอพระสมุดสำหรับพระนครได้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาเรื่องเก่าให้แก่ผู้ประสงค์จะพิมพ์แจกในงานศพ หรืองานมงคล ซึ่งเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้ ดังได้กล่าวมาแล้ว หนังสือที่พิมพ์แจกในงานศพ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนาเป็นพื้น เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หรือพงศาวดาร และเรื่องอื่นๆ ยังไม่นิยมพิมพ์แจกกัน เรื่องพงศาวดารที่พิมพ์แจกในงานศพเป็นครั้งแรกก็คือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ในงานพระเมรุท้องสนามหลวง จำนวน 3,000 เล่ม เมื่อ พ.ศ. 2455

ในตอนปลายรัชกาลที่ 5 และตอนต้นสมัยรัชกาลที่ 6 การพิมพ์หนังสือเป็นของชำร่วยในงานศพและงานมงคลได้แพร่หลายไปยังประชาชนโดยทั่วไป เพราะในระยะนั้นได้มีโรงพิมพ์ตั้งขึ้นอย่างแพร่หลาย นอกจากนั้นหนังสือที่แจกในงานศพผู้ใดย่อมจะมีชีวประวัติและผลงานของผู้นั้นลงไว้ข้างหน้าตัวเรื่องของหนังสือนั้นทุกคน…

3. สูจิบัตรประกาศเกียรติยศ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือโดยประมาณคือก่อนและหลัง พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) ได้เกิดนวัตกรรมใหม่ของการพิมพ์หนังสือแจกเป็นบรรณาการ ในโอกาสพิเศษของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นการประกาศเกียรติคุณแก่ “เจ้าภาพ” หรือ “งานฉลองสมโภช” ซึ่งเป็นงานจรรูปแบบหนึ่ง

หนังสือดังกล่าวเจ้าภาพเป็นผู้จัดพิมพ์เองและมอบเป็นเกียรติแก่แขกเหรื่อในงาน ซึ่งเป็นธรรมเนียมเก่าจากยุโรป แต่คนไทยนำเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยมีราชวงศ์เป็นแม่แบบเพื่อเป็นที่ระลึกถึงบุคคลหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ มีชื่อเรียกจำเพาะว่าสูจิบัตร…

คำว่า “สูจิบัตร” แม้ความหมายตรงตัวจะแปลว่า “โปรแกรม” หรือ “ระเบียบการจัดงาน” แต่ความหมายทางอ้อมยังหมายถึงเอกสารที่สื่อสารถึงเจ้าภาพ หรือบุคคลสำคัญในงานหรือเหตุผลของการจัดงานโดยเฉพาะ…

และเนื่องจากเป็นงานจรในวาระพิเศษเท่านั้น จึงมักจะไม่มีเวลาเตรียมการล่วงหน้า ทำให้สูจิบัตรถูกทำขึ้นอย่างรวบรัด ฉุกละหุก และไม่ค่อยมีแบบแผน เพื่อให้ทันการมาของบุคคลสำคัญ หรืองานสมโภชแบบไม่มีวาระแจ้งล่วงหน้า เรื่องข้างในก็เป็นที่พอจะหาข้อมูลได้ใกล้มือ ทำให้เป็นหนังสือขนาดเล็กกะทัดรัด และบอบบางกว่าหนังสือทั่วไป…

ต่อมาชาวราชสำนักไทยก็นำมาประยุกต์ใช้จนเกิดประเพณีการพิมพ์สูจิบัตรเป็นหนังสือที่ระลึกแจกเป็นวาระจรอย่างเอิกเกริกในประเทศสยาม มีความหลากหลายและมีอัตลักษณ์เป็นของไทยเอง จนในภายหลังต่างประเทศแทบจะตามแบบของไทยแทบไม่ทัน


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2564