เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ สายใยรักสองราชสำนัก เชียงใหม่-เชียงตุง “รุ่นสุดท้าย”

เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่

วันที่ 15 มกราคม 2546 เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ พระธิดาเจ้าหอคำเชียงตุง เจ้าฟ้าก้อนแก้นอินทรแถลง ผู้เป็นชายาของเจ้าอินทนนท์ ราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ได้สิ้นลมหายใจด้วยวัยชรา 93 ปี ที่นครเชียงใหม่ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดเจดีย์หลวง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานพวงมาลา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานผ้าไตร 5 ชุด พร้อมพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนกิจสถานสันกู่เหล็กในวันที่ 19 มกราคม 2546

ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ จึงขอบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ของเชียงใหม่-เชียงตุง เป็นเครื่องเคารพศพ “เจ้านางคนสุดท้ายแห่งสองราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุง”

1. ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงกับเชียงใหม่ในสมัยราชวงศ์มังราย

เชียงใหม่มีความสัมพันธ์กับเชียงตุงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย โดยตำนานเมืองเชียงตุงกล่าวว่า พญามังรายเป็นผู้สร้างเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1810 ตำนานระบุว่าเดิมเมืองเชียงตุงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวลัวะมาก่อน ต่อมาพญามังรายได้ขยายอาณาเขต “ครุบชิงเอาเมืองทัมมิละมาเป็นเมืองขึ้นแห่งตน” ในระยะแรกได้ให้มังคุมและมังเคียน ซึ่งเป็นลัวะไปครองเมือง ต่อมาโปรดให้เจ้าน้ำท่วมซึ่งเป็นหลาน (พงศาวดารเชียงตุงว่าเป็นลูก) ครองเชียงตุง

ในสมัยพญาไชยสงคราม (พ.ศ. 1854-1868) ได้ส่งราชบุตรคือเจ้าน้ำน่านไปครองเมืองเชียงตุง โทษฐาน “บ่ซื่อต่อกูผู้เป็นพ่อ” ครั้นสมัยพญาแสนพู (พ.ศ. 1868-1877) และสมัยพญาคำฟู (พ.ศ. 1877-1879) ได้ส่งขุนนางมาครองเชียงตุง

ต่อมาในสมัยพญาผายูได้ส่งราชบุตรคือเจ้าเจ็ดพันตูเชี้อสายราชวงศ์มังรายไปปกครองเชียงตุง ในสมัยเจ้าเจ็ดพันตูครองเชียงตุง เชียงตุงเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านอาณาจักรและพุทธจักร โดยในปี พ.ศ. 1882 พญาผายู (พ.ศ. 1879-1877) ได้ส่งพระเถระจากเชียงใหม่ขึ้นไปเชียงตุงเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาหนยางกวง พระเถระหงษ์ได้สร้างวัดขึ้นในที่ป่าช้านอกเวียง ให้ชื่อว่าวัดราชฐานหลวง ซึ่งต่อมาชาวเชียงตุงได้เรียกว่า วัดยางกวง

ในสมัยพญากือนา (พ.ศ. 1898-1928) พุทธศาสนาในเชียงใหม่ได้เจริญรุ่งเรืองมากทรงนิมนต์พระมหาสมุนเถรจากสุโขทัยมาเผยแผ่ศาสนาลังกาวงศ์ที่เชียงใหม่ มีศูนย์กลางที่วัดสวนดอก ต่อมาจึงเรียกนิกายสวนดอก พญากือนาทรงสนับสนุนให้พระภิกษุจากเชียงแสนเชียงตุง มาศึกษาพุทธศาสนานิกายสวนดอกที่วัดสวนดอก ทำให้เชียงตุงได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากเชียงใหม่ โดยวัดในเชียงตุงรุ่นแรกเช่นวัดยางกวงเป็นนิกายสวนดอกเชียงใหม่

ต่อมาในสมัยพญาสามฝั่งแกน พระมหาญาณคัมภีร์ได้นำพุทธศาสนาจากลังกามาเชียงใหม่เรียกว่า “ลังกาวงศ์ใหม่” มีศูนย์กลางที่วัดป่าแดง จึงเรียก “นิกายป่าแดง” ต่อมานิกายป่าแดงได้แพร่หลายออกจากเชียงใหม่ไปทั่วล้านนาถึงเชียงตุง ซึ่งใน พ.ศ. 1989 พระยาสิริธัมมจุฬาเจ้าเมืองเชียงตุงได้สร้างวัดป่าแดงถวายเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี

ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงและเชียงใหม่ได้ดำเนินอย่างดีสืบมา จนกระทั่งล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปีเศษ เชียงตุงรัฐชายขอบของล้านนาจึงต้องขึ้นต่อพม่าด้วย จนใน พ.ศ. 2317 พญาจ่าบ้าน (บุญมา) และเจ้ากาวิละได้ร่วมกับกองทัพกรุงธนบุรีขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของสยามตั้งแต่นั้นมา ความขัดแย้งระหว่างสยามและพม่าได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และเชียงตุงเริ่มเปลี่ยนไป นำไปสู่สงครามเชียงตุงในสมัยรัตนโกสินทร์หลายครั้ง (ดู สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์ 2539 หน้า 188-189)

2. การอพยพชุมชนไทเขินจากเชียงตุงมาสู่เชียงใหม่

ในสมัยพระเจ้ากาวิละครองเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2325 นั้น ภารกิจสำคัญคือการขับไล่พม่าที่ยังอยู่เชียงแสนออกจากดินแดนล้านนา และเร่งฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ โดยรวบรวมกำลังคนที่อพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ตามป่าเขาและจากเมืองต่างๆ เข้ามาไว้ในเมืองเชียงใหม่ ทรงใช้วิธีการเกลี้ยกล่อมและส่งกองกำลังเข้าตีเมืองต่างๆ หลายครั้ง เช่นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2341-2344 มีการ “เทครัว” คนจากแถบแม่น้ำคง (สาละวิน) เช่น เมืองปุ บ้านงัวลาย บ้านสะต๋อย บ้านวังลุง วังกาด สร้อยไร ท่าช้าง บ้านนาฯ มาไว้ที่เชียงใหม่ และใน พ.ศ. 2345 สามารถตีเมืองสาดและเมืองเชียงตุงได้สำเร็จ

ในปี 2347 กองทัพเชียงใหม่ร่วมกับกองทัพสยามตีเชียงแสนได้สำเร็จ มีการ “เทครัว” คนไทยวนจากเชียงแสนไปไว้ที่ต่างๆ เช่น 1. บ้านฮ่อมในเชียงใหม่ 2. อำเภอคูบัว จังหวัดราชบุรี 3. อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ฯลฯ จากนั้นพระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้ท้าวแก่นคำนำกองกำลังขึ้นไปเชียงตุงเกลี้ยกล่อมให้เจ้าเมืองเชียงตุงขณะนั้นคือ เจ้ามหาสิริชัยสารัมพยะยอมสวามิภักดิ์ ซึ่งเจ้าเมืองเชียงตุงยินยอมและพร้อมนำเจ้านาย ขุนนาง และชาวเขินจากเชียงตุงมาอยู่ในเชียงใหม่

ครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละโปรดให้เจ้านายไทเขิน ขุนนางและกลุ่มช่างมีฝีมืออยู่พื้นที่ระหว่างกำแพงชั้นในและชั้นนอกรอบวัดนันทาราม วัดดาวดึงษ์ วัดธาตุคำ วัดเมืองมาง วัดศรีสุพรรณ ส่วนกลุ่มคนที่เป็นเกษตรกรได้อยู่รอบนอกเวียง เช่น ที่วัดป่างิ้ว วัดสันต้นแหน วัดสันข้าวแคบ วัดสันกลาง วัดสันก้างปลา ในเขตอำเภอสันกำแพง และแถบอำเภอดอยสะเก็ดที่วัดป่าป้องเป็นชุมชนไทเขินสืบมาถึงปัจจุบัน

3. สายสัมพันธ์รักเชียงตุง-เชียงใหม่-ลำปาง

เจ้าฟ้าเชียงตุงที่มาอยู่ในเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2347 เป็นลูกๆ ของเจ้าฟ้าชายสามเจ้าหอคำเชียงตุง (พ.ศ. 2203-2309 และ พ.ศ. 2312-2329) มี 8 คนคือ 1. เจ้ากระหม่อมต้นสกุลพรหมศรี 2. เจ้าแสนเมือง 3. เจ้าฟ้ามหาศิริชัยสารัมพยะหรือเจ้าฟ้ากองไท 4. เจ้าเมืองเหล็ก (เจ้าดวงทิพย์) 5. เจ้ามหาขนาน (เจ้าดวงแสน) 6. เจ้ามหาพรหม (สมรสกับเจ้าศรีแก้ว ธิดาของเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยกาวิละ) อนุชาของเจ้าพุทธวงศ์เจ้าหลวงเชียงใหม่เป็นต้นสกุลสิโรรสและกาวิละเวส 7. เจ้านางศรีแก้ว 8. เจ้านางคำแดง (ดู จิตติ เทพรัตน์. จากเจียงตุ๋งมาฮอดเจียงใหม่ บ้านไทยเขินวัดนันทราม 2545 หน้า 26-27)

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง เจ้าฟ้าผู้ครองนครเชียงตุง ผู้ที่รัฐบาลอังกฤษยกย่อง โอรสและธิดาล้วนแต่มีความสามารถและรอบรู้มาก

ในบรรดาพี่น้องดังกล่าวมีเจ้ามหาขนาน (เจ้าดวงแสง) คนเดียวที่ไม่ยอมมาเชียงใหม่ ขอต่อสู้กับพม่าโดยมีฐานที่เมืองหลวย เมืองยาง ต่อมาพม่าให้ท้าวคำวังคนของเจ้ามหาขนานเกลี้ยกล่อมสำเร็จ และยกเจ้ามหาขนานเป็นเจ้าเมืองเชียงตุง เรียกว่าเจ้าฟ้าหลวงเขมรัฐมหาสิงหะบวรสุธรรมราชาธิราช ซึ่งผู้สืบสายทายาทในสายนี้คนหนึ่ง คือเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่

กล่าวถึงเจ้ามหาขนาน (เจ้าดวงแสง) ผู้เป็นเจ้าหอคำเชียงตุงมีบุตร 7 คน ลูกคนที่ 7 ชื่อเจ้าฟ้าโชติกองไท (เกิดจากเทวีเชียงแขงจึงเป็นเจ้าฟ้าเชียงแขง) ได้ครองเชียงตุงสืบต่อจากพี่ชายคนโตคือเจ้าหนานมหาพรหม

เจ้าฟ้าโชติกองไทมีลูก 6 คน ลูกคนที่ 4 คือเจ้าฟ้าก๋องคำฟู ได้เป็นเจ้าหอคำเชียงตุงสมัยอังกฤษเข้ามาปกครองพม่า ครองเชียงตุงได้ 9 ปีก็พิราลัย ลูกคนที่ 5 ของเจ้าฟ้าโชติกองไท คือ เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง ขึ้นเป็นเจ้าหอคำเชียงตุงสืบแทน

ร้อยโทโรแบรด์ ข้าหลวงอังกฤษผู้กำกับราชการนครเชียงตุง ในงานมงคลสมรสระหว่างเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ กันเจ้าหญิงสุคันธา โดยมีเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลงและเจ้านางปทุมมหาเทวี ถ่ายภาพร่วมกับเจ้าบ่าว-เจ้าสาว

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลงมีชายา 6 คน มีลูกรวม 19 คน (ดู อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง 27 มกราคม 2533. หน้า 119-120) ในจำนวนนี้มี 3 คนมีสายสัมพันธ์รักกับคนในล้านนา คือ

เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ กับเจ้าหญิงสุคันธา ณ เชียงตุง ในวันแต่งงาน

1. ลูกชายคนหนึ่งที่เกิดจาก “เจ้าแม่เมือง” (อัครมเหสี) แม่เจ้าปทุมมหาเทวี (ธิดาเจ้าเมืองสิง) (คนเชียงตุงเรียกเจ้าแม่เมือง มีอำนาจมาก) คือเจ้าฟ้าพรหมลือ ต่อมาได้มีสายสัมพันธ์รักกับเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง (พ.ศ. 2446-2532) หลานสาวของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 13 (มารดาคือเจ้าหญิงฝนห่าแก้วเป็นธิดาเจ้าหลวงลำปาง)

เจ้าฟ้าพรหมลือเป็นเจ้านายชั้นสูงของเชียงตุงที่สามารถกางสัปทนและนั่งเสลี่ยงได้ ซึ่งมีเพียง 3 พระองค์คือ 1. เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง เจ้าหอคำ 2. เจ้าฟ้ากองไท (รัชทายาท) 3. เจ้าฟ้าพรหมลือ (โอรสเจ้าแม่เมือง) เจ้านายคนอื่นใช้ได้แค่ “จ้องคำ” (ร่มทอง) (ดู ความทรงจำที่เมืองเชียงตุงของเจ้านางสุคันธา อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ 19 มกราคม 2546)

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลสยามได้เชียงตุงจัดตั้งเป็นสหรัฐไทยเดิม ร.8 โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าพรหมลือเป็นเจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยศสรพรหมลือ ครองสหรัฐไทยเดิม แต่เมื่อสิ้นสงครามรัฐบาลสยามต้องมอบเชียงตุงคืนสหประชาชาติ เจ้าฟ้าพรหมลือต้องพาครอบครัวเข้าไทยพำนักที่กลางเวียงเชียงใหม่จนพิราลัยใน พ.ศ. 2498 (ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลาธนารักษ์ของกรมธนารักษ์) (ดู อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง 27 มกราคม 2533)

แถวยืนจากซ้าย ๑. เจ้านางแว่นทิพ ๒. เจ้านางสุคันธา ๓. เจ้านางบัวสวรรค์ ๔. เจ้านางฟองแก้ว ๕. เจ้านางแว่นแก้ว ๖. เจ้านางทิพเกษร ๗. เจ้านางฟองนวล ๘. เจ้านางบัวไหล แถวนั่งกลางจากซ้าย ๑. เจ้าหม่อมทิพย์น้อย (มารดาเจ้านางบัวนวล เด็กคนนั่งขวาข้างหน้า) ๒. เจ้าหม่อมแดง (มารดาเจ้านางจันทร์ฟอง เด็กคนนั่งซ้าย) ๓. เจ้าหม่อมทิพย์หลวง (มารดาเจ้านางสุคันธา, เจ้านางแว่นแก้ว, เจ้านางแว่นทิพ) ๔. “เจ้านางสุวรรณา” เจ้ามารดาของเจ้าฟ้าก้อนอินทรแถลง ๕. เจ้านางปทุมมหาเทวี ๖.เจ้าหม่อมยวง

2. ลูกชายคนหนึ่งที่เกิดจาก “นางฟ้า” เจ้านางจามฟองคือ เจ้าขุนศึก ต่อมาได้สมรสกับนางสาวธาดา พัฒนถาบุตร ธิดาของแม่บัวจันทร์และนายดาบแดง พัฒนถาบุตร (2430-2523) คหบดีบ้านวัวลาย เชียงใหม่ (ดู ชีวิตเจ้าฟ้า อนุสรณ์งานประชุมเพลิงเจ้าฟ้าขุนศึก เม็งราย 4 มีนาคม 2538)

3. ธิดาคนหนึ่งที่เกิดจาก “นางฟ้า” เจ้านางทิพย์หลวงหรือเจ้านางบัวทิพย์หลวง คือ เจ้านางสุคันธา ต่อมาได้สมรสกับ เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9

4. เจ้านางคนสุดท้ายแห่งราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุง

เจ้านางสุคันธาพระธิดาแห่งเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง เจ้าหอคำเชียงตุง กับเจ้านางทิพย์หลวงหรือเจ้านางบัวทิพย์หลวง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2453 ในหอหลวงเมืองเชียงตุง เจ้านางเรียกเจ้าพ่อว่า “ฟ้าหม่อม” (ดู ความทรงจำที่เมืองเชียงตุงของเจ้านางสุคันธา อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ 19 มกราคม 2546) มีพี่น้องร่วมมารดา 5 คนคือ 1. เจ้านางแว่นแก้ว 2. เจ้านางสุคันธา 3. เจ้านางแว่นทิพ 4. เจ้าสิงห์ไชย 5. เจ้าแก้วเมืองมา ได้เสกสมรสกับเจ้าชายแห่งราชสำนักเชียงใหม่คือเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ณ หอคำเชียงตุง โดยมีเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลงเจ้าหอคำ เจ้านางปทุมมหาเทวีเป็นเจ้าภาพเมื่อ พ.ศ. 2476 มีร้อยเอกโรแบรด์ ข้าหลวงอังกฤษผู้กำกับราชการนครเชียงตุงร่วมเป็นเกียรติในงานมงคลสมรส (ดู อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง หน้า 113)

หอหลวงเมืองเชียงตุง

เจ้านางสุคันธาและเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ จึงเป็นสายใยแห่งความรักของราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุงรุ่นลูก “เจ้าหลวง” สองราชสำนักรุ่นสุดท้าย และบัดนี้เจ้านางคนสุดท้ายแห่งราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุงก็ได้คืนสู่สวรรคาลัย นับเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ล้านนาคนหนึ่งที่ชาวล้านนาเพิ่งรู้จักและให้การเคารพ โดยเฉพาะชาวเขินในล้านา เพิ่งรับรู้ว่าเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ คือเจ้านางแห่งนครเชียงตุง ขัตติยนารีของชาวเขินที่มีสายสัมพันธ์รักกับเจ้าชายแห่งราชสำนักเชียงใหม่ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายในนครเชียงใหม่ตราบสิ้นลมหายใจ

ภาพในวันพิธีสมรสระหว่างราชบุตรเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ กับธิดาเจ้าฟ้าก้อนแก้วเชียงตุง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ จากซ้ายไปขวาคือ
๑. อำมาตย์โท เจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) ๒. เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ (เจ้าบ่าว) ๓. เจ้าฟ้าล้อกจ้อก ราชบุตรเขยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง ๔. เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง ๕. เจ้าหญิงทิพเกษร ธิดาคนโตของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลงกับเจ้านางปทุมมหาเทวี ร่วมมารดาเดียวกับเจ้าฟ้าพรหมลือ ๖. เด็กชายคนที่ยืนอยู่กับเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง คือเจ้าฟ้าชายหลวง หลานปู่โดยตรงของท่าน (เป็นบุตรเจ้ากองไท ราชบุตรของท่านผู้ที่เป็นเจ้าฟ้า ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ แล้วถูกลอบยิงตาย อดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าฟ้าชายหลวงในนครเชียงตุงแทนเจ้าปู่และเจ้าพ่อ) ๗. เจ้าหญิงสุคันธาธิดาเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลงกับแม่เจ้านางบัวทิพย์หลวง ซึ่งเป็นเจ้าสาวของเจ้าอินทนนท์ในครั้งนี้ ๘. เจ้าหญิงทิพวรรณ ณ ลำปาง ชายาเจ้าฟ้าพรหมลือ

อย่างไรก็ดี ก่อนเจ้านางสุคันธาจะสิ้นลมหายใจ ทายาทคนหนึ่งของเจ้านางสุคันธาและเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ คือเจ้าวิไลวรรณ ณ เชียงใหม่ ได้พบกับลูกหลานไทเขินบ้านนันทารามเมื่อ 27 ธันวาคม 2545 เพื่อแนะนำการแต่งกายแบบไทเขินและเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “กาดคัวฮักคัวหาง คัวเงิน” ที่วัดนันทาราม เมื่อ 3 มกราคม 2546 ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานไทเขินที่บรรพบุรุษได้มาอยู่ในเชียงใหม่แน่นแฟ้นขึ้นอีกวาระหนึ่ง

ขอเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. 2453-2546) สายใยรักแห่งสองราชสำนักเชียงใหม่-เชียงตุงคืนสู่สวรรคาลัยด้วยปีติเทอญ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2560