Colette หญิงสู้นาซี-ปัดไปเยอรมนีกว่า 70 ปี แต่ยอมเปลี่ยนใจ สู่สารคดีสั้นรางวัลออสการ์

(ขวา) Colette และ Lucie ภาพจาก สารคดี Colette/YouTube: The Guardian

รางวัลออสการ์ในหมวดสารคดีสั้นยอดเยี่ยมประจำปี 2021 ตกเป็นของเรื่อง Colette ว่าด้วยเรื่องราวสตรีวัย 90 ปีซึ่งเคยเป็นสมาชิกขบวนการต่อต้านในฝรั่งเศสเคลื่อนไหวต่อสู้กับนาซีเยอรมัน เธอตกลงใจว่าจะไม่ไปเยือนเยอรมนีอีกแล้วในชีวิตนี้ แต่สุดท้ายก็ได้เหตุผลที่เธอยอมกลับไปเยือนเยอรมนี พื้นที่ซึ่งเป็นเสมือนบาดแผลทางจิตใจของเธอเป็นครั้งแรกในรอบ 74 ปี

ประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงได้รับความสนใจจากคนจำนวนมากทั่วโลก เห็นได้จากผลงานต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมาในหลายรูปแบบล้วนได้เสียงตอบรับจากแต่ละชุมชนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่ในเวทีออสการ์ เวทีใหญ่ของสายผู้ผลิตภาพยนตร์ประเภทต่างๆ ซึ่งการประกาศรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุดมีผลงานซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ด้วย

สารคดีสั้นเรื่อง Colette อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของการผสมผสานระหว่างเรื่องราวในอดีตเข้ากับโลกแห่งอนาคต โดยผลงานเรื่องนี้นำเสนอโดย Oculus Studios และ Electronic Arts’ Respawn Entertainment เนื้อหาปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในเกมสงครามอย่าง Medal of Honor: Above and Beyond เกมสงครามแบบ VR (Virtual Reality) และภายหลังได้ The Guardian สื่อดังจากอังกฤษเข้ามาดูแลและเผยแพร่ สารคดีสั้นเรื่องนี้เพิ่งได้รับรางวัลจากเวที Academy Award สาขาสารคดีสั้นยอดเยี่ยมประจำปี 2021

เนื้อหาของสารคดีสั้นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ Colette Marin-Catherine สตรีผู้เป็นอดีตสมาชิกกลุ่มต่อต้านในฝรั่งเศส (French Resistance) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่จนถึงยุค 2000s แต่ตลอด 74 ปีที่ผ่านมา เธอปฏิเสธการกลับไปเยือนเยอรมนี สถานที่อันเป็นเสมือนบาดแผลทางจิตใจ โดยเฉพาะพื้นที่แคมป์ Mittelbau-Dora ซึ่งเธอสูญเสียพี่ชายไป แต่ความคิดของเธอเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีโอกาสพบกับนักเรียนประวัติศาสตร์หญิงรุ่นลูกที่ชื่อว่า Lucie Fouble

Colette เดินทางกลับไปที่แคมป์ซึ่งพี่ชายของเธอเสียชีวิตลงเมื่อ 74 ปีก่อนโดยมี Lucie ร่วมคอยให้ความช่วยเหลือตลอดเส้นทาง ทั้งคู่ต่างให้กำลังใจกันและกัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกันในเส้นทางย้อนกลับไปสู่ความทรงจำอันเป็นบาดแผลของผู้คนในอดีต

ระหว่างถ่ายทำสารคดีสั้น Colette เล่าเรื่องราวโดยคร่าวของเธอว่า ภายหลังจากชัยชนะของเยอรมนีเหนือฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยอมจำนนในช่วงค.ศ. 1940 ครอบครัวของเธอก็เข้าร่วมขบวนการต่อต้านแห่งฝรั่งเศส เคลื่อนไหวต่อสู้กับนาซีเยอรมัน

ขณะที่ Lucie นักเรียนประวัติศาสตร์แสดงความคิดเห็นว่า เธอมอง Colette เป็นเสมือนฮีโร่เนื่องจาก ประชากรเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ต่อสู้กับนาซีก่อนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะเข้ามา เธอเชื่อว่าการเดินทางครั้งนี้ของเธอกับ Colette จะช่วยให้เรื่องราวเกี่ยวกับผู้จากไปในแคมป์ถูกบอกเล่าเพื่อเป็นที่จดจำของผู้คน

สารคดีสั้นกำกับโดย Anthony Giacchino และฉายในรูปแบบ 2D ปกติ สามารถรับชมได้ทั้งจากแอปฯ Oculus หรือแอปฯ อื่นๆ รวมถึงในเว็บไซต์ The Guardian (คลิกชมสารคดีสั้นที่นี่)

ที่มาที่ไปของการผลิตสารคดีสั้นเรื่องนี้ Anthony Giacchino ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า เริ่มขึ้นจากเมื่อเดือนเมษายน 2018 เมื่อเขากับ Alice Doyard โปรดิวเซอร์ของสารคดีเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อสำรวจมองหาเรื่องราวเกี่ยวกับทหารอเมริกันที่เครื่องบินร่อนตกใน Sainte-Mère-Église ระหว่างการบุกเข้านอร์มังดีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไกด์ทัวร์ของพวกเขาพาไปพบกับสุภาพสตรีในนอร์มังดีที่ชื่อว่า Colette และเสนอว่าจะแนะนำให้รู้จักกับเธอ

เมื่อได้พูดคุยกับ Colette แล้ว ผู้กำกับสารคดีก็พบว่า เธอยังมีความทรงจำเกี่ยวกับสงครามได้ดีเยี่ยม เธอพูดถึงการสูญเสีย Jean-Pierre ญาติของเธอแบบตรงไปตรงมาด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน พวกเขาจึงตัดสินใจช่วยนำเสนอเรื่องราวของเธอไปสู่โลกกว้าง และในแง่การผลิตผลงานขึ้น พวกเขาก็อยากค้นหาความสัมพันธ์เชิงลึกระหว่าง Colette กับญาติที่เธอสูญเสียไป

แต่เมื่อนึกถึงการถ่ายทำก็คิดว่ามีปัญหาว่า Colette สัญญากับตัวเองว่าจะไม่เดินทางไปเยอรมนีอีกเด็ดขาด และเธอบอกกับพวกเขาตรงๆ ว่า เธอใช้เวลาตลอด 70 ปีที่ผ่านมาพยายามจะลืมความทรงจำนี้ไป

ในระหว่างที่ Alice Doyard ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม เธอพบโปรเจคต์ของพิพิธภัณฑ์ La Coupole Museum ในฝรั่งเศสที่กำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ของชาวฝรั่งเศสที่ถูกเนรเทศไป Dora นั่นทำให้ทีมผู้สร้างพบกับนักเรียนประวัติศาสตร์วัย 17 ปีชื่อ Lucie Fouble พวกเขาจึงเชื่อว่า ถ้า Lucie ร่วมเดินทางกับ Colette ในทริปไปเยอรมนีด้วยย่อมสะท้อนให้ Colette เห็นว่า โศกนาฏกรรมในความทรงจำของเธอมีความหมายและมีความสำคัญต่อคนรุ่นหลังจากเธอไปแล้วแค่ไหน นั่นจึงเป็นที่มาให้พวกเขาเกลี้ยกล่อมให้ Colette เดินทางไปเยอรมนี

Alice Doyard ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เนื้อหาตอนหนึ่งมีว่า

“แนวคิดอำนาจนิยมและการไม่ยอมรับความเห็นต่างกำลังแพร่กระจายในยุโรปช่วงทศวรรษ 1940s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราไม่ได้มีชีวิตร่วมสมัยด้วย นั่นบอกกับเราว่า เราสามารถเรียนรู้จากตัวอย่างของ Colette เกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของปฏิบัติการของขบวนการต่อต้านที่มีต่อทรราช และอีกด้านคือฝั่งของ Lucie ในแง่ความสำคัญของการตรวจสอบสืบค้นทางประวัติศาสตร์เพื่อค้นหาความจริงมากกว่าการอยู่กับเรื่องเล่า ในฝรั่งเศส เรื่องนี้สำคัญเพราะอดีตส่วนมากเป็นปริศนาที่ยากจะแก้ปัญหาได้ แต่เราเชื่อว่ามันยังมีความเป็นจริงอยู่ในนั้นในแง่มุมแบบโลกสากล”

 


อ้างอิง:

Sam Byford. “Video game industry wins first Oscar with documentary short Colette”. The Verge. Online. Published 26 APR 2021. Access 28 APR 2021. <https://www.theverge.com/2021/4/26/22403166/colette-oscar-documentary-short-oculus-medal-of-honor>

Lindsay Poulton and Jess Gormley. ” ‘I’ll never be the same again’: facing family trauma in a Nazi concentration camp”. The Guardian. Online. Published 18 NOV 202. Access 28 APR 2021. <https://www.theguardian.com/world/2020/nov/18/ill-never-be-the-same-again-facing-family-trauma-in-a-nazi-concentration-camp>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2564