ร่องรอยโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของไทย? ครูอนุบาลคนแรกของประเทศ?

นักเรียนอนุบาล โรงเรียนวังหลัง-วัฒนา พ.ศ. 2458 ในภาพ ครูอรุณ ( คุณหญิงอรุณเมธาธิบดี) ยื่นอยู่ด้านขวา (ภาพจาก “วังหลัง-วัฒนา”)

บทความนี้เดิมชื่อ “โรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของประเทศไทย” คัดจากหนังสือ “วังหลัง-วัฒนา” ฉบับที่ระลึกครบรอบ 85 ปี 19 ธันวาคม 2502 (2417-2505) มีนางสาวบุญยิ่ง เจริญยิ่ง เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา แต่ไม่ปรากฎชื่อผู้เขียนแต่อย่างใด ในการคัดมาครั้งนี้ ได้จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำเพิ่ม เพื่อความสะดวกในการอ่าน


 

Advertisement

“โรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของประเทศไทย

ในสมัย 50 ปีมานี้ หญิงไทยไม่เคยนึกฝันจะไปเล่าเรียนหรือไปเที่ยวต่างประเทศเช่นยุโรปและอเมริกาเลย ผู้ที่มีโอกาสไปก็เพราะเป็นธิดาในครอบครัวทูตซึ่งรับราชการอยู่ในประเทศนั้นๆ

ครูอรุณ (คุณหญิงอรุณเมธาธิบดี) (ภาพจาก “วังหลัง-วัฒนา”)

วันหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ห้าสิบสองปีมาแล้ว) นักเรียนวังหลังได้รับข่าวแปลกอย่างไม่น่าเชื่อว่าครูใหม่คนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งจบโรงเรียนจะไปเรียนหนังสือต่อที่อเมริกา ครูใหม่คนนั้นชื่ออรุณ เป็นบุตรนายสั่ง (นายสั่งเป็นบุตรของครูแน กับนางเอสเตอร์ หรือคุณแม่เต๋อ ของสำเหร่) เมื่อบิดาถึงแก่กรรมนั้นได้รับทรัพย์สมบัติมาก

มิสโคล์จึงแนะนำให้ไปเรียนวิชาต่อ ณ อเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่รักของท่าน ครูอรุณเมื่อครั้งเป็นนักเรียนนั้น ขึ้นชื่อว่ามีปัญญา เฉลียวฉลาด ถึงกับทางโรงเรียนแน่ใจว่า ถ้าสมัยนั้นมีทุนล่าเรียนหลวงให้นักเรียนหญิง ครูอรุณก็ต้องได้อย่างเต็มที่

วิชาที่มิสโคล์แนะนำให้ครูอรุณเลือกเรียน คือวิชาอนุบาลตามแบบ Frobel

ประจวบกับขณะนั้น อาจารย์ อี.พี. ดันแลป และภรรยาจะกลับไปพักผ่อนในอเมริกา อาจารย์ดันแลปผู้นี้เป็นผู้ดูแลทรัพย์มรดก ของครูอรุณและน้องๆ จึงชวนครูอรุณให้ไปพร้อมกับท่าน เมื่อถึงอเมริกาแล้วท่านได้จัดให้เจ้าเรียนใน State Normal Training  College, New Briton, Connecticut: และให้พักที่เมืองHartford Conn. ใต้ความปกครองของ Mrs. Strong ผู้เป็นญาติสนิทของมิสโคล์

ครูอรุณเรียนสำเร็จวิชาอนุบาลในเวลา 2 ปี ตามหลักสูตรของโงเรียน และเรียน Post Gradate อีกหนึ่งปี เมื่อได้ท่องเที่ยวตามเมืองต่างๆ และเรียนวิชาพิเศษบางอย่างที่ Summer School University of Nooster

ในขณะที่พักอยู่ที่บ้านของอาจารย์ อี.พี.ดันแลป และภรรยา อยู่ระยะหนึ่งแล้วก็กลับเมืองไทยพร้อมด้วยประกาศนียบัตรของ State และ Diploma ของโรงเรียน เครื่องอุปกรณ์การเรียนต่างๆ รวมทั้งโต๊ะ เก้าอี้ ซึ่งใช้เฉพาะโรงเรียนอนุบาลก็ซื้อกลับมาด้วยมากมาย และได้ตั้งสอนวิชานี้ในโรงเรียนวังหลัง ต้องนับว่าโรงเรียนวังหลังเป็นโรงเรียนแรกที่สอนวิชาอนุบาล แก่เด็กโดยครูซึ่งเป็นสตรีคนแรกของประเทศที่ได้เล่าเรียนวิชานี้มาโดยเฉพาะ

นักเรียนอนุบาล โรงเรียนวังหลัง-วัฒนา พ.ศ. 2500 (ภาพจาก “วังหลัง-วัฒนา”)

ภาหลังครูอรุณได้ลาออกไปทำการสมรส กับพระยาเมธาธิบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการแล้ว โรงรียนก็เลิกสอนชั่วคราวเพราะคนในสมัยนั้นยังไม่ใคร้นิยมวิชาแบบนี้นัก หาว่าเมื่อไหร่เด็กจะอ่านหนังสือออก ถ้ามั่วแต่เล่นๆ ร้องๆ รำๆ

และเพราะโรงเรียนตั้งอยู่อีกฟากแม่น้ำ ผู้ที่รู้ค่าของการศึกษาก็ไม่อยากเสี่ยงให้ลูกเล็กๆ ต้องข้ามแม่น้ำมาเรียนทุกวัน นอกจากที่มีฝากไว้ 2-3 คน ก็เพื่อกันวิ่งเล่นรบกวนทางบ้าน ส่วนเด็กที่อยู่ในเบริเวณใกล้เคียงมักมีพ่อแม่ซึ่งไม่ตื่นตัวกับการศึกษาเลย มิสโคล์พยายามออกไปตามบริเวณเหล่านี้ พูดจาชักชวนให้เห็นประโยชน์ของวิชาอนุบาล…

ต่อไปนี้เป็น ‘ฝันหวาน’ ของมิสโคล์ซึ่งคัดมาจากหนังสือ ‘Historical Sketch of Protestant Mission in Siam’ 1828-1928 เขียนโดยท่านเอง

‘The opening of a kindergarten was another dream. Our primary teachers could not understand how instruction and play could be worked together and neither could we drop our regular burdens long enough to teach them. The going of N.S. Aroon to America to take the two years course in the Normal Training College of Connecticut led to the consummation of our plans.

An ideal little building was erected under the shade of our beautiful trees Wang Lang and there began the First model kindergarten with primary children and the training of teachers. Some of those teachers thus trained, have become the best educators for girls in the country.’ ”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564