“เงินช่วยชาติในภาวะคับขัน” ภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บเพิ่มช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เหตุการณ์สู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก หนังสือ “บันทึกภาพประวัติศาตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2” สนพ.มติชน)

ประเทศไทยจำต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเช้าวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นพลขึ้นบกในพื้นที่ของประเทศไทยหลายแห่ง เช่น สงขลา, ปัตตานี, ประจวบคีรีขันธ์, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, สมุทรปราการ ฯลฯ

ต่อมาใน พ.ศ. 2485 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บ “เงินช่วยชาติ” ในลักษณะของภาษีเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลมีความจําเป็นในการใช้เงินของรัฐบาลในระหว่างทำสงคราม

กฎหมายดังกล่าว เรียกว่า “พระราชบัญญัติเงินช่วยชาติในภาวะคับขัน พ.ศ. 2485” การเรียกเก็บนั้นมีลักษณะเป็น “ภาษีเพิ่มเติมจากภาษีที่จัดเก็บเดิม” ซึ่งมีอยู่หลายประเภทด้วยกันคือ

1. เงินช่วยชาติในภาวะคับขันประเภทเงินช่วยการประถมศึกษา จัดเก็บจากผู้มีหน้าที่ต้องชําระเงินช่วยการประถมศึกษาตามประมวลรัษฎากร เพิ่มอีกคนละ 1 บาท

2. เงินช่วยชาติในภาวะคับขันประเภทภาษีเงินได้ กําหนดว่า บุคคลธรรมดาผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ ต้องเสียเงินช่วยชาติในภาวะคับขันเป็นจํานวนเท่ากับภาษีเงินได้ที่ต้องเสียในปีนั้น

3. เงินช่วยชาติในภาวะคับขันประเภทภาษีโรงค้า ผู้ที่ต้องเสียภาษีโรงค้าจะต้องเสียเงินช่วยชาติในภาวะคับขันเป็นจํานวนกึ่งหนึ่งของภาษีโรงค้าซึ่งต้องเสียในปีนั้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการค้าในสถานที่ร้านค้า ซึ่งมีค่ารายปีตั้งแต่ 60-ไม่เกิน 120 บาท จะต้องเสียเงินช่วยชาติในภาวะคับขันในอัตราร้อยละ 12 ของค่ารายปี หากมิได้อยู่อาศัยในสถานที่ร้านค้านั้น แต่ถ้าอยู่อาศัยจะเสียเพียงร้อยละ 9 ของค่ารายปี

ต่อมาพระราชบัญญัติเงินช่วยชาติในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2487 (ผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487) “เพิ่ม” อัตราเงินช่วยชาติในภาวะคับขันที่เรียกเก็บจากค่ารายปีจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 20 แห่งค่ารายปีสําหรับโรงค้าที่มิได้อยู่อาศัย และจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 12 แห่งค่ารายปี สำหรับโรงค้าที่ใช้อยู่อาศัยด้วย

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มอัตราเงินช่วยชาติในภาวะคับขันจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 150 ของภาษีโรงค้าที่เสีย

4. เงินช่วยชาติในภาวะคับขันประเภทเงินช่วยชาติการซื้อข้าว เรียกเก็บจากโรงสีข้าวในอัตราหาบหลวงละ 40 สตางค์ สำหรับปลายข้าว ปลายข้าวกล้อง และปลายข้าวนึ่ง ส่วนข้าวประเภทอื่น ๆ เสีย หาบหลวงละ 60 สตางค์ [1 หาบ = 60 กิโลกรัม]

5. เงินช่วยชาติในภาวะคับขันประเภทอากรแสตมป์ ผู้ที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรจะต้องเสียเงินช่วยชาติในภาวะคับขัน โดยวิธีการปิดอากรแสตมป์ในอัตราเท่ากับอากรแสตมป์ที่ต้องเสียอยู่ก่อนแล้ว

6. เงินช่วยชาติในภาวะคับขันประเภทอากรมหรสพ ผู้มีหน้าที่เสียอากรมหรสพตามประมวลรัษฎากรจะต้องเสียเงินช่วยชาติในภาวะคับขันเท่ากับอัตราอากรมหรสพ

7. เงินช่วยชาติในภาวะคับขันประเภทโรงแรมและภัตตาคาร ให้เก็บเงินช่วยชาติในอัตราร้อยละ 20 ของเงินที่โรงแรมและภัตตาคารเรียกเก็บเป็นค่าเช่าที่พัก และ/หรือค่าอาหาร

โดยเงินช่วยชาติฯ ประเภทที่ 1-4 เริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2485 ตามพระราชบัญญัติเงินช่วยชาติในภาวะคับขัน พ.ศ. 2485

ส่วนประเภทที่ 5-6 เริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487 ตามพระราชบัญญัติเงินช่วยชาติในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2487

และประเภทที่ 7 เริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2487 ตามพระราชบัญญัติเงินช่วยชาติในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2487

ภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ รัฐบาลได้เลิกเก็บเงินช่วยชาติในภาวะคับขันเกือบทั้งหมด มีเพียง 2 ประเภทที่เปลี่ยนสภาพเป็นภาษีถาวร ได้แก่ “เงินช่วยชาติการซื้อข้าว” เปลี่ยนเป็น “ภาษีซื้อข้าว” และ “เงินช่วยชาติประเภทโรงแรมและภัตตาคาร” เปลี่ยนเป็น “ภาษีโรงแรมและภัตตาคาร” และปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีโรงค้า ดังปรากฏในพระราชบัญญัตแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2489

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เจ้าภาษีนายอากร ระบบผูกขาด ทำท้องพระคลัง ร. 5 ป่วน


ข้อมูลจาก

รังสรรค์  ธนะพรพันธุ์. ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย: คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564