ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|---|
เผยแพร่ |
ตีเชียงใหม่เป็นโครงเรื่องหลักของขุนช้างขุนแผน แสดงความสัมพันธ์การเมืองระบบเครือญาติอุปถัมภ์ใกล้ชิด (ภาษาตระกูลเดียวกัน) ระหว่างสุพรรณ-ล้านนา-ล้านช้าง
เครือญาติยิ่งใกล้ชิดกันมากก็ยิ่งมีเรื่องขัดแย้งกันมาก (สืบเนื่องถึงสมัยอยุธยา) มีตัวอย่างอยุธยา (สมัยแรก) กับกัมพูชา ทำสงครามกัน เพราะเป็นเครือญาติใกล้ชิด
สุพรรณภูมิขัดแย้งเชียงใหม่ด้วยผลประโยชน์ ได้แก่ (1.) ทรัพยากรสำคัญ-เหล็ก และ (2.) กำลังคน
พบร่องรอยและหลักฐานหลายอย่างแสดงความใกล้ชิดเชียงใหม่ โดยเฉพาะตำนานนิทาน ได้แก่ ขุนบรม, ท้าวอู่ทอง, พญาพาน, ดาบฟ้าฟื้น, ขุนแผน
ตำนานนิทานเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ความเคลื่อนไหวโยกย้ายของภาษาไทยเป็นภาษากลางไปตามเส้นทางการค้าดินแดนภายใน จากล้านนา-ล้านช้าง ลุ่มน้ำโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก (เพราะฟากตะวันออกมีอำนาจภาษาเขมร)
1. ขุนบรม มีลูกชาย 7 คน แยกครัวไปสร้างบ้านแปลงเมืองอยู่ในไทย ได้แก่ ไสผง ลูกชายคนที่ 4 ครองเมืองโยนก-ล้านนา งั่วอิน ลูกชายคนที่ 5 ครองเมืองสุพรรณภูมิ-อโยธยา
2. ท้าวอู่ทอง สืบเชื้อสายจากลุ่มน้ำโขง ล้านช้าง-ล้านนา มีหลักแหล่งอยู่ลุ่มน้ำน่าน-ยม โยกย้ายลงท่าจีน-แม่กลอง-เพชรบุรี แล้วไปสร้างอยุธยา
3. พญาพาน ลูกพญากง ครองเมืองลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง เคยยกทัพไปนมัสการพระธาตุ ลำพูน (หริภุญชัย) แล้วยกกลับ
4. พระร่วง (สุโขทัย-สุพรรณ) เป็นสหายมังราย (เชียงราย) กับ งำเมือง (พะเยา) ครั้งหนึ่งไปร่วมเลือกสถานที่สร้างเชียงใหม่
5. ดาบฟ้าฟื้น ชื่อ “ฟ้าฟื้น” คือผีบรรพชนตระกูลเมืองน่าน-เมืองหลวงพระบาง พบในจารึกสุโขทัย หลัก 45 (ปู่หลานสบถกัน)
6. ขุนแผน กลายคำจาก “แถน” พบในโองการแช่งน้ำ หมายถึงผู้สร้างทุกอย่างในโลก คือพระพรหม
สยามลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง
ภาษาและวัฒนธรรมสยามจากลุ่มน้ำโขง แผ่ลงลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง เมื่อเรือน พ.ศ. 1000 (สยาม “ไม่ไทย” แต่พูดภาษาไทย)
จากนั้นค่อยๆ เติบโตขึ้นแล้วมีอำนาจเป็นรัฐสยาม ซึ่งเอกสารจีนเรียก เสียน หรือ เสียม ต่อไปจะมีนามว่ารัฐสุพรรณภูมิ ราว 800 ปีที่แล้ว ระหว่าง พ.ศ. 1700-1800
ความเก่าแก่ของภาษาไทยบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ดูจากความหนาแน่นของเพลงโต้ตอบมากสุดนับร้อยเพลง (หนังสือ เพลงนอกศตวรรษ ของ เอนก นาวิกมูล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2521) เทียบทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีไม่ถึง 10 เพลง เพราะดั้งเดิมเป็นหลักแหล่งของ “ขอม” พูดภาษาเขมร
ชาวสยามในรัฐสุพรรณภูมิพูดภาษาไทยที่มีรากเหง้าจากลุ่มน้ำโขง ด้วยสำเนียงเดียวกับคนสองฝั่งโขง ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันว่าลาว (โดยเฉพาะลาวเหนือแถบเมืองหลวงพระบางและเครือข่าย) เป็นต้นตอสำเนียง “เหน่อ” บางทีเรียก “เหน่อลาว”
สำเนียงเหน่อ มีระดับสูงต่ำกับหางเสียงบางช่วงทอดยาวเหมือนดนตรี เป็นต้นตอของวรรณยุกต์ในภาษาไทย
สำเนียงเหน่อเมื่อ 800 ปีที่แล้ว มีอย่างไร? ไม่พบหลักฐานโดยตรง แต่เทียบสำเนียง “เหน่อ” ได้หลายพื้นที่
เหน่อ
สำเนียงเหน่อมีต้นตอจากสำเนียงภาษาไทยลุ่มน้ำโขงนับพันปีมาแล้ว
สมัยแรก ฟักตัวอยู่ท่าจีน-แม่กลอง กระจายลงคาบสมุทรถึงเพชรบุรี-นครศรีธรรมราช (ละโว้ พูดเขมร)
สมัยหลัง เป็น “สำเนียงหลวง” กรุงศรีอยุธยา เมื่อสุพรรณภูมิยึดครองอยุธยาเป็น “ราชอาณาจักรสยาม” จากนั้นกระจายทั่วไปทางตะวันออก ได้แก่ โคราช (นครราชสีมา) และระยอง-จันทบุรี-ตราด
เหน่อ การพูดที่เพี้ยนไปจากสำเนียงมาตรฐาน (สมัยนั้น) สุนทรภู่บอกในโคลงนิราศสุพรรณ (บท 129) ว่า “ลาวเสียงเหน่อ” ดังนี้
๏ บ้านตั้งฝั่งน้ำที่ กะดีทอง
ลาวอยู่รู้เสียงสนอง เหน่อช้า
คัดความจาก : สุจิตต์ วงษ์เทศ. ขุนช้างขุนแผน พื้นเพสุพรรณเมืองเพลง วรรณกรรม “ผู้ดี” กระฎุมพี เอกสารประกอบรายการทอดน่องท่องเที่ยว | มีนาคม 2564
ชมรายการทอดน่องท่องเที่ยว
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2564