รัชกาลที่ ๔ ตั้งชื่อท้องสนามหลวง และท้องสนามไชย

ภาพถ่ายมุมสูง แลเห็นท้องสนามหลวงในอดีต (ภาพจากหอจดหมายเหตุ)

สนามหลวงทุกวันนี้เป็นที่โล่งแจ้ง มีต้นมะขามปลูกรอบเป็นวงรี ตั้งแต่ทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) จนถึงคลองคูเมืองเดิม

แต่สมัยแรกมีที่โล่งเพียงครึ่งเดียวของปัจจุบัน คือกว้างไปทางเหนือถึงหน้าวัดมหาธาตุเท่านั้น เพราะอีกครึ่งหนึ่ง (ทางเหนือ) เป็นเขตวังหน้า และไม่ได้เรียกชื่อสนามหลวง แต่เรียกทุ่งพระเมรุ เพราะใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งได้แบบมาจากสนามหน้าจักรวรรดิของพระนครศรีอยุธยา

Advertisement

ชื่อสนามหลวงแรกมีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ดังมีประกาศของรัชกาลที่ ๔ จะคัดมาลงไว้โดยจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่ายๆ ดังนี้

ประกาศว่าด้วยท้องสนามหลวงแลท้องสนามไชย

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ในพระบรมมหาราชวังแลพระบวรราชวัง ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เจ้าต่างกรมแลยังไม่ได้ตั้งกรม แลอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงให้รู้จงทั่วกันว่า

ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นคนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า “ทุ่งพระเมรุ” นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้เรียกว่า “ท้องสนามหลวง”

อนึ่ง ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ให้เรียกว่า “ท้องสนามไชย” ให้ข้าราชการผู้จะเขียนบาดหมายแลจะกราบบังคมทูลพระกรุณา แลราษฎรทั้งปวงเขียนชื่อเรียกชื่อทั้งสองตำบล ให้ถูกต้องตามชื่อซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมไว้นี้

ถ้าผู้ที่ยังมิได้รู้หมายประกาศนี้ หรือได้รู้แล้วแต่หลงลืมไป ยังเรียกว่าทุ่งพระเมรุอยู่ตามเคยเรียกมาแต่ก่อนถ้ากรมพระตำรวจหรือกรมพระนครบาลผู้หนึ่งผู้ใดจับกุมผู้ที่เรียกพลั้งเรียกผิดนั้นมาปรับไหมเอาเงินทอง ก็ให้ผู้ต้องจับนั้นมาร้องฟ้องตามกระทรวง ถ้าชำระได้ความจริงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปรับไหมผู้จับทวีคุณให้แก่ผู้ต้องจับนั้น

หมายประกาศนี้ออกในปีเถาะ สัปตศก