สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กับ “วังลดาวัลย์” ที่ทำการลำดับที่ 5

วังลดาวัลย์ ที่ทำการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือ “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ในปัจจุบัน (ภาพจาก หนังสือวังลดาวัลย์)
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (ภาพจาก หนังสือวังลดาวัลย์)

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีวังลดาวัลย์เป็นที่ทำการลำดับที่ 5 วังแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (ต้นราชสกุลยุคล) ซึ่งกำลังจะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และใกล้จะเสด็จฯ กลับประเทศไทย

รัชกาลที่ 5 ทรงให้ว่าจ้าง นาย จี บลูโน นายช่างชาวอิตาลี เป็นสถาปนิกคุมงาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองโยธาทำสัญญาจ้างเหมาเป็นจำนวนเงิน 218,000 บาท ส่วนสถานที่ตั้งของวังลดาวัลย์นั้นเป็นที่ดินพระราชทานเนื้อที่ 17 ไร่ 80 ตารางวา

แต่วังลดาวัลย์แตกต่างจากวังอื่นๆ ที่ลงมือสร้างไปบ้างแล้วค่อยมาหาฤกษ์ทีหลัง

โดยรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โหรหาพระฤกษ์ ซึ่งมีกำหนดตรงกับวันศุกร์ ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2449 รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสาวยสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ซึ่งเป็นพระมารดา และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณาวดี พระเชษฐภคินี และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล พระขนิษฐาภคินี  เพื่อทรงบรรจุศิลาฤกษ์ก่อรากพระตำหนักใหม่

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์  กรมหมื่นภูมินทรภักดี  (ภาพจาก หนังสือวังลดาวัลย์)

วังลดาวัลย์ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน จึงแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2451 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้วังที่สร้างใหม่นี้ว่า “วังลดาวัลย์” ตามพระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์  กรมหมื่นภูมินทรภักดี “เสด็จฯ ตา” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ายุคทิฆัมพร หากประชาชนทั่วไปนิยมเรียกวังวังนี้ว่า “วังแดง” เนื่องจากกำแพงของวังทาสีแดงมาตั้งแต่แรกเริ่ม

ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2488 มีการติดต่อจัดซื้อวังลดาวัลย์จากพระทายาท โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อตกลงซื้อขายเรียบร้อย (16 ตุลาคม พ.ศ. 2489) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ย้ายเข้ามาใช้เป็นสถานที่ทำการใหม่ เป็นที่ทำการลำดับที่ 5 ส่วนที่ทำงานของสำนักงานก่อนหน้านั้น มีข้อมูลดังนี้

ก่อน พ.ศ. 2480 สำนักงานพระคลังข้างที่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนเมื่อมีพระราชบัญญัติระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ได้กำหนดแบ่งทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ออกเป็น 3 ประเภทคือ 1.ทรัพย์สินส่วนพระองค์ 2.ทรัพย์สินสาธารณะส่วนพระองค์ 3. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในส่วนของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น มี “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” สังกัดกระทรวงการคลัง ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2480 เป็นผู้ดูแล

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นหน่วยงานใหม่ยังไม่มีที่ทำการ รัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยืมส่วนหนึ่งของสำนักงานพระคลังข้างที่ ด้านวัดพระศรีรัตรศาสดาราม ริมประตูพิมานไชยศรี ด้านตะวันออกในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ทำการแห่งแรก โดยเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2481

เมื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีการขยายงานมากขึ้น แต่สถานที่ทำงานเริ่มคับแคบ ไม่สามารถรองรับหน่วยงานได้ทั้งหมด จึงย้ายมาอยู่ที่ อาคาร 1 ถนนราชดำเนินกลางฝั่งใต้เป็นที่ทำการแห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485

ระหว่างที่ใช้อาคาร 1 ถนนราชดำเนินกลางเป็นสำนักงานทำการนั้น สถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในไทยเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลมีคำสั่งให้สถานที่ราชการต่างๆ ย้ายออกไปอยู่นอกเขตพระนคร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงย้ายเข้ามาอยู่ที่ทำการแห่งที่ 3 คือ วังพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช (วังบางพูล) ที่ตำบลบางยี่ขัน อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2487

แต่ด้วยทำเลวังพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช (วังบางพูล) อยู่ตรงข้ามปลายถนนราชวิถี ตอนสามเสน ซึ่งขณะนั้นยังมีไม่ได้สร้างสะพานกรุงธนฯ ผู้ที่จะไปติดต่อต้องลงเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นความสะดวกในการคมนาคม จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ วังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นที่ทำการแห่งที่ 4 บริเวณเชิงสะพานเทเวศร์นฤมิต ริมถนนสามเสนฝั่งตะวันตก เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2487

ต่อมาวังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งเป็นวังเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งการบูรณะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงพิจารณาเลือก วังลดาวัลย์ ที่ว่างอยู่และมีสถานที่กว้างขวาง เป็นสำนักงานแห่งใหม่ลำดับที่ 5 โดยย้ายมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 และใช้เป็นที่ทำการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ที่ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” เปลี่ยนเป็น “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”

ข้อมูลจาก

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์. วังลดาวัลย์, บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563