เผยแพร่ |
---|
เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติ มีพระราชดำริจะเสด็จประพาสต่างประเทศ พ.ศ. 2413-14 จึงเสด็จฯ เมืองสิงคโปร์ของอังกฤษ และเมืองบะเตเวีย เมืองสมารังของฮอลันดา เหตุผลของการมาสิงคโปร์ปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสรัชกาลที่ 5 ตอบพวกพ่อค้าชาวสิงคโปร์ในงานเลี้ยงรับรองว่า
“เปนความยินดีของเราอย่างหนึ่งเมื่อเรามาเยี่ยมเยือนเมืองต่างประเทศ ภายนอกพระราชอาณาจักร ได้มาถึงเมืองสิงคโปร์ก่อน เพราะนอกจากที่เปนเมืองค้าขายใหญ่โต ยังเปนเมืองซึ่งได้มีไมตรีชอบพอค้าขายกันกับกรุงสยามอยู่เปนอันมาก”
การเสด็จฯ ต่างประเทศครั้งนั้น สิงคโปร์เป็นจุดหมายแรกของการเสด็จฯ ต่างประเทศของพระองค์ ต่อจากสิงคโปร์ได้เสด็จฯ ไปยังปัตตาเวีย บนเกาะชวา, นครจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย, เมืองสมารัง เมืองขึ้นของประเทศฮอลันดา และเสด็จฯ กลับมาที่สิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อประทับเป็นการส่วนพระองค์ในฐานะแขกพิเศษของพลเอก แอนสัน ผู้รั้งตำแหน่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษ
นอกจากนี้ยังทรงตระหนักถึงความจำเป็นทั้งในการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย จึงได้เสด็จฯ ไปยังสิงคโปร์ เพื่อ “ดูแบบอย่าง” การเมืองการปกครอง ภายหลังการเสด็จฯ ไปสิงคโปร์แล้ว ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่างในสยามในด้านต่างๆ ทางกายภาพ ได้แก่
แก้ไขขนบธรรมเนียมการเข้าเฝ้าในราชสำนัก รัชกาลที่ 5 เสด็จออกบ่อยขึ้น ให้ขุนนางใส่เสื้อราชปะแตน (หรือ Royal Pattern) และสวมถุงน่อง รองเท้า นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่าแบบโจงกระเบน
เปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าถวายคำนับ แบบฝรั่งแทนการหมอบกราบที่พื้นฝืนเข้าเฝ้าฯ และโปรดให้เจ้านายตลอดจนข้าราชการผู้ใหญ่นั่งโต๊ะเสวยด้วยได้
การศึกษา (ภายใน) ให้พวกเจ้านายที่เคยถูกส่งไปเรียนที่สิงคโปร์กลับมาเรียนในกรุงเทพฯ (และส่งเสริมการไปเรียนภายนอก) โดยจัดส่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร์ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ส่งนักเรียนหลวงไปเรียนในยุโรป
เปลี่ยนรูปแบบการไว้ผม จากผมทรงมหาดไทยหรือทรงแสกกลางมาเป็นแบบรองทรง
นอกจากนี้ยังมี “การก่อสร้าง” ที่เกิดขึ้นจากการเสด็จคราวนั้น มีอาทิ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง สร้างตามแผนค่ายบาแร็กที่ได้ทอดพระเนตรที่สิงคโปร์, การสร้างถนนริมกำแพงรอบพระนคร, การสร้างอุทยานสราญรมย์ เหมือนสวนสาธารณะตามคตินิยมของชาวอังกฤษไว้เดินเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ, การตกแต่งคลองตลาด ช่วงระหว่างสะพานช้างโรงสีกับสะพานมอญ
แต่ที่สำคัญและเน้นย้ำนัยทางการทูต (Protocol) อันเป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติกัน และการเปิดเผยฐานะของผู้นำประเทศเอกราชพึงกระทำเมื่อไปถึงต่างแดน คือการส่งพระราชทานโทรเลขไปยังพระราชินีอังกฤษ ผู้เป็นเจ้าของเมืองสิงคโปร์ ความว่า
“ทูล สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
หม่อมฉันออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม มาตรวจตราหัวเมืองของหม่อมฉัน แล้วได้ลงมาถึงเมืองสิงคโปร์ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพระองค์ เปนครั้งแรกที่เจ้าแผ่นดินสยามได้มาขึ้นที่เมืองอังกฤษ
ท่านผู้รั้งราชการได้ต้อนรับหม่อมฉันเปนเกียรติยศอย่างสูงสุด แลได้จัดให้พักที่จวนมีความสุขสบายมาก
หม่อมฉันมีความยินดีที่ได้เห็นบ้านเมืองแล ผู้คนซึ่งอยู่ในพระราชอํานาจของพระองค์ มีความเจริญรุ่งเรืองถึงเพียงนี้
หม่อมฉันขอบพระทัยที่พระองค์ทรงรับรองโดยไมตรี แลขอให้พระองค์ทรงพระเจริญชนม์สุข ทุกประการ”
ข้อมูลจาก :
ไกรฤกษ์ นานา. “ภาพพระมหากษัตริย์ไทยกับผู้นำโลกสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนฐานะเมืองไทยไปตลอดกาล” ใน, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2564