เผยแพร่ |
---|
เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) สืบเชื้อสายมาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีศักดิ์เป็นเหลนของเจ้าพระยาพระคลัง (ฉิม) เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2364 ต่อมาได้รับการถวายตัวโดยบิดาคือ หลวงจินดาพิจิตร (ด้วง) เป็นข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ยังทรงพระผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ว่ากันว่าเป็นศิษย์เอกที่โปรดปรานของสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎมาก
เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎเสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 4 แล้วจึงโปรดให้เจ้าพระยามหินทร์เป็น “เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี” หัวหมื่นมหาดเล็ก
ใน พ.ศ. 2400 รัชกาลที่ 4 รับสั่งให้เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีเดินทางไปกับคณะราชทูตเครือญาติของตระกูลบุนนาค เพื่อทำหน้าที่หน่วยสอดแนมพิเศษแก่พระองค์ ดังความในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับของรัชกาลที่ 4 ถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี มีลักษณะการปรับทุกข์และการระบายความกับข้าหลวงคนสนิทของพระองค์แทน ดังเช่น
“ด้วยพ่อเพงเปนคนเดิมต้นเรือนของข้า ข้าควรพูดกับเจ้าของตัวตรงๆ ไม่ควรจะอ้อมค้อมไปหาคนห่างๆ ให้ข้าได้ความลำบากแลเปนคนนอกเลย ข้าอ่านหนังสือของคนอื่นไม่ชอบใจเลย”
ทว่าพระเมตตาที่ได้รับนี้ ก็ทำให้ชื่อเสียงของท่านเป็นที่ “ระแวง” ของขุนนางระดับเสนาบดีผู้ใหญ่ จนอาจจะเป็นภัยกับตัวท่านเองในภายหลัง
รัชกาลที่ 4 ซึ่งได้ทรงอุปถัมภ์และทรงสนับสนุนเจ้าพระยามหินทร์ให้ก้าวหน้าในทางราชการ จึงทรงมีความกังวลห่วงใยว่า อาจจะทำงานไปกระทบกระทั่งผู้มีบุญวาสนาที่เหนือกว่าเจ้าพระยามหินทร์อยู่ก็เป็นได้ ทั้งนี้เพราะอุปนิสัยใจคอของเจ้าพระยามหินทร์นั้นเป็นคนตรง คงเส้นคงวา และไม่ค่อยยอมใคร จึงอาจมีท่านผู้ใหญ่ไม่พอใจเอาได้
จึงเป็นที่มาของการที่พระองค์ทรงตักเตือนเจ้าพระยามหินทร์อยู่เนืองๆ ให้ระวังตัวไว้ อย่าให้เป็นที่รังเกียจของท่านผู้ใหญ่ที่ปกครองบ้านเมืองอยู่ ดังพระราชหัตถเลขาต่อไปนี้
“ตัวเจ้ากับข้าก็ใช่เนื้อเชื้อไข แต่ได้เลี้ยงดูมาแต่เล็กรักเหมือนลูก ครั้งนี้เจ้ากับข้าจะแยกกันอยู่แยกกันไป ตัวเจ้าแต่ก่อนรักษาตัวไม่ดี ให้เป็นที่รังเกียจผู้หลักผู้ใหญ่ ต่อไปภายหน้าไม่มีข้าแล้ว แต่ทำอย่างนี้จะรักษาตัวไปไม่ได้ ให้กลับใจรักษาตัวเสียใหม่ จะทำการสิ่งใดให้เอาเสียงผู้ใหญ่เป็นที่ตั้งจึงจะดี เจ้าอย่าถือตัวว่ามั่งมีศรีสุข ข้าจะลำเลิกเจ้าเหมือนกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ลำเลิกข้ากับหาบ่นว่า ลูกเต้าได้ทรัพย์สินเงินทองก็เพราะบิดามารดาไม่ใช่หรือ การต่อไปข้างหน้าไม่มีตัวข้าแล้ว เจ้าอุตส่าห์รักษาตัวให้จงดี”
รัชกาลที่ 4 ยังได้มีรับสั่งให้เจ้าพระยามหินทร์ไปหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เพื่อฝากเนื้อฝากตัวขอพึ่งบารมีต่อไป
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระประชวรหนัก เจ้าพระยามหินทร์หลีกหนีความขัดแย้งทางการเมืองในราชสำนัก จึงหันไปเอาดีทางด้านตั้งคณะละครจนมีชื่อเสียงโด่งดังว่า “ละครเจ้าพระยามหินทร์”
ทว่าชื่อเสียงและเกียรติคุณในความเถรตรงของเจ้าพระยามหินทร์ก็ยังเป็นที่ยอมรับของรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกันกับในรัชกาลที่ 4 เมื่อทรงประกาศจัดตั้งสภารัฐมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2427 ทรงพิจารณาว่า เจ้าพระยามหินทร์ ซึ่งขณะนั้นเป็น พระยาราชสุภาวดี ว่าเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถ ทรงแต่งตั้งให้เป็น “ประธานคณะที่ปรึกษาว่าราชการแผ่นดิน” หรือที่เรียกในสมัยนั้นว่า “เคาน์ซิลออฟสเตตส์” (Council of States) ประกอบด้วยอภิรัฐมนตรีจากตระกูลขุนนางสำคัญ และต่อมาได้ทรงสถาปนาให้มีเกียรติยศสูงขึ้นเป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง
ข้อมูลจาก
ไกรฤกษ์ นานา. “ ‘ชานพระศรี’ ของเจ้าพระยามหินทร์ สอนมวยคู่ขัดแย้ง ต้นรัชกาลที่ 5” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2564