เผยแพร่ |
---|
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ฝ่ายพันธมิตรได้เข้าไปจัดการเกี่ยวกับกิจการการของประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นที่เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม รวมถึงประเทศไทย มีความพยายามเข้ามาลดอำนาจทางทหารและเสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากข้อเสนอ 21 ข้อของอังกฤษต่อผู้แเทนรัฐบาลไทยในการเจรจาครั้งแรกที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา
เนื้อหาข้อเสนอ 21 ข้อที่เกี่ยวกับการทหาร ได้แก่
ข้อ 1. ให้ยุบองค์การทหาร องค์การกึ่งทหาร องค์การการเมือง ซึ่งกระทำการโฆษณาเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติ
ข้อ 13. จะดำเนินการปกครองทางพลเรือนต่อไปโดยปฏิบัติตามความประสงค์ของเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติกิจการของเขาได้
ข้อ 16. ยอมให้จัดตั้งคณะผู้แทนทางทหาร ซึ่งแต่งตั้งโดยเจ้าหน้าที่ทางทหารเพื่อเป็นที่ปรึกษาในการจัดกำลังการฝึกและการจัดเครื่องมือเครื่องใช้กำลังของทัพไทย
หากรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ สงวนท่าที่ไม่ยอมรับข้อเสนอ 21 ข้อของอังกฤษ ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรไทยต้องยอมอนุมัติให้รัฐบาลลงนาม แต่ได้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่า อังกฤษบีบบังคับมิใช่ยินยอมโดยสมัครใจ
แต่สุดท้ายเรื่องราวดังกล่าวก็ “ผลิก” เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงการเจรจา
อังกฤษต้องยอมถอนข้อเสนอ 21 ข้อ ด้วยเวลานั้นอังกฤษกำลังเจรจากู้เงินเพื่อการบูรณะประเทศจากสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยจึงหลีกเลี่ยงการลงนามในร่างสัญญา 21 ข้อสำเร็จ และการคาดการณ์ของ เซอร์โจซาย ครอสบี้ (Sir Josiah Crosby) อดีตอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย (ระหว่าง ค.ศ. 1934- 1941) เป็นจริงขึ้นมา
ครอสบี้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติ ว่า “ในประเทศที่รูปการปกครองแบบเก่าถูกทำให้เสื่อมคลาย หรือทำลายลงโดยไม่มีมติมหาชนที่มีประสิทธิภาพมาทดแทน กองทัพประจำการจะเป็นอันตรายต่อการเติบโตของสถาบันประชาธิปไตย” ซึ่งประเทศไทยก็จัดอยู่ในประเทศดังกล่าวนี้
ข้อมูลจาก :
สุชิน ตันติกุล. รัฐประหาร พ.ศ. 2490, สำนักพิมพ์มติชน ธันวาคม 2557
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2564