ผ่าคดีปริศนา ร่างสาวในแท็งก์น้ำที่โรงแรมพิศวง จากสารคดี Crime Scene และมุมมืดในแอลเอ

(ซ้าย) โรงแรม เซซิล (Cecil Hotel) ในลอส แองเจลิส ที่เกิดเหตุพบร่างของ เอลิซา แลม ที่หายตัวไป ถ่ายเมื่อ ก.พ. 2013 ภาพโดย ROBYN BECK / AFP (ขวา) ภาพจากคลิปกล้องวงจรปิดที่บันทึกในลิฟต์ ตร.แอลเอ ใช้เผยแพร่ให้ประชาชนช่วยส่งเบาะแส

ลอส แองเจลิส เมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งความบันเทิงอีกแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มาพร้อมความหลากหลายในแง่พื้นที่ใช้สอยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และปรากฏมุมมืดอันน่าวิตกและชวนหวาดหวั่น ซึ่งเชื่อมโยงกับอาชญากรรมหลายคดี แต่ไม่มีคดีไหนที่โด่งดังเท่าการหายตัวไปของ เอลิซา แลม (Elisa Lam) ซึ่งเกิดขึ้นในอาคารโรงแรมพิศวงอย่าง โรงแรมเซซิล (Cecil Hotel) คดีนี้โด่งดังในโลกออนไลน์ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา และเพิ่งถูกหยิบมาบอกเล่าอีกครั้งในสารคดีชุด Crime Scene โดย Netflix

สหรัฐอเมริกาขึ้นชื่อว่าเป็นมหาอำนาจแห่งโลกตะวันตก เป็นดินแดนแห่งความหวังและเสรีภาพ ในบางมุม สหรัฐอเมริกามีลักษณะไม่แตกต่างจากอีกหลายประเทศ นั่นคือมีทั้งส่วนดี และส่วนที่ถูกมองในเชิงลบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของพื้นที่ในลอส แองเจลิส หรือแอลเอ เมืองที่โด่งดังและรุ่งเรืองจากหลายแง่มุม

มุมที่โดดเด่นสุดเห็นจะไม่พ้นแง่อุตสาหกรรมความบันเทิงนานาชนิดส่งผลเชื่อมโยงมาถึงการท่องเที่ยว ท่ามกลางความเจริญรุ่งเรืองและภาพลักษณ์น่าดึงดูดของเมือง บางพื้นที่ในเมืองใหญ่ปรากฏโซนที่ประสบปัญหาเชิงสังคมอย่างหนักหน่วง อันนำมาสู่คดีอาชญากรรมต่างๆ และคดีอันลือลั่นที่สุดคือ ปริศนาการเสียชีวิตของ “เอลิซา แลม” (Elisa Lam)

คดี “เอลิซา แลม” 

สำหรับคนที่ผ่านโลกไซเบอร์ในช่วงต้นยุค 2000s อาจเคยผ่านตาเนื้อหาเกี่ยวกับคดีปริศนานี้มาก่อน เรื่องราวมีอยู่ว่า เอลิซา แลม นักศึกษาชาวแคนาดาวัย 21 ปี (เธอเป็นลูกสาวของผู้อพยพฮ่องกงที่มีเชื้อสายจีน) หายตัวไปอย่างปริศนาเมื่อปี 2013 เบาะแสครั้งสุดท้ายของเธอคือการเข้าพักในโรงแรมเซซิล ใจกลางแอลเอ หลักฐานคือคลิปจากกล้องในลิฟต์ที่พบเห็นเธอแสดงอาการแปลกๆ ขณะกดใช้ลิฟต์ความยาวประมาณเกือบ 4 นาที ในช่วงท้ายคลิปเธอออกจากลิฟต์และเดินไปทางซ้าย หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นเธออีกเลย กระทั่งหลายวันต่อมา พนักงานโรงแรมพบร่างของเธอในแท็งก์น้ำบนดาดฟ้าของโรงแรม

คดีนี้ถูกเชื่อมโยงกับคดีต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในโรงแรมเซซิลก่อนหน้าข่าวการเสียชีวิตของเอลิซา แลม ทำให้ภาพรวมของคดีดูยิ่งเป็นปริศนาอันดำมืด แถมถูกจินตนาการเชื่อมโยงไปถึงเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ

หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงมากกว่าเรื่องราวที่บอกเล่าต่อกันมา โรงแรมแห่งนี้ไม่ได้เป็นโรงแรม “หลอน” หรือ “สยองขวัญ” หากแต่เป็นพื้นที่เกิดเหตุอาชญากรรมหลากหลายคดี ทั้งนี้ เมื่อมองในมุมมองเชิงสังคมศาสตร์ ก่อนที่โรงแรมจะกลายเป็นพื้นที่เกิดเหตุหลายครั้ง พัฒนาการของโรงแรมที่เดินเป็นทางคู่ขนานกับประวัติศาสตร์ “ความเป็นเมือง” ของลอส แองเจลิส เป็นสิ่งที่พอจะฉายภาพกว้างของปริศนาเรื่องนี้ในอีกแง่มุมที่อิงกับบริบทความเป็นจริงได้มากขึ้น

เนื้อหาที่จะกล่าวถึงต่อไปไม่ได้มีจุดประสงค์จะวิเคราะห์ถึงรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับคดี (ข้อมูลส่วนนี้สารคดีชุด Crime Scene หรือสารคดีชิ้นอื่นตีแผ่ไว้โดยละเอียด) หากแต่จะหยิบยกข้อมูลแง่มุมภูมิหลังทางประวัติศาสตร์-เศรษฐกิจของความเป็นเมืองโดยคร่าวที่นำมาสู่จุดกำเนิดของโรงแรมใจกลางแอลเอ และสภาพแวดล้อมซึ่งปูทางสู่ลักษณะสำคัญของกิจการแห่งนี้ในยุคหลัง

กำเนิด “ความเป็นเมือง” ของ “ลอส แองเจลิส”

ลอส แองเจลิส (Los Angeles) เมืองใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาก่อรากฐานรูปร่างของ “ความเป็นเมือง” ดังที่เห็นกันในปัจจุบันนับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1880s จนถึงต้น 1900s กิจการที่ทำให้เมืองพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงแรกคือการผลิต “น้ำมัน” ภายหลังการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมในช่วงทศวรรษ 1890s การพัฒนาทางเศรษฐกิจตามมาด้วยอัตราประชากรผู้อยู่อาศัยที่เพิ่มเป็นเงาตามตัว

ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งประการอันทำให้ก่อร่างความเป็นเมืองประสบผลสำเร็จคือเรื่องแหล่งน้ำและการก่อสร้างทางน้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ชื่อว่า เดวิด รัมซีย์ ซึ่งเก็บสะสมแผนที่เก่ามากมายให้สัมภาษณ์กับสื่ออเมริกันว่า เขาพบหลักฐานแผนที่เก่าซึ่งสันนิษฐานว่าร่างขึ้นโดยทีมงานวิศวกรที่นำมาโดยวิลเลียม แฮมมอนด์ ฮอลล์ (William Hammond Hall) วิศวกรประจำรัฐแคลิฟอร์เนียคนแรก

หน่วยงานของแฮมมอนด์ ได้รับมอบหมายให้ค้นหาแหล่งน้ำสำหรับแอลเอ ในช่วงทศวรรษ 1880s ร่างแผนที่เก่าแก่ของเมืองแอลเอจึงปรากฏเส้นทางน้ำอยู่ด้วย เมื่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำสำเร็จ ชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงเริ่มสนใจเข้ามาในแอลเอสืบเนื่องมาจากระเบียบว่าด้วยเรื่องการจำหน่ายหรือส่งต่อน้ำไปให้พื้นที่อื่นนอกเหนือจากในแอลเอเป็นต้นเหตุให้แอลเอไม่สามารถจำหน่ายน้ำในระบบออกไปได้

ช่วงต้นทศวรรษ 1900s แอลเอเริ่มจัดวางโซนนิ่งแบ่งแยกพื้นที่การใช้งาน จัดสัดส่วนพื้นที่ทางอุตสาหกรรม สัดส่วนพื้นที่อยู่อาศัย ไปจนถึงแบ่งการใช้งานพื้นที่รูปแบบต่างๆ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ยุคปัจจุบันเรียกกันว่า “ฮอลลีวูด” ก็ปรากฏผู้ประกอบการสร้างภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษ 1910s

หลังจากนั้นไม่นาน แอลเอ ก็ดึงดูดผู้คนเข้ามามากมายดังที่นักประวัติศาสตร์อธิบายไว้ในสารคดีชุด Crime Scene ว่า ผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาแอลเอ ในปี 1919 กิจการและธุรกิจต่างๆ ใจกลางเมืองก็เฟื่องฟู การก่อสร้างอาคารได้รับความนิยมสูงสุดในยุค 20s ราวปี 1923 นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าปีนั้นสร้างโรงแรมกันถึง 60 แห่ง

กำเนิดโรงแรมเซซิล และผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ

ขณะที่โรงแรมเซซิล จึงถือกำเนิดขึ้นใน 1924 ไล่เลี่ยกับช่วงที่วงการอสังหาริมทรัพย์ในแอลเอเฟื่องฟูอย่างมาก เกิดภาพการก่อสร้างอาคารออฟฟิศต่างๆ หลายแห่งใจกลางเมืองดังที่กล่าวข้างต้น ไม่เพียงแค่ในทางธุรกิจ แอลเอยังเป็นเมืองที่เฟื่องฟูในทางการเกษตรด้วยเช่นกัน

โรงแรมเซซิล อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ มีห้องพักมากถึง 700 ห้อง ถือเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ในสมัยนั้น โรงแรมแห่งนี้ไม่ได้ถูกตกแต่งแบบหรูหราชั้นสูง ด้วยอัตราค่าเช่าที่ถูกลงเล็กน้อย ถือได้ว่าเป็นโรงแรมระดับกลาง ด้วยตำแหน่งที่ตั้งและเรตราคา ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ของโรงแรมแห่งนี้จึงเป็นนักท่องเที่ยว และเคยเป็นที่พักอันพึงประสงค์อยู่ระยะหนึ่งกระทั่งเกิดภาวะเศรษฐกิจเสื่อมถอยในเวลาต่อมา

ความเฟื่องฟูของเมืองนี้คงอยู่ได้ไม่นานก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง แอลเอก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ระหว่างปี 1927-1929 เกิดวิกฤตในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในปี 1929 ซึ่งกระทบสถาบันการเงินเป็นลูกโซ่ แอลเอ ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากเมืองอื่นๆ ธุรกิจปิดตัวหลายแห่ง ผู้คนตกงาน

สำหรับโรงแรมเซซิล กิจการแห่งนี้ย่อมไม่อาจหลีกหนีผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ ในสภาวะผู้คนตกงาน โรงแรมกลายเป็นที่พักของคนที่มีเงินเก็บน้อยนิด

ช่วงทศวรรษ 1930s พื้นที่ละแวกใกล้เคียงของโรงแรมที่เรียกกันว่า “สคิด โรว์” (Skid Row) กลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีคนไร้บ้าน ผู้ประสบปัญหาทางสังคมมาอาศัยจำนวนมาก และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ตลาดเวลาหลายทศวรรษนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาจนถึงยุค 2000s ทางการแอลเอพยายามจัดระเบียบพื้นที่หลายครั้ง ปรากฏปฏิบัติการเข้าตรวจค้นและจับกุมหลายครั้งในช่วง 40-50s

“สคิด โรว์” (Skid Row)

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นสืบเนื่องตามมาจากปัญหาทางสังคมในแอลเอ คือการเคลื่อนไหวในแง่ช่วยเหลือฟื้นฟูทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ แม้ว่าแอลเอ จะสามารถฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิในช่วงปี 1935 แต่พื้นที่ใจกลางเมืองแอลเอ ยังปรากฏแหล่งรวมตัวของกลุ่มคนที่ตกงาน ไม่มีที่อยู่อาศัย พวกเขามาพักอาศัยกันบนท้องถนนในย่านที่เรียกว่า “สคิด โรว์” (Skid Row) นั่นเอง ในละแวกเดียวกันก็มีบริการช่วยเหลือผู้มีปัญหาทางสังคมอย่างคนไร้บ้านด้วย

รายงานข่าวจากสำนักข่าว BBC เผยว่า กลุ่มชนชั้นแรงงานในแอลเอ ยังสามารถทำงานที่ได้ค่าตอบแทนในระดับกลางสำหรับจัดซื้อที่พักอาศัยส่วนตัวได้อยู่จนกระทั่งสงครามเย็นสิ้นสุดลงเมื่อราว 3 ทศวรรษก่อน รัฐบาลตัดงบประมาณค่าใช้จ่ายทางการทหารกระทบอุตสาหกรรมเกี่ยวกับความมั่นคงในประเทศที่ส่วนใหญ่ตั้งรกรากในแอลเอ งานที่จ่ายค่าตอบแทนระดับกลางกลายเป็นจ่ายค่าตอบแทนระดับต่ำ ขณะที่การสร้างแหล่งที่พักอาศัยแห่งใหม่ในแอลเอก็ไม่ค่อยปรากฏขึ้น แม้ว่าประชากรของแอลเอจะเพิ่มขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์

ในช่วงทศวรรษ 2010s รายงานข่าวเผยว่า เริ่มมีคนไร้บ้านปรากฏขึ้นนอกเหนือจากพื้นที่ “สคิด โรว์” ด้วย จากที่เดิมทีแล้ว คนไร้บ้านจะถูกควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ “สคิด โรว์”

ย้อนกลับไปในยุค 70s ปี 1976 ทางการแอลเอประกาศ(อย่างไม่เป็นทางการ)ให้พื้นที่ “สคิด โรว์” เป็นเสมือน “พื้นที่กักกัน” สำหรับคนไร้บ้าน ยอมให้ตั้งที่พักชั่วคราว และบริการ ด้วยเหตุนี้ นักท่องเที่ยว(รุ่นใหม่)ที่มาเยือนแอลเอส่วนใหญ่แล้วจึงไม่ค่อยพบเห็นหรือไม่มีโอกาสรับรู้เกี่ยวกับพื้นที่ของคนไร้บ้าน และปัญหาทางสังคมในแอลเอ

สหรัฐอเมริกาประสบวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งในยุค 80s ครั้งนี้ไม่เพียงแค่คนตกงาน ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดแพร่ระบาดในแอลเอก็ส่งผลกระทบทางสังคมด้วย ผู้เข้ามาอาศัยใน “สคิด โรว์” เพิ่มขึ้นในระดับเกินกว่าบริเวณที่พักและบริการจะรับไหว ผู้ประสบปัญหาทางสังคมจำนวนหนึ่งย้ายออกนอกพื้นที่ “สคิด โรว์” แต่มักโดนเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การนั่ง นอนพักบริเวณพื้นที่สาธารณะนอกเหนือจาก “สคิด โรว์” กลายเป็นการก่ออาชญากรรม

สารคดีชุด Crime Scene

ในสารคดีชุดล่าสุดของ Netflix ที่หยิบคดี “เอลิซา แลม” อันโด่งดัง (ในอินเทอร์เน็ต) มาบอกเล่า ไม่เพียงแตะบริบทเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองแอลเอ ก่อนจะมาสู่คดีเอลิซา แลม สารคดียังพยายามนำเสนอคดีอันน่าหวาดหวั่นสำหรับชาวเมืองแอลเอ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเอลิซา แลม และกลายเป็นฉากหลังสร้างบรรยากาศความน่าหวาดกลัวและความลึกลับของโรงแรมแห่งนี้อีก อาทิ คดีของริชาร์ด รามิเรซ 

ริชาร์ด รามิเรซ คือผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในแอลเอ ช่วงปี 1984-1985 เจ้าของฉายา Night Stalker คดีที่รามิเรซ เกี่ยวข้องหรือเป็นผู้ลงมือมีเหยื่อถึง 15 ราย ริชาร์ด คือหนึ่งในผู้พักอาศัยในโรงแรมเซซิล ระหว่างที่เขาก่อเหตุ

ขณะที่ตัวสารคดีพยายามเจาะลึกลงไปถึงแง่มุมต่างๆ สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องหลายราย ตั้งแต่อดีตผู้จัดการโรงแรม อดีตผู้พักอาศัยในโรงแรมช่วงที่เอลิซา แลม หายตัวไป เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบการสืบสวนในคดี ไปจนถึงกลุ่มชุมชนนักสืบออนไลน์ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คดีได้รับความสนใจกระจายไปทั่วชุมชนโลกไซเบอร์ เนื้อหาพยายามพูดถึงสันนิษฐานหรือข้อสังเกตต่างๆ เกี่ยวกับคดีนี้ ที่สำคัญคือสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องบางรายที่ไม่เคยเอ่ยถึงกรณีนี้กับสื่อมาก่อน

แต่ในความเป็นจริง ปริศนาที่เป็นปมสำคัญและยังไม่มีใครสามารถยืนยันคำตอบได้อย่างแน่ชัดจนกระทั่งวันนี้คือ ต้นเหตุที่ทำให้ร่างของเธอไปอยู่ในแท็งก์น้ำบนดาดน้ำได้(แบบแน่ชัด ไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงสันนิษฐาน) หรือแม้แต่คำถามเรื่องบล็อกส่วนตัวของเธอมีอัปเดตภายหลังจากที่เธอเสียชีวิตแล้ว

สารคดีชุดนี้ไม่ได้สร้างความแตกต่างเพิ่มเติมจากคำถามสำคัญที่ยังไร้คำตอบเหล่านั้น แต่สำหรับผู้ที่คุ้นเคยหรือผ่านตาเกี่ยวกับคดีปริศนาในช่วงที่สื่อสังคมออนไลน์กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด สารคดีชุด Crime Scene ที่พาดำดิ่งลึกลงไปถึงคดีเกี่ยวกับเอลิซา แลม น่าจะพอช่วยทบทวนความทรงจำและปะติดปะต่อเรื่องราว ร้อยเรื่องภูมิหลังของเรื่องแบบลงลึกให้ได้รับชม อาทิ รากฐาน(ปัญหาทางสังคม)ของเมืองแอลเอ ในอดีตซึ่งปฏิเสธได้ยากว่า ส่งอิทธิพลต่อสภาพพื้นที่เมืองหรือแม้แต่ตัวโรงแรมอันกลายมาเป็น “ที่เกิดเหตุ” ในภายหลัง

สำหรับผู้ที่ติดตามคดีมาก่อนหน้านี้แล้ว และต้องการ “คำตอบ(แบบฟันธงที่คืบหน้าไปกว่าเดิม)” สารคดีชุดนี้ยังคงยืนอยู่บนข้อมูล(สันนิษฐาน)ในแง่มุม “อุบัติเหตุ” ซึ่งยังคงมีคำถามหลงเหลืออยู่ด้วย แม้ตัวสารคดีนำเสนอข้อมูลต่างๆ มาประกอบกับสันนิษฐานแง่มุม “อุบัติเหตุ” ตามที่หลักฐานซึ่งถูกรวบรวมจากหลายด้านให้น้ำหนักไปในทิศทางนี้ 

นั่นหมายความว่า สำหรับคนกลุ่มที่ต้องการคำตอบแบบฟันธงเลยในทางวิทยาศาสตร์และกฎหมายแบบเป็นทางการ อาจไม่สามารถเติมเต็มความคาดหวังส่วนนี้โดยสมบูรณ์แบบได้

แต่หากต้องการรับฟังความเป็นไปได้อันมาจากข้อมูลเชิงประจักษ์เท่าที่มีอยู่จนถึงปัจจุบัน สารคดีนี้ให้ข้อมูลที่พอจะทำให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงภูมิหลังที่มาที่ไป จนถึงข้อมูลปลายทางที่พอจะช่วยทำให้เข้าใจและเห็นภาพรวมตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทางของคดีดังในโลกออนไลน์เรื่องนี้ได้มากขึ้นกว่าแค่เป็นคดีลึกลับพิศวงผูกโยงกับเฉพาะมุมมอง “เรื่องเหนือธรรมชาติ” เพียงมิติอย่างเดียว


อ้างอิง:

Daniel Flaming, Gary Blasi. “Los Angeles: Why tens of thousands of people sleep rough”. BBC. Online. Published 19 SEP 2019. Access 11 FEB 2021. <https://www.bbc.com/news/world-us-canada-49687478>

Esri, Natasha Geiling. “Before There Could Be a Los Angeles, There Had to be Water”. Smithsonian. Online. Published 27 AUG 2013. Access 11 FEB 2021. <https://www.smithsonianmag.com/history/there-could-be-los-angeles-there-had-be-water-180947931/>

United States Federal Writers Project. Los Angeles in the 1930s: The WPA Guide to the City of Angels. University of California Press.

LORRAINE ALI. “Review: Netflix makes rare true-crime misstep with salacious series on L.A.’s Cecil Hotel”. Los Angeles Times. Online. Published 10 FEB 2021. Access 11 FEB 2021. <https://www.latimes.com/entertainment-arts/tv/story/2021-02-10/netflix-crime-scene-vanishing-cecil-hotel-elisa-lam>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 6 สิงหาคม 2564 และ 25 มีนาคม 2565