ผู้เขียน | ผิน ทุ่งคา |
---|---|
เผยแพร่ |
ปืนนารายณ์สังหารเป็นปืนใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2329 เป็นปืนสัมฤทธิ์บรรจุกระสุนทางปากกระบอกปืน ลำกล้องเรียบ ใช้ดินดำเป็นดินระเบิด เป็นปืนป้อมไม่ใช่ปืนสนาม ปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม
ตามประวัติเล่าว่า เมื่อครั้งเกิดสงครามเก้าทัพ กรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงยกทัพไปปราบปราม โดยเสด็จไปปราบเมืองปัตตานีด้วย และได้ปืนใหญ่สำคัญของปัตตานีคือปืนพญาตานี และปืนศรีนัครีมาด้วย แต่ปืนศรีนัครีพลัดตกทะเลไป ได้มาถึงกรุงเทพฯ เพียงปืนพญาตานีเท่านั้น
ภายหลัง รัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์ให้สร้างปืนใหญ่ขึ้นมาอีกหลายกระบอก และมีพระราชประสงค์ให้สร้างปืนใหญ่ขึ้นมาคู่กับปืนพญาตานีโดยเฉพาะเมื่อปี พ.ศ. 2329 ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติที่ระบุว่า
“แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานคิดหล่อปืนขึ้นอีกกระบอกหนึ่งให้คู่กับปืนชื่อว่าพญาตานี และเมื่อหล่อปืนนั้นเกณฑ์ทองข้าราชการทองบุม้าพั่วไม่เอา เอาแต่ทองเหลืองทองแดงตามเบี้ยหวัดตั้งแต่ ๑๐ ตำลึงขึ้นไป เบี้ยหวัด ๑ ชั่งก็ให้เอาทองหนัก ๑ ชั่งเท่ากับเงิน ให้เกณฑ์เอาทองมาส่งตามเบี้ยหวัด ตั้งกองรับทองส่งทองที่โรงละครใหญ่ที่หล่อปืนนั้นหน้าโรงละครทางทิศตะวันตกริมถนนประตูวิเศษไชยศรี เมื่อสุมพิมพ์เวลาบ่ายนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จัดข้าหลวงเดิมกับพวกละครสมทบเข้าบ้างให้เล่นละครกลางแปลงตั้งแต่เวลาบ่ายจนค่ำเสด็จทอดพระเนตรอยู่จนโขนละครเลิก รุ่งขึ้นเช้าจึงหล่อปืน ครั้งนั้นหล่อทีเดียวก็ได้บริสุทธิ์ พระราชทานชื่อนารายน์สังหาญคู่กับพญาตานี”
บางท่านอาจจะสับสนคิดว่าปืนกระบอกนี้เป็นปืนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เนื่องจากปรากฏชื่อของปืนนารายณ์สังหารเมื่อครั้งเกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดี ตรงกับรัชสมัยของพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้บันทึกไว้ว่า
“ ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดี ยกทัพมาถึงกรุงพระนครศรีอยุธยา ณ วันพุธ เดือนอ้ายขึ้น ๑ ค่ำ ตั้งทัพมั่น ณตำบลลุมพลี จึงพระยารามก็ ให้เอาปืนนารายน์สังหาร ยาว ๓ วาศอก กระสุน ๑๒ นิ้ว ลากไป ในช่องมุมศพสวรรค์ ให้จังกายิงเอากลางทัพพระเจ้าหงสาวดี ต้องช้างม้ารี้พลตายมาก และกระสุนนั้นไปตกใกล้พลับพลาพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าสาวดีก็ให้เอากระสุนขึ้นสรวงพลี แล้วก็เสด็จ เลิกกองทัพมาตั้ง ณ มหาพราหมณ์”
อย่างไรก็ดี ปืนนารายณ์สังหารกระบอกดังกล่าวได้สูญหายไป ตั้งแต่เสียกรุงฯ ในครั้งนั้น (หลังสิ้นแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิได้ไม่นาน) ซึ่งพม่าอาจจะยึดไป หรือทำลายทิ้งเสียด้วยความเจ็บแค้นที่เคยสร้างความเสียหายให้กับกองทัพหงสาฯ เป็นอันมาก ปืนนารายณ์สังหารที่ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม จึงเป็นปืนกระบอกใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ตามหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนในพงศาวดาร มิใช่ปืนโบราณที่ตกทอดมาจากสมัยอยุธยาแต่อย่างใด
อ้างอิง:
ศาสตราจารย์นายแพทย์สำราญ วังศพาห์. “นารายน์สังหาญ”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ 2524